12.22.2552

| หัวหินประดามี ๓๑ (หัวหิน ฮิลล์ วินยาร์ด)












o
o
o
o
o
o
หัวหิน ฮิลล์ วินยาร์ด: เมื่อเจ้าพ่อกระทิงแดงพาช้างมาเดินเล่นในไร่องุ่น November 23rd, 2009
เรื่อง: พลอย มัลลิกะมาส

หากเอ่ยชื่อเครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในบ้านเรา คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินคำว่า “กระทิงแดง” เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์แรกของประเทศไทยที่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 30 ปี ชื่อเสียงของกระทิงแดงนั้นเป็นที่รู้จักและติดปากคนไทยมาช้านาน กระทั่งยุคหนึ่งในอดีต คำว่า “กระทิงแดง” ได้กลายเป็นชื่อเรียกขาน (Generic Name) แทนคำว่า เครื่องดื่มชูกำลัง” ของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบถึงลูกถึงคนที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2524
การแจกสินค้าให้ลูกค้าได้ทดลองชิมฟรี ถือเป็นวิธีการทำตลาดแบบดั้งเดิมที่นายเฉลียว อยู่วิทยา (*มหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของเมืองไทย 3 ปีซ้อน จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์) ใช้สร้างฐานตลาดให้กับกระทิงแดงมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนากลายเป็น “Red Bull” (เรดบูล) แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก เมื่อครั้งที่นายดีทริช เมเทสซิทซ์ นักธุรกิจชาวออสเตรีย เดินทางมาประเทศไทยในปีพ.ศ. 2525 และพบว่ากระทิงแดงช่วยให้อาการ Jet Lag ของเขาดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาได้ตัดสินใจขอร่วมลงทุนกับนายเฉลียว ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. ขึ้น เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม Red Bull ในภาคพื้นยุโรป รวมทั้งส่งออกสู่ตลาดสากลอื่นๆ ด้วย
นอกจากจะเป็นพี่บิ๊กในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ต่อมา คุณเฉลิม อยู่วิทยา ก็ได้บุกเบิกธุรกิจน้ำเมาขึ้นอีกธุรกิจในนามของบริษัท สยามไวน์เนอรี่ จำกัด ซึ่งหนึ่งในสินค้าน้องใหม่ที่น่าจับตาก็คือ ไวน์ไทย มอนซูน แวลลี่ย์ ที่ผลิตจากไร่องุ่น “หัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด” ไร่องุ่นหนึ่งเดียวในบริเวณบ้านคอกช้าง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นไร่สัปปะรดซึ่งมีช้างป่าเอเชียอาศัยอยู่ จนสยามไวน์เนอรี่เข้ามาพัฒนาเป็นฐานการเพาะปลูกพันธ์องุ่นชั้นดี เริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ เพียง 50 ไร่ ในปี พ.ศ. 2547 จนปัจจุบันไร่องุ่นแห่งนี้เติบโตครอบคลุมพื้นที่กว่า 250 ไร่ และจะขยายพื้นที่ต่อไปอีกจนครบ 1,000 ไร่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ครั้งแรกกับ Agro – Tourism ในหัวหินในวันที่ TCDCCONNECT ไปเยี่ยมชมหัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด สายลมและไอแดดอ่อนพัดมาอย่างไม่ขาดสาย ผ่านมาตามเถาองุ่นสีเขียวน้อยใหญ่ที่กำลังรอวันผลิดอกออกผล เสียงฝีเท้าของไกด์เฉพาะกิจร่างใหญ่ใจดี ค่อยๆ ลัดเลาะไปตามแปลงองุ่นที่ทอดตัวท่ามกลางขุนเขาสุดลูกหูลูกตา สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ของการมาเที่ยวหัวหินอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (หรือ Agro – Tourism) นี้ โครงการ หัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด นับเป็นไร่องุ่นครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเมืองชายทะเลหัวหิน ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับทุกขั้นตอนของการผลิตไวน์ไทย เริ่มมากกระโดดขึ้นบนหลังช้างลัดเลาะไปในไร่องุ่น ชมการปลูกองุ่น การหมัก การบ่ม และการชิมไวน์ประเภทต่างๆ อย่างครบถ้วน (ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากทริปท่องเที่ยวชิมไวน์ในยุโรปตอนใต้หรือออสเตรเลีย เว้นแต่ว่าที่หัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด ผู้มาเยี่ยมเยือนจะได้สัมผัสกับประสบการณ์พิเศษสุดบนหลังช้างด้วย)

คุณเฉลิม อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยาม ไวเนอรี่ จำกัด กล่าวว่า “การเปิดไร่องุ่นหัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด ของสยามไวเนอรี่ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มไวน์ในประเทศไทยให้แพร่หลาย โดยเรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสเปิดบ้านของเราให้นักท่องเที่ยวได้ชมถึงแหล่งที่มาขององุ่นที่เราใช้ผลิตไวน์ไทยมอนซูน แวลลีย์ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ที่สามารถเพาะปลูกองุ่นคุณภาพดีในเขตร้อนได้
นอกจากนั้น เรายังรู้สึกภูมิใจที่สามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อีกทาง นอกเหนือจากทะเลและชายหาดซึ่งเป็นที่นิยมอยู่แล้ว” การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อผลักดันให้นักท่องเที่ยวเกิดจิตสำนึกด้านบวก ตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการธรรมชาติ พร้อมทั้งเห็นคุณค่าของผลผลิตการเกษตรเหล่านั้นมากขึ้น
แต่หากจะมองกันในมุมของธุรกิจ Agro – Tourism ก็คือ เครื่องมือชิ้นเยี่ยมทางการตลาด ที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหาร-เครื่องดื่มทั่วโลกนิยมใช้กันในการสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าสินค้า สำหรับเจ้าพ่อกระทิงแดงต้นตำรับ “ชิมก่อนซื้อ” คนนี้ Agro – Tourism ในหัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด น่าจะเป็นภาคหนึ่งของกลยุทธ์ Experiential Marketing ที่เปิดช่องให้ผู้บริโภคได้ “ลองสัมผัส “ กับสินค้าของเขาก่อนเช่นเดิม ไม่ต่างจากที่เขาเคยทำสำเร็จมาแล้วกับ “กระทิงแดง” เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

ทุนนิยมที่เป็นมิตรมากขึ้นอย่างไรก็ดี การรุกล้ำเข้ามาของเงินทุนก้อนใหญ่และระบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” ที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็วในบริเวณบ้านคอกช้างนั้น แน่นอนว่า ต้องสร้างผลกระทบกับชุมชนและสภาพแวดล้อมดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ไม่ว่าจะต่อวิถีชีวิต การทำมาหากินของผู้คน หรือต่อระบบนิเวศแวดล้อม เช่น พืชพันธ์ที่เคยมีตามธรรมชาติ และฝูงช้างป่าเอเชียที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น) ด้วยแรงกดดันทางสังคม และนโยบายเชิงเศรษฐกิจต่างๆ ที่หักมุมไปจากทศวรรษก่อน นี่คงเป็นโจทย์ข้อใหญ่สำหรับธุรกิจยุคนี้ที่จะต้องแก้ให้ตก “คุณจะใช้โมเดลอะไรขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้โดยปราศจากเสียงก่นด่า?”
บริษัทสยามไวน์เนอรี่ดูจะตระหนักถึงอุปสรรคข้อนี้ดี การสร้างอาณาจักรหัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด ครั้งนี้ จึงต้องเป็นไปอย่างรอมชอมและเป็นมิตรกับชาวบ้านช้างให้มากที่สุด เริ่มจากการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นโดยรอบ เปิดโอกาสให้คนในชุนชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาธุรกิจทั้งในระบบการเกษตรและการท่องเที่ยว อาทิเช่น นำช้างและคนงานที่มีอยู่แต่เดิมในพื้นที่มาร่วมงาน (ร่วมสร้างรายได้) กับทางไร่องุ่น โดยมองว่าเป็นการกระจายรายได้ของธุรกิจกลับคืนสู่ชุมชนในทางหนึ่ง
ด้วยวิสัยทัศน์และแนวคิดนอกกรอบของคุณเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าพ่อกระทิงแดง/เศรษฐีนักธุรกิจระดับเซียนคนนี้ เราคงต้องคอยดูกันต่อไปว่า หัวหิน ฮิลส์ วินยาร์ด ได้ก้าวเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่
ไวน์ไทยละติจูดใหม่… ท่องเที่ยวเชิงเกษตร… ช้างป่าในไร่องุ่น…
“ใช่” หรือ “ไม่ใช่” สำหรับตลาดยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ น่าติดตาม
huahinhub Thanks

12.21.2552

| กระตุ้นความคิด ๑๓๑ (ดัง..ความเห็น)


เสียงเงียบที่ดังกึกก้อง
โดย : ชณ เศรษฐสาคร
ช่วงมหกรรมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นค่อนข้างชัด นับตั้งแต่วินาทีที่หน้าข่าวบนเว็บไซต์รายงานผลการแข่งขันฟุตบอลชายที่ชาติไทยเราโดนเสือเหลืองมาเลเซียเขี่ยตกที่นั่ง "ราชาลูกหนังแห่งอุษาคเนย์" (ที่คนกลุ่มหนึ่งคิด และพยายามสร้างภาพให้คนไทยคิดตาม) ร่วงในรอบแรกไปด้วยสกอร์ 2-1 กระทู้สรรเสริญเยินยอจากทั่วทุกสารทิศก็ทยอยแปะต่อท้ายข่าวอย่างไม่ขาดสาย

เกลี่ยสายตาดูทั่วๆ บรรดาเว็บไซต์ดังๆ ในชุมชนไซเบอร์สเปซนั้นมีความเห็นหลังข่าวนี้ไม่ต่ำกว่า 100 คอมเมนท์อันที่จริง การแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์มีมาตั้งแต่คนเราเริ่มทำความรู้จักกับอินเทอร์เน็ต เว็บบอร์ดก็กลายเป็นแหล่งรวบรวมความเห็นจากผู้คนในแวดวงต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ความสนใจเดียวกัน ซึ่งอาจถือว่า นี่เป็นเค้าโครงของโซเชียลเน็ตเวิร์ครุ่นแรกๆ ของยุคดิจิทัล

ทั้งเหตุบ้านการเมือง ไปจนถึงสารทุกข์สุกดิบ ก็พากันมากระจุกรวมกันบนพื้นที่เหล่านี้ เนื่องจากความที่สังคมระบบเลขฐานสองเปิดเสรีอย่างเต็มที่ อีกทั้งไม่ต้องแสดงตัวตนบนโลกนอกจอให้เห็น คุณสมบัติข้อนี้จึงทำให้โลกออนไลน์ทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะออกไป แต่ถึงอย่างนั้นความน่าเชื่อถือก็ยังคงขีดกรอบให้เรื่องบอกเล่าต่างๆ กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มอยู่

กระทั่งวันนี้ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตานอนชีวิตคนเรา (โดยเฉพาะพวกที่ได้ชื่อว่าคนเมือง) ผูกติดกับคอมพิวเตอร์อย่างชนิดที่แยกกันไม่ออก ลูกเล่น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น การเกิดขึ้นของ โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง ไฮไฟ เฟซบุ๊ค หรือกระทั่งไมโครบล็อกอย่างทวิตเตอร์ ก็ยิ่งช่วยให้คนเราแสดงออกได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่เคยถูกตั้งคำถามวันนี้ได้มลายหายไปส่วนใหญ่แล้ว ข่าวร้อนหลายข่าว ประเด็นดังๆ หลายประเด็น รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมใหญ่ๆ หลายครั้งเริ่มมีต้นธารมาจากโลกไซเบอร์มากขึ้น เว็บบอร์ดหลายเว็บกลายเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนจนแปรสภาพไปเป็นสถาบันที่มีน้ำหนักในการใช้อ้างอิงได้ไปโดยปริยาย

ความแข็งแรงที่เกิดขึ้นของเสียงบนโลกเสมือนที่มักดังเข้ามากระแทกหู (บางครั้งก็แทงถูกใจดำๆ ของใครหลายๆ คน) ผู้คนบนโลกจริง นั่นก็เพราะสิ่งที่ปรากฏเป็นความเห็นตรงหน้าจอนั้น ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกล้วนๆ ไม่ได้มีความหมายแฝง ซึ่งปัจจุบันประเด็นนี้ก็ถูกตั้งคำถามย้อนกลับไปยังโลกไซเบอร์โดยผู้คนบนโลกจริงเช่นกัน ผิดกับสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่อาจถูกความสงสัยว่าเล่นพรรคเล่นพวกเคลือบเอาไว้อยู่ได้ เคสซีเกมส์เมืองเวียงจันทน์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นเคย เสียงก่นด่าเกิดขึ้นมากมายหลังจากฟุตบอลทีมชาติไทยพลาดอะไรต่ออะไร ขณะที่ความเคลื่อนไหวบนหน้ากระดาษทำหน้าที่เพียงรายงานความเคลื่อนไหว (อาจมีวิพากษ์บ้างพองาม) แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เข้าสู่สภาวะปกติ

ไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคต เราอาจต้องมานั่งมองกันใหม่ก็ได้ว่า ตั้งแต่กรณีน้องอุ้ม ณ เมืองคานส์ นาธาน โอมาน ผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลทีมชาติไทย และกรณีอื่นๆ กรณีแล้วกรณีเล่า ที่เป็นประเด็นร้อนออนเน็ตนั้น จะกระแทกเข้าสู่ส่วนไหนของสังคม ให้กลายเป็นเสียงเงียบที่ดังกึกก้องต่อไป
huahinhub Thanks กรุงเทพธุรกิจ

12.15.2552

| หัวหินประดามี ๓๐ (พาเหรดรถโบราณ)




โซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทและวิลล่า หัวหิน ร่วมกับสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลพาเหรดรถโบราณเมืองหัวหิน ครั้งที่ 7

เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์รถโบราณที่นับวันจะหาชมได้ยาก และให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการและมรดกด้านรถยนต์ของประเทศไทย เพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

กิจกรรมภายในงานในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ จะเป็นการนำรถโบราณและรถคลาสสิกจำนวน 50 คันร่วมในขบวนพาเหรด โดยจะเคลื่อนตัวจากหน้าโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผ่านอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านสภาลัย (อุทยาน ร.2) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อสักการะพระบรมรูปฯ

จากนั้นเดินทางผ่านจังหวัดเพชรบุรี เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว และสู่อำเภอหัวหิน แวะศูนย์การค้าหัวหินมาร์เก็ตวิลเลจ เพื่อร่วมพิธีเปิดอาหารเย็นแบบบุฟเฟ่ต์ความยาว 50 เมตร โดยเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสชิมอาหารกว่า 100 รายการ จากฝีมือปรุงจากพ่อครัวระดับมืออาชีพจากโรงแรมต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกของหัวหินโฮเท็ลลิเออร์คลับ

ส่วนวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม ผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรดรถโบราณ จะเดินทางไปศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อำเภอปราณบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีการพัฒนาแปลงปลูกป่าโกงกางในบริเวณพื้นที่นากุ้งเก่า เพื่อให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่เสื่อมโทรมได้ โดยศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้พื้นที่ที่ถูกทำลายแห่งแรกของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนั่งรถโบราณชมเมืองหัวหิน เพื่อการกุศล และปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงกาล่าดินเนอร์เพื่อการกุศล ภายในงานมีการประมูล การประกวดการแต่งกายย้อนยุค
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub thanks

| กระตุ้นความคิด ๑๓๐ (พลังงานฟางข้าว)


สร้างพลังงานทดแทนจากฟางข้าว
โดย : บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรในการทำนา คือการจัดการกับฟางข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งแม้ปัจจุบันฟางข้าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชนได้หลากหลาย เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่ด้วยภาวะเร่งรัดในการทำนาครั้งต่อไป การเผาฟางจึงกลายเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด
แม้ว่าเกษตรเองจะไม่อยากเผาฟางก็ตาม หากแต่ว่าผลกระทบที่ตามมานั้น ไม่เพียงความร้อนที่เกิดจากการเผาจะทำลายธาตุอาหารในดิน และได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดีแล้ว การเผาฟางยังเป็นการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าพื้นที่ที่มีการเผา
ฟางข้าวมากที่สุดในประเทศไทยมีถึง 13 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น
น.ส.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (
JGSEE) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางหนึ่งในการจัดการฟางข้าวที่น่าสนใจ คือการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยการสนับสนุนของภาครัฐในการใช้ชีวมวลเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล
ในหลายประเทศเริ่มมีการใช้
ฟางข้าว(rice straw) และฟางข้าวสาสี(wheat straw)เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำในการผลิตความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำบ้างแล้ว เช่น ประเทศเดนมาร์ก อังกฤษ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยมีความพยายาม ในการนำ
ฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานมาก แต่ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากฟางข้าว เป็นชีวมวลที่มีค่าความร้อนต่ำ อีกทั้งยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว และมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมที่กำลังใช้กันอยู่ เช่น แกลบ เศษไม้ เปลือกปาล์ม ส่งผลให้ฟางข้าวกว่า 50 %ต้องถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น เพื่อหาเทคโนโลยีที่นำฟางข้าวไปใช้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์ที่ได้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุน อันจะช่วยหยุดสร้างมลพิษจากการเผาฟาง และได้แหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น จึงได้ศึกษานโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทย ด้วยการประเมินความเป็นไปได้ใน 4 ด้าน คือ
1. ศักยภาพของทรัพยากรที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง
2. ความเหมาะสมของประเภทและขนาดของเทคโนโลยีกับศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่
3.ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ของผู้ลงทุนและสังคมรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และ
4. สิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนวทางของนโยบายที่ภาครัฐควรจะสนับสนุน

“ผลจากการประเมินพบว่า ฟางข้าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ด้วยการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมในโรงงานจะมีศักยภาพมากว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า และเสนอให้รัฐสนับสนุนการใช้ฟางโดยการให้เงินสนับสนุนต่อปริมาณฟางที่ใช้ 300-340 บาทต่อกิโลกรัม (แทนที่จะสนับสนุนต่อหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฯ) เพื่อเปิดโอกาสให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วย
เงินสนับสนุนนี้คำนวณโดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ต้องจ่ายหากเราหยุดเผาฟางได้
สำหรับการนำไปใช้ก็สามารถทำได้ทันที เพราะในภาคกลางยังมีโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน สำหรับหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นถ่านหินผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนมาใช้ฟางข้าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นน้ำมันเตาก็เปลี่ยนเพียงหัวเตาเท่านั้น
ในส่วนการประเมินความคุ้มทุนนั้นพบว่า ฟางข้าวจะต้องมีราคาต่ำกว่า 860 บาทต่อตัน ซึ่งวิธีการลดต้นทุนที่ทำได้เลยในขณะนี้คือ ให้เกษตรเก็บฟางข้าวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมไว้ข้างนา โดยอัดให้แน่น(ประมาณ 18-20 กก.ต่อฟ่อน) ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว จากนั้นผู้ประกอบการส่งรถพ่วง 2 ตอน มารับซื้อจากนาโดยตรง และเตรียมความพร้อมของฟางก่อนป้อนเข้าเตาเผาด้วยการสับให้ชิ้นเล็กลง

ส่วนในอนาคตเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรเก็บฟางข้าวให้อยู่ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ทันที่ทุ่งนา เพื่อให้บรรทุกได้ในปริมาณมากขึ้นในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนเที่ยวและประหยัดค่าการขนส่งแล้ว ยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ทันทีโดยไม่ต้องสับ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐในการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อไป

น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า การใช้ฟางเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล นอกจากจะช่วยให้หยุด ”มลพิษทางอากาศ” ได้แล้ว ยังได้ “พลังงาน” และ “ลดโลกร้อน” ด้วย ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตรงนี้ จะนำไปขายกับประเทศที่มีพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การตกลงในพิธีสารเกียวโต ปัจจุบันในตลาดโลกมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) บ้างแล้วในหลายประเทศ ภาครัฐควรมีการสนับสนุนโครงการCDM เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วย

อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัจจุบันโรงสีข้าวและโรงน้ำตาลเริ่มนำแกลบและกากอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดย่อมของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ชีวมวลเหล่านี้เริ่มมีราคาแพงและขาดแคลนมากขึ้น

ดังนั้น ชีวมวลที่ไม่ได้ใช้ทั้ง ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย ลำต้นข้าวโพด ล้วนเป็นชีวมวลทางเลือกใหม่ ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาวะขาดแคลนพลังงานในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

| กระตุ้นความคิด ๑๒๙ (หนึ่งผลิตภัณฑ์ หลายตำบล)




หนึ่งผลิตภัณฑ์ หลายตำบล
โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล

วาสนา ปันยารชุน ผู้ปลุกปั้นของตกแต่งบ้าน แบรนด์ 'นายขวัญเมือง'
สบู่สมุนไพรหอมนุ่มน่าใช้ฝีมือเธอ
หากเมื่อย้อนเวลากลับไป เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว วาสนา ปันยารชุน เป็นคนแรกๆ ที่เริ่มนำผ้าท้องถิ่น ของใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้ามไปมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ ช่วยเปลี่ยนหมอนสามเหลี่ยมหน้าตาโบราณให้ดูไฉไล มีคาแรคเตอร์ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงผ้าห่มสีสดใสเย็บมือทั้งผืน เบาะรองนั่งหน้าตาเก๋ไก๋ ที่ผ่านการดั้นด้นเสาะหาทั้งวัตถุดิบและช่างฝีมือทั่วประเทศให้มารวมตัวกันอยู่ในผลงานเพียงชิ้นเดียว
ผู้หญิงร่างเล็กผิวแทน กระฉับกระเฉง แลดูอ่อนเยาว์เกินกว่าจะอายุสี่สิบปลายๆ คนนี้ก็คือเจ้าของไอเดียในการเนรมิตคิดค้นและปลุกปั้นสินค้าตกแต่งบ้านที่อบอวลไปด้วยกินอายท้องถิ่นภายใต้ชื่อ 'นายขวัญเมือง' ให้เป็นที่รู้จักกันทั้งตามหน้านิตยสารตกแต่งบ้านที่มักจะนำสินค้าของเธอไปแนะนำอยู่เนืองๆ ตลอดจนผู้คนทั่วไปที่ชื่นชอบผลงานแนวนี้

เธอย้อนเวลาให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง เธอเคยทำงานออฟฟิศอยู่ถึง 20 ปีเต็ม แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนช่วงฟองสบู่แตก ปี 2540 ในขณะที่เธออายุราว 35 ปี
“ตอนนั้นต้องชั่งใจว่าจะทำงานประจำต่อ หรือทำงานของตัวเองดี เราก็คิดว่า ถ้าเราทำงานประจำต่อไป เราคงต้องทำงานอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าแก่กว่านี้กว่าจะออกจากงาน เราคงไม่กล้าทำธุรกิจแล้ว ก็เลยออกมาทำเลย”

แต่ร้านเริ่มแรกของนายขวัญเมืองกลับเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าย่านทองหล่อที่เธอได้สั่งสมประสบการณ์และความชอบสมัยที่ช่วยพี่สาวทำร้านเฟอร์นิเจอร์ในขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำอยู่ได้ 2 ปี อะไรๆ ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ไหนจะจมทุน ไม่มีลูกค้า ประกอบกับอาการเบื่อหน่ายที่ต้องมานั่งเฝ้าร้านอ่านหนังสือทั้งวัน ในขณะที่เดิมเธอเป็นเลขานุการสาวสุดแอคทีฟที่คอยติดตามเจ้านายฝรั่งทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา

สินค้าตัวแรกที่ผ่านมือเธอจริงๆ จึงเกิดขึ้นตามมา นั่นก็คือ 'ธูปหอม' ที่มีจุดเด่นตรงการใช้สมุนไพรแท้ๆ ในการทำและมีกลิ่นหอมที่ปรุงเองกับมือ ซึ่งวางขายในร้านใหม่ที่สวนจตุจักรหลังปิดร้านเดิมไปด้วยอาการขาดทุนอย่างแรง

และภายในพื้นที่ร้านเพียงไม่ถึง 10 ตารางเมตรนี่เอง ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเธอได้มากกว่าร้านหรูกลางใจเมือง “เราอยากขายของที่ตัวเองมีกิจกรรมทำ ได้ตระเวนไปนู่นมานี่ ได้ทำเอง ได้เคลื่อนไหว เพราะเราเป็นคนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง”

ผลิตภัณฑ์ที่ทยอยออกมาในช่วงหลัง จึงผ่านการเดินทางทั่วสารทิศของผู้หญิงชอบเที่ยว และแวะไปเรื่อย จนกลายมาเป็นที่มาของสินค้านานาชนิดในร้าน อาทิ ผ้านวมผืนสวยต้องไปเย็บที่ลำพูน เพราะฝีมือดี ส่วนฝ้ายต้องซื้อจากเชียงคาน (เท่านั้น) มายัดไส้ผ้านวม หรือ หมอนขิด (หมอนสามเหลี่ยม) ซื้อผ้าถุงหลายไม่เหมือนใครมาจากร้านเล็กๆ เจ้าประจำทางภาคใต้ก่อนจะมาเย็บที่ยโสธรด้วยฝีมือของช่างท้องถิ่นที่คุ้ยเคยฝีมือกันดี ฯลฯ

เรียกว่า กว่าจะได้ของออกมาแต่ละชิ้นก็ต้องไปมากกว่า 1 จังหวัด ซึ่งดูเหมือนจะเหนื่อยและไม่คุ้มเท่าไหร่นัก หากมองว่าสินค้าในร้านนั้นไม่แพงอย่างที่คิด เริ่มตั้งแต่สบู่ทำมือราคา 60 บาท ไปจนถึงผ้านวมด้นมือทั้งผืนราคา 4,500 บาท “เราทำเพราะเราชอบ ไม่ได้ทำเพราะเห็นคนอื่นทำแล้วขายได้ อะไรที่ไม่ถนัด เราก็ไม่ทำ ไม่ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ"

ผู้หญิงร่างบางคนนี้จึงขับรถกระบะคู่ใจ ไปมาแล้วเกือบทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย โดยแบ่งเวลาของเธอในช่วงวันธรรมดาอยู่ที่การออกแบบ คิดแบบ ทำสินค้าเอง (บางอย่าง) หรือไม่ก็ไปหากลุ่มแม่บ้านตามจังหวัดต่างๆ ส่วน ศุกร์-เสร์-อาทิตย์ อยู่ประจำขายของที่จตุจักร

ด้วยความที่สินค้าในร้านมีความเป็นเอเชียสูง ลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซนต์ของร้านจึงเป็นชาวต่างชาติ ที่เหลือเป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งชื่นชอบงานสไตล์นี้ ดังนั้นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจึงเป็นช่วงที่ร้านมียอดขายสูงถึงเดือนละ 2 แสน จากการขายเพียง 8 วันที่นี่ที่เดียวสาขาเดียว แต่ความฝันของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งยังไม่หยุดเท่านี้

"ทุกวันนี้ก็มีความสุขดี แต่ยังไม่พอ (หัวเราะ) ยังอยากมีร้านกาแฟเล็กๆ ชงเอง ล้างเอง อยู่ใกล้ภูเขา เพราะเราคิดว่า วันหนึ่งเราก็ต้องเลิกทำตรงนี้ เพราะอายุเยอะขึ้น ไฟหมด ขนของไม่ไหว ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำตลอดไป"
การเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต และเมื่อท่วงทำนองชีวิตเดินไปถึงจุดนั้น ที่เหลือก็แค่ทำความเข้าใจและใช้ชีวิตต่อไปในแบบของตัวเอง
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

| สร้างสรรค์วัฒนธรรมและสังคมเมือง ๑๓๐ (ขยะ+ความคิด=สังคมดี)





ขยะที่ใครต่อใครต่างมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ไร้ค่า และไม่น่าจับต้อง วันนี้สิ่งของเหลือใช้เหล่านั้น จะไม่น่าขยะแขยงอีกต่อไป-->
เมื่อมีการบูรณาการความรู้ บวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ขยะที่ไร้ค่าก็กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์สวยงาม และสามารถเป็นสนามเด็กเล่นเกรดเอของเด็กๆ ได้

เช่นเดียวกับน้องๆ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่นำเอาขยะ และเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาประยุกต์เป็นสนามเด็กเล่น โดยผนวกองค์ความรู้จากตำรา ใส่ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการลงไป จนถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างสวยงาม ส่งมอบความสุขให้กับเด็กๆ ในชุมชนวัดมะกอก และชุมชนจารุรัตน์
เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อสนับสนุนโรงเรียนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและได้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้มามีส่วนร่วมในการลดขยะด้วยวิธีง่ายๆ และสร้างสรรค์ อันเป็นที่มาของการสร้างสนามเด็กเล่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ในครั้งนี้นั่นเอง

“เราเชื่อว่าพลังคนเป็นพลังที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมได้อย่างยั่งยืน และเราเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมหันมามีแนวความคิดใหม่ว่า การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาขยะนั้น ทำได้ไม่ยากเลย แค่เพียงทุกคนเริ่มแยกขยะและนำส่วนที่ใช้ได้ไปรีไซเคิล ก็เป็นการช่วยได้แล้ว” หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว
ด้าน หมูตู้ - กวิน ประตูมณีชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บอกว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เห็นเด็กๆ ตื่นเต้นกับเครื่องเล่นต่างๆ ที่เพื่อนๆ มจธ. ร่วมกันสร้างจนกลายเป็นสนามเด็กเล่น “เพลินกราวน์” ให้กับชุมชนจารุรัตน์
“การทำงานของเราเริ่มต้นจาก concept นำก่อนครับ แล้วก็มีแบบคร่าวๆ ดูเป็น idea ซึ่งแรกๆ อาจจะดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะว่าการทำงานนี้ เราตั้งใจเพราะไม่อยากปิดกั้นจินตนาการวัสดุรีไซเคิล ดังนั้นพอของมาอยู่ตรงหน้า ความคิดจะโลดแล่นทันทีครับ เช่น ท้ายรถปิกอัพแปลงได้เป็นยานอวกาศ ชิ้นนี้ น้องๆ ชอบกันมาก ซึ่งการออกแบบของเรานั้นเน้นการที่ทำให้ "ขยะไม่ใช่ขยะ" เพราะว่าสนามเด็กเล่นเป็นของสำหรับเด็ก อันตรายไม่ควรมีเป็นอันขาด เราจึงออกแบบให้ทุกอย่างดูใหม่ คงทน และเหมาะสมที่สุด เพราะความไว้วางใจจากผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ เครื่องเล่นดูน่าเชื่อถือให้ลูกๆ เล่นได้อย่างเต็มที่ครับ”

"เพลินกราวน์" มีเครื่องเล่น 4 ชนิด ได้แก่ อุโมงค์ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่เครื่องเล่น, ตัวแม่สี, เกมในการทรงตัว และยานอวกาศ ซึ่งเครื่องเล่นทั้งหมดที่ออกแบบ อาณัตน์ จะรคร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บอกว่า อิงจากพื้นฐานด้าน IQ EQ และ MQ คือ ความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดในด้านศีลธรรม ซึ่งจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครื่องเล่นแต่ละชนิด

"อย่างเช่นอุโมงค์ที่จะมีทางเข้าออกหลายทาง เวลาเด็กเล่นก็จะทำให้เด็กได้มีการเรียนรู้และตัดสินใจ เวลาที่เข้าไปเจอเพื่อนสวนทางออกมา เด็กๆ จะได้คิดว่าเขาควรจะหลีกทางให้เพื่อนก่อนอะไรทำนองนี้ ก็จะทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการอยู่ในสังคมที่ดี มันเป็นอะไรที่แฝงอยู่ที่เราไม่ได้ตั้งใจบอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมากต่อสนามเด็กเล่น"

สำหรับเพื่อนต่างสถาบันอย่าง อ๊อฟ-อรรถพงศ์ ฟูเฟื่อง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า สนามเด็กเล่นที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันสร้าง เรียกว่า “กรีน แพลนเน็ต ฟอร์คิดส์” ประกอบไปด้วย ถ้ำเมืองมะกอก, ภูเขาผู้พิชิต, บ้านต้นไม้, โยกเยกขาเดียว, เสียงเรียกจากดอกไม้, ราชามด

“โจทย์ที่ว่าเป็นขยะและวัสดุเหลือใช้ มาทำเป็นสนามเด็กเล่น เป็นเรื่องที่ท้าทายครับ และดีมากในแง่ของวัสดุที่บางทีเราคิดไม่ออก ผมว่าโจทย์นี้ดีมาก พอรูปแบบแบบนี้เผยแพร่ออกไปคนก็จะหวนกลับมาคิดว่า เออ...มันไม่ได้ไร้ค่าแบบนั้น ยางรถต้องนำไปเผาหรือทำลายอันนี้ก็ไม่ใช่ แล้วจริงๆ สามารถที่จะเอาไปจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอื่นได้อีก อย่างยางรถในพื้นที่ห่างไกลที่เขาเกิดปัญหาการกัดเซาะของตลิ่ง ป้องกันแนวทำเป็นเขื่อนยาง มันสามารถออกแบบไปใช้งานได้อีก ซึ่งเรื่องวัสดุรีไซเคิลเหมาะกับการที่จะเผยแพร่และทำให้คนสนใจ ถ้าเอามาประยุกต์ได้มันเกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าที่เป็นขยะ”

เห็นอย่างนี้ใครจะคิดว่าขยะหรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่หลายคนมองว่าหมดคุณค่า แต่หากมีการนำเอาขยะเหล่านั้นมารีไซเคิล และนำไปประยุกต์สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ขยะที่เราเหยียบย่ำก็อาจมีประโยชน์ และสร้างคุณค่ามหาศาลได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks