7.07.2552

| หัวหินประดามี ๒๒ (สะบายดี สบายแฮ)


บ้านศิลปินหัวหิน ขอเชิญท่านผู้ชื่นชอบศิลปะและมีใจรักในงานศิลป์ชมนิทรรศการศิลปะชุด 'สะบายดี สบายแฮ' โดย ศิลปิน '3P'จากกลุ่มศิลปินเมืองหัวหิน ณ บ้านศิลปินหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดเดือนกรกฎาคม ศกนี้ นิทรรศการศิลปะครั้งนี้เป็นการรวมตัวของสามศิลปินหนุ่มไฟแรง ได้แก่ ดนย บุญทัศนกุล (ป๋อง), สหัชณัฐ เถกิงกร (โป้) และเวชยันต์ อุณหสุวรรณ (เป๊กโก้) ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินเมืองหัวหิน โดยได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3

oooo
คราวนี้ศิลปินสามหนุ่มได้รวบรวมผลงานศิลปะที่ดูสบายๆ ไม่มีกำหนดวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกผ่านเทคนิคงานศิลป์ให้มีความหลากหลายตามสไตล์ความถนัดของตนเอง อาทิ ภาพเขาแผงม้า ภาพสู่สันติภาพ ภาพอดีตฉันมีสุข และภาพอื่นๆ อีกกว่า 60 ภาพ เพื่อให้ท่านได้ซึมซับงานศิลป์ได้เต็มอิ่มในบรรยากาศแบบสบายๆ
oooo

พิธีเปิดนิทรรศการจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2552 เวลา 19.00 น. และเชิญชมนิทรรศการฟรีได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาโทร.081-494-4047, 081-666-3662
o
ขอบคุณข้อมูลจาก กกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks
ooo

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๑๒๙ (คอร์สจิตวิญญาณแห่งผืนดิน)


oo
oo
oo
โจน จันได-วิจักขณ์ พานิช ชวนผู้สนใจเข้าคอร์สเรียนรู้การใช้ชีวิตเรียบง่าย สัมผัสจิตวิญญาณแห่งผืนดิน ณ ศูนย์การเรียนรู้พันพรรณ จ.เชียงใหม่
oo
“ชีวิตจริงๆ ก็คือชีวิตที่เข้าใจตัวเอง คือชีวิตที่เริ่มจากการขุดแปลงผัก หว่านเมล็ดลงไป เราเห็นต้นไม้ พืชผักที่เราปลูกงอกขึ้นมา เราก็ดูแลมัน แล้วก็กินมัน แล้วก็ขับถ่ายลงไป แล้วก็เอาถ่ายเป็นปุ๋ย มันวนเวียนอยู่อย่างนี้ มันทำให้เราเห็นว่า ชีวิตเราไม่ได้มีอยู่แค่นี้ ทำให้เราเข้าใจกระบวนการของชีวิตได้ลึกขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีความกลัวน้อยลง ความกลัวมันเกิดขึ้น เพราะเราไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจความกลัว มันก็หายกลัว
oo
"เราไม่กลัวว่าจะสูญเสียอันนั้น สูญเสียอันนี้ ก็เพราะเราไม่เข้าใจว่า เราไม่ได้ครอบครองอะไรเลย เพราะเราไม่เข้าใจว่า ที่เราเห็นไม่ใช่ตัวเรา เพราะเรารู้ว่าเราปฏิบัติอย่างไรมันจึงจะถูกต้องในการดูแลตัวเอง ดูแลจิตใจ และร่างกายตัวเอง ผมถึงชอบที่จะอยู่กับดินมากกว่า เพราะผมได้อยู่กับตัวเองมาก สร้างบ้านกับดิน ปลูกผักจากดิน อยู่กับดิน ชีวิตมันก็มีอยู่แค่นี้”
oo
[โจน จันได] ถลกขากางเกง พับแขนเสื้อ ขยำดิน ย่ำโคลน แสวงหาคุณค่าและความหมายของ “ชีวิตง่ายๆ” ไปกับโจน จันได สามัญชนลูกอีสานที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของชีวิตนอกระบบการศึกษา ผ่านการปฏิบัติจริงในศูนย์การเรียนรู้พันพรรณ เรียนรู้การดูแลปัจจัยสี่ในชีวิตอย่างง่ายๆ การสร้างบ้านดิน การขุดแปลงผัก เก็บเมล็ดพันธุ์ ทำสวน ทำอาหาร พูดคุยสนทนาเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกันเอง สร้างชุมชนกัลยาณมิตรร่วมกับธรรมชาติรอบตัวอย่างเกื้อกูล “ชีวิตง่ายๆ” จะนำเสนอพื้นฐานการภาวนาในชีวิตประจำวัน คุณค่าของการ “ออกแรง” ในฐานะหัวใจของการหยั่งรากวิถีของการภาวนาให้ติดดิน ตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เรากิน อยู่ ใช้ สวม นำเสนอทางเลือกที่เรียบง่าย แต่เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย และคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่
oo
ภาวนากับผืนดิน ระหว่างวันที่ 12-20 ตุลาคม 2552 โดย วิจักขณ์ พานิช (ร่วมกับ โจน จันได) สำหรับบุคคลทั่วไปไม่จำกัดอายุ รับจำนวนจำกัดเพียง 30 ท่าน บริจาคเข้าร่วมท่านละ 4,500-8,000 บาท หรือมากกว่า ตามกำลังทรัพย์
oo
การฝึกภาวนาบนฐานการตื่นรู้ในเนื้อในตัว ถือเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาในทุกสายการปฏิบัติ โดยเฉพาะเทคนิคโยคะด้านในของทิเบต ที่จะนำพาผู้ปฏิบัติเปิดมณฑลของการรับรู้ในทุกๆส่วนของร่างกาย โดยที่ร่างกายเปรียบได้กับผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ เป็นสถานที่แห่งการหยั่งรากลึกของความรู้สึกตัว และการตระหนักรู้ถึงเรื่องราวอันหลากหลายของการเดินทางแห่งจิตวิญญาณที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความหมาย “ภาวนากับผืนดิน” ผสมผสานการฝึกภาวนาอย่างเข้มข้น เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนที่เรียบง่าย “ติดดิน”
ooo
กิจกรรมประกอบด้วยการนั่งสมาธิภาวนา และเทคนิคภาวนาที่หลากหลาย เพื่อเข้าไปสัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย สลับกับการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ฝึกฝนกันในสายการปฏิบัติทั้งในสายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน จากประสบการณ์ตรงของวิทยากร รวมถึงการถามตอบ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติของผู้เข้าร่วม ด้วยภาษาในชีวิตประจำวันที่เข้าใจง่าย ระหว่างการอบรมในแต่ละวันจะจัดให้มีกิจกรรม “ออกแรง” ร่วมกันภายในชุมชนผู้ปฏิบัติ เช่น การสร้างบ้านดิน ขุดท้องร่อง ถางหญ้า ดูแลแปลงผัก ทำอาหาร เดินป่า และอื่นๆ ในฐานะกิจกรรมแห่งสติที่ผสมผสานไปอย่างกลมกลืนกับการฝึกฝนความตื่นรู้ในเนื้อในตัว อย่างเข้มข้น
ooo
“ภาวนากับผืนดิน” นำเสนอถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณ ที่ไม่แยกขาดกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การเป็นอยู่อย่างพอเพียง พึ่งตนเอง การฝึกใจโดยไม่แยกขาดจากการใช้แรง การดูแลปัจจัยสี่ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ การตระหนักรู้ถึงสุขทุกข์ร่วมกับผู้อื่นในสังคม วิถีปฏิบัติอันแสนจะติดดิน “รู้เนื้อรู้ตัว” ที่พระพุทธองค์และอริยสาวกได้แสดงเป็นแบบอย่างไว้ให้กับผู้เดินตาม ที่จะทำให้เราเข้าใจพุทธธรรม ในฐานะ “จิตวิญญาณแห่งผืนดิน” ที่ซึ่งหัวใจของมนุษย์จะสามารถงอกงามได้อย่างไม่ไร้ราก
oo
ติดต่อขอรับใบสมัครที่ shambhala04@gmail.com หรือ นภา 089-160-3588 (เปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป)
นน
๐ วิจักขณ์ พานิช
นักเรียนรู้และครูพเนจร เดินทางขึ้นเหนือ ล่องใต้ เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตที่หลากหลายของผู้คนในยุคมืดมนทางจิตวิญญาณ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ยุคผลัดใบ นักวิชาการด้านการศึกษาและพุทธศาสนา ผู้ไม่สังกัดสถาบันการศึกษา ระบบราชการ หรือองค์กรอิสระใดๆ
oo
วิจักขณ์เป็นวิทยากรอิสระให้กับเสมสิกขาลัย องค์กรภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดการฝึกอบรมอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ด้านใน พุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และการฝึกตนผ่านการภาวนาในฐานะกระบวนการ ด้วยศรัทธาในมิติทางคุณค่าของเส้นทางการแสวงหาทางจิตวิญญาณ ผ่านการสื่อสารในภาษาของโลกสมัยใหม่ที่ก้าวข้ามการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ เพศวิถี หรือลัทธิความเชื่อทางศาสนา
oo
วิจักขณ์ฝึกฝนภาวนาตามแนววัชรยานในสายปฏิบัติของเชอเกียม ตรุงปะ ภายใต้การดูแลของเร้จจี้และลี เรย์ ทำหน้าที่ครูช่วยสอนให้กับอาจารย์ทั้งสอง ทั้งในชุมชนผู้ปฏิบัติที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยhttp://vichak.blogspot.com/
oo
โจน จันได
สามัญชนลูกอีสานที่เรียนรู้ชีวิต ผ่านประสบการณ์ตรงนอกระบบการศึกษา หลายคนรู้จักเขาในนาม “โจน บ้านดิน” ผู้จุดประกายกระแสบ้านดินฟีเวอร์ จนแตกแขนงออกเป็นเครือข่ายคนสร้างบ้านดินในทุกวันนี้ จากชีวิตชาวนาที่ครั้งหนึ่งเคยต้องทิ้งที่นาเข้าไปทำงานรับจ้างรายวันในกรุงเทพฯ โจนได้เรียนรู้ที่จะกลับคืนสู่จิตวิญญาณแห่งผืนดิน สู่การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและเรียบง่ายสอดคล้องไปกับธรรมชาติ
oo
โจน และเป๊กกี้ ภรรยาชาวอเมริกัน เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้พันพรรณ ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ศูนย์แห่งนี้ได้ต้อนรับผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศปีละหลายพันคน พันพรรณยังเป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์ ที่เริ่มที่จะสูญหายไปจากผืนดินไทยด้วยผลกระทบของลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม http://www.punpunthailand.org/
o
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
huahinhub Thanks
o

7.03.2552

| กระตุ้นความคิด ๑๒๘ (กระเป๋าในความฝัน)




กระเป๋า ใส่ความฝัน


ความมุ่งมั่น และทางเดินในอนาคตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงหัวค่ำของวันฝนโปรย เราได้บังเอิญพบหญิงสาวคนหนึ่งย่านสยามสแควร์ เธอกำลังยืนอยู่ในบูตของตัวเองติดกับอีกหลายบูตที่มาออกร้านในตลาดนัดงานดีไซน์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งการจัดวางและกระเป๋าหลากหลายรูปทรงของ ภัททราพร วัฒนะลิขิต หรือ เอ นั้น โดดเด่นเตะตา แม้จะมีราคาแพงกว่าของคนอื่นที่มาออกงานด้วยกันอยู่หลายเท่า ทำให้ต้องแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม

หลายวันถัดมา เราจึงนัดเจอเธอที่บ้านหลังใหญ่อันเป็นแหล่งผลิตสินค้าทุกชิ้น ทำเองล้วนๆ ในห้องนอนโดยไม่มีผู้ช่วยแม้แต่คนเดียว เอบอกเล่าให้ฟังว่า เธอเพิ่งเรียนจบหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี ทางด้าน Shoe and Accessories Design ที่ Istituto Europeo di Design กรุงโรม อิตาลี พร้อมกับขยายความสาขาที่เรียนว่า

"คนไทยชอบเข้าใจผิด รวมทั้งเราด้วยว่า Accessory คือ ต่างหู และของเล็กๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันคือทุกอย่างที่อยู่บนร่างกาย พอเรามาเรียน เราจึงได้เรียนทุกอย่างตั้งแต่แว่นตา นาฬิกา เข็มขัด รองเท้า กราเป๋า สร้อยคอ แหวน หมวก ต่างหู ที่คาดผม เข็มกลัดฯลฯ แต่ที่เราชอบออกแบบเป็นพิเศษก็จะเป็นพวกต่างหู ข้อมือ แหวน กระเป๋า และรองเท้า"

ก่อนหน้านี้ เอจบไฮสคูลที่นิวซีแลนด์แล้วกลับมาบ้านเพื่อรักษาตัวเนื่องจากไม่ค่อยแข็งแรง จึงได้ช่วยงานของคุณพ่อไปพลางๆ เป็นเวลา 7 - 8 ปี ก่อนจะออกมาหาประสบการณ์การทำงานด้าน Event Coordinator อยู่ 2 ปี แล้วหักมุมไปเรียนต่อที่อิตาลี

"ตอนนั้น คิดหนักอยู่เหมือนกันค่ะว่า อายุก็สามสิบแล้วน้า จะไหวเร้อ แต่ก็เอาล่ะ ลองดู ไม่เป็นไร เราหน้าเด็ก (หัวเราะ)" เส้นทางชีวิตของหญิงสาวผู้ไม่เคยพบเจอความลำบากจึงเริ่มต้น ณ กรุงโรม เรียนจริง ทำจริง ทุกสิ่งอัน เมื่อตกลงไปเรียนต่อ เธอเลือกจะอยู่นอกเมืองตามที่คนรู้จักแนะนำ เอเล่าถึงชีวิตการเรียน 1 ปีเต็มเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ต้องนั่งรถเมล์ต่อรถไฟและต่อรถเมล์อีกรอบกว่าจะถึงโรงเรียนใช้เวลา 1ชั่วโมง 15 นาที โดยไปเรียนทุกวันและกลับมาทำงานต่อที่บ้าน บางวันทำถึงตี 4 เพราะเป็นคนชอบทำงานกลางคืน ยังไม่รวมการทัศนศึกษาตามโรงงานต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้อย่าง โรงงานทำหุ่นเท้าไม้สำหรับโชว์รองเท้า โรงงานหมวก โรงงานแบรนด์ดังอย่างเฟอร์รากาโม่ ตลาดนัดวินเทจไปจนถึงงานแฟร์ขายสินค้าต่างๆ

"ตอนที่เราไปเรียนก็ไปเรียนจริงๆ ค่ะ ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ไม่มีเวลา เป็นหลักสูตรที่เรียนหนักมาก เพราะก่อนหน้านี้มันเป็นหลักสูตร 2 ปีแล้วลดเหลือปีเดียวเลยต้องเรียนอัดกันทุกอย่าง แต่ก็สนุกดีนะ ทุกคนที่เรียนก็ไม่มีพื้นด้านนี้ เริ่มใหม่เหมือนกันหมด เริ่มจากการหัด Drawing เรียนเทรนด์แฟชั่น เรียนการเย็บหลายๆ แบบสำหรับใช้ในงาน หรืออย่างเรียนกระเป๋าก็ได้เรียนวิธีเย็บก้นกระเป๋าทุกแบบ เย็บให้ได้ทุกทรง"

เมื่อดูจากผลงานของเอแต่ละชิ้น ใครได้เห็นก็คงต้องทึ่งในความพยายามของเธอ อย่างกระเป๋าหนังแต่ละใบนั้น เอใช้เวลาทำช่วงกลางคืนถึง 5 วัน เย็บมือทั้งชิ้น เริ่มตั้งแต่ตัดหนัง ใช้ที่เจาะรูจุดลงไปแต่ละจุดก่อนจะเจาะรูทีละรูอีกที กว่าจะสอดเข็มเข้าไปเย็บ เรียกว่าทำกันจนมื้อด้านกว่าจะได้แต่ละใบ ส่วนกระเป๋าผ้าก็ง่ายหน่อยคือ ใช้จักรช่วยเย็บ

"ถามถึงแรงบันดาลใจนี่ ตอบไม่ถูกเลยนะ เพราะเราจะมีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนคนอื่นตลอด เราจะชอบซื้อผ้าซื้อของมาก่อนแล้วมานั่งดูว่าอะไรเข้ากับอะไร แล้วก็ทำเลย ไม่ใช่คนที่มานั่งออกแบบก่อน อย่างแพทเทิร์นเราก็ไม่มีนะ ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลย เราก็ตัดลงบนผ้าเลย ไม่มีแบบ ถ้าจะทำใบเดิมซ้ำ เราก็เอาใบเดิมมาวางแล้วก็กะขนาดเอา ก็ออกมาก็เท่าๆ กัน ต่างกันนิดหน่อย ดูไม่ค่อยออกหรอก (ยิ้ม)" เอยืนยัน

นอกจากนี้ ผลงานของเธอยังมีจุดเด่นตรงที่การนำวัสดุไม่เหมือนใครมาใช้อาทิ การนำพรมเช็ดเท้าหรือผ้าเช็ดตัวมาตัดทำกระเป๋าได้อย่างสวยงามถึงกับเรียกเสียงฮือฮาจากชาวอิตาลีมาแล้ว


มุ่งสู่อนาคต
แม้จะชอบแต่งตัวมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ที่เคยวาดฝันไว้ตอนนู้นคือ การเป็นนักธุรกิจ มิใช่ดีไซนเนอร์ หากวันนี้ เธอก็กำลังเริ่มต้นมีแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองภายใต้ชื่อว่า Monelladesign แปลว่าเด็กดื้อออกแบบ อันหมายถึงตัวเธอเอง โดยวางขายเฉพาะในเวบ http://www.monelladesign.com/ และตามคนรู้จักบอกต่อกัน ยังไม่นับรวมแผนการณ์ในอนาคตที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษสาขารองเท้าในปีการศึกษาถัดไปนี้ เอให้เหตุผลที่เลือกไปเรียนด้านนี้ว่า ตอนเรียนที่อิตาลีรู้สึกว่ายังไม่ค่อนชำนาญด้านรองเท้า และเวลาเรียนก็มีน้อยจึงอยากเรียนรู้ให้มากกว่านี้ ไม่เหมือนกับกระเป๋าที่แค่มองดู เธอก็รู้ขั้นตอนในการทำ

"ที่ไปเรียนไม่ใช่เพราะเราอยากได้ปริญญาหรอก เราคิดว่าประสบการณ์สำคัญกว่าปริญญา แล้วที่เราไปเรียนมา ก็ทำให้รู้สึกเลยว่าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ได้ดูแลรับผิดชอบตัวเอง ก็เลยวางแผนไว้ว่า พอเรียนจบก็อยากจะฝึกงานหาประสบการณ์ที่นู่นก่อน แล้วค่อยกลับมาเปิดร้านขาย Accessory ของตัวเอง อาจจะมีสินค้าเด็กๆ ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าของใช้ของเด็กที่เมืองไทยมันไม่ค่อยน่าใช้ เลยอยากทำเอง อย่างตอนนี้ก็ทำกระเป๋าให้หลานๆ ที่บ้านใช้เองด้วย (ยิ้ม)" อนาคตอีกยาว ไกลใครจะรู้ แต่ที่แน่ๆ ไม่เคยมีคำว่าสายเกินไปที่จะเริ่มต้น
o
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล
huahinhub Thanks
o