12.15.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรมและสังคมเมือง ๑๓๐ (ขยะ+ความคิด=สังคมดี)





ขยะที่ใครต่อใครต่างมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ไร้ค่า และไม่น่าจับต้อง วันนี้สิ่งของเหลือใช้เหล่านั้น จะไม่น่าขยะแขยงอีกต่อไป-->
เมื่อมีการบูรณาการความรู้ บวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ขยะที่ไร้ค่าก็กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์สวยงาม และสามารถเป็นสนามเด็กเล่นเกรดเอของเด็กๆ ได้

เช่นเดียวกับน้องๆ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่นำเอาขยะ และเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาประยุกต์เป็นสนามเด็กเล่น โดยผนวกองค์ความรู้จากตำรา ใส่ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการลงไป จนถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างสวยงาม ส่งมอบความสุขให้กับเด็กๆ ในชุมชนวัดมะกอก และชุมชนจารุรัตน์
เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดโครงการโรงเรียนเครือข่ายเชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อสนับสนุนโรงเรียนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและได้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้มามีส่วนร่วมในการลดขยะด้วยวิธีง่ายๆ และสร้างสรรค์ อันเป็นที่มาของการสร้างสนามเด็กเล่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ในครั้งนี้นั่นเอง

“เราเชื่อว่าพลังคนเป็นพลังที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมได้อย่างยั่งยืน และเราเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมหันมามีแนวความคิดใหม่ว่า การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาขยะนั้น ทำได้ไม่ยากเลย แค่เพียงทุกคนเริ่มแยกขยะและนำส่วนที่ใช้ได้ไปรีไซเคิล ก็เป็นการช่วยได้แล้ว” หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว
ด้าน หมูตู้ - กวิน ประตูมณีชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บอกว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เห็นเด็กๆ ตื่นเต้นกับเครื่องเล่นต่างๆ ที่เพื่อนๆ มจธ. ร่วมกันสร้างจนกลายเป็นสนามเด็กเล่น “เพลินกราวน์” ให้กับชุมชนจารุรัตน์
“การทำงานของเราเริ่มต้นจาก concept นำก่อนครับ แล้วก็มีแบบคร่าวๆ ดูเป็น idea ซึ่งแรกๆ อาจจะดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะว่าการทำงานนี้ เราตั้งใจเพราะไม่อยากปิดกั้นจินตนาการวัสดุรีไซเคิล ดังนั้นพอของมาอยู่ตรงหน้า ความคิดจะโลดแล่นทันทีครับ เช่น ท้ายรถปิกอัพแปลงได้เป็นยานอวกาศ ชิ้นนี้ น้องๆ ชอบกันมาก ซึ่งการออกแบบของเรานั้นเน้นการที่ทำให้ "ขยะไม่ใช่ขยะ" เพราะว่าสนามเด็กเล่นเป็นของสำหรับเด็ก อันตรายไม่ควรมีเป็นอันขาด เราจึงออกแบบให้ทุกอย่างดูใหม่ คงทน และเหมาะสมที่สุด เพราะความไว้วางใจจากผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ เครื่องเล่นดูน่าเชื่อถือให้ลูกๆ เล่นได้อย่างเต็มที่ครับ”

"เพลินกราวน์" มีเครื่องเล่น 4 ชนิด ได้แก่ อุโมงค์ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่เครื่องเล่น, ตัวแม่สี, เกมในการทรงตัว และยานอวกาศ ซึ่งเครื่องเล่นทั้งหมดที่ออกแบบ อาณัตน์ จะรคร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บอกว่า อิงจากพื้นฐานด้าน IQ EQ และ MQ คือ ความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดในด้านศีลธรรม ซึ่งจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครื่องเล่นแต่ละชนิด

"อย่างเช่นอุโมงค์ที่จะมีทางเข้าออกหลายทาง เวลาเด็กเล่นก็จะทำให้เด็กได้มีการเรียนรู้และตัดสินใจ เวลาที่เข้าไปเจอเพื่อนสวนทางออกมา เด็กๆ จะได้คิดว่าเขาควรจะหลีกทางให้เพื่อนก่อนอะไรทำนองนี้ ก็จะทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการอยู่ในสังคมที่ดี มันเป็นอะไรที่แฝงอยู่ที่เราไม่ได้ตั้งใจบอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมากต่อสนามเด็กเล่น"

สำหรับเพื่อนต่างสถาบันอย่าง อ๊อฟ-อรรถพงศ์ ฟูเฟื่อง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า สนามเด็กเล่นที่เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันสร้าง เรียกว่า “กรีน แพลนเน็ต ฟอร์คิดส์” ประกอบไปด้วย ถ้ำเมืองมะกอก, ภูเขาผู้พิชิต, บ้านต้นไม้, โยกเยกขาเดียว, เสียงเรียกจากดอกไม้, ราชามด

“โจทย์ที่ว่าเป็นขยะและวัสดุเหลือใช้ มาทำเป็นสนามเด็กเล่น เป็นเรื่องที่ท้าทายครับ และดีมากในแง่ของวัสดุที่บางทีเราคิดไม่ออก ผมว่าโจทย์นี้ดีมาก พอรูปแบบแบบนี้เผยแพร่ออกไปคนก็จะหวนกลับมาคิดว่า เออ...มันไม่ได้ไร้ค่าแบบนั้น ยางรถต้องนำไปเผาหรือทำลายอันนี้ก็ไม่ใช่ แล้วจริงๆ สามารถที่จะเอาไปจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอื่นได้อีก อย่างยางรถในพื้นที่ห่างไกลที่เขาเกิดปัญหาการกัดเซาะของตลิ่ง ป้องกันแนวทำเป็นเขื่อนยาง มันสามารถออกแบบไปใช้งานได้อีก ซึ่งเรื่องวัสดุรีไซเคิลเหมาะกับการที่จะเผยแพร่และทำให้คนสนใจ ถ้าเอามาประยุกต์ได้มันเกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าที่เป็นขยะ”

เห็นอย่างนี้ใครจะคิดว่าขยะหรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่หลายคนมองว่าหมดคุณค่า แต่หากมีการนำเอาขยะเหล่านั้นมารีไซเคิล และนำไปประยุกต์สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ขยะที่เราเหยียบย่ำก็อาจมีประโยชน์ และสร้างคุณค่ามหาศาลได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น