12.21.2552

| กระตุ้นความคิด ๑๓๑ (ดัง..ความเห็น)


เสียงเงียบที่ดังกึกก้อง
โดย : ชณ เศรษฐสาคร
ช่วงมหกรรมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นค่อนข้างชัด นับตั้งแต่วินาทีที่หน้าข่าวบนเว็บไซต์รายงานผลการแข่งขันฟุตบอลชายที่ชาติไทยเราโดนเสือเหลืองมาเลเซียเขี่ยตกที่นั่ง "ราชาลูกหนังแห่งอุษาคเนย์" (ที่คนกลุ่มหนึ่งคิด และพยายามสร้างภาพให้คนไทยคิดตาม) ร่วงในรอบแรกไปด้วยสกอร์ 2-1 กระทู้สรรเสริญเยินยอจากทั่วทุกสารทิศก็ทยอยแปะต่อท้ายข่าวอย่างไม่ขาดสาย

เกลี่ยสายตาดูทั่วๆ บรรดาเว็บไซต์ดังๆ ในชุมชนไซเบอร์สเปซนั้นมีความเห็นหลังข่าวนี้ไม่ต่ำกว่า 100 คอมเมนท์อันที่จริง การแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์มีมาตั้งแต่คนเราเริ่มทำความรู้จักกับอินเทอร์เน็ต เว็บบอร์ดก็กลายเป็นแหล่งรวบรวมความเห็นจากผู้คนในแวดวงต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ความสนใจเดียวกัน ซึ่งอาจถือว่า นี่เป็นเค้าโครงของโซเชียลเน็ตเวิร์ครุ่นแรกๆ ของยุคดิจิทัล

ทั้งเหตุบ้านการเมือง ไปจนถึงสารทุกข์สุกดิบ ก็พากันมากระจุกรวมกันบนพื้นที่เหล่านี้ เนื่องจากความที่สังคมระบบเลขฐานสองเปิดเสรีอย่างเต็มที่ อีกทั้งไม่ต้องแสดงตัวตนบนโลกนอกจอให้เห็น คุณสมบัติข้อนี้จึงทำให้โลกออนไลน์ทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะออกไป แต่ถึงอย่างนั้นความน่าเชื่อถือก็ยังคงขีดกรอบให้เรื่องบอกเล่าต่างๆ กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มอยู่

กระทั่งวันนี้ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตานอนชีวิตคนเรา (โดยเฉพาะพวกที่ได้ชื่อว่าคนเมือง) ผูกติดกับคอมพิวเตอร์อย่างชนิดที่แยกกันไม่ออก ลูกเล่น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น การเกิดขึ้นของ โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง ไฮไฟ เฟซบุ๊ค หรือกระทั่งไมโครบล็อกอย่างทวิตเตอร์ ก็ยิ่งช่วยให้คนเราแสดงออกได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่เคยถูกตั้งคำถามวันนี้ได้มลายหายไปส่วนใหญ่แล้ว ข่าวร้อนหลายข่าว ประเด็นดังๆ หลายประเด็น รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมใหญ่ๆ หลายครั้งเริ่มมีต้นธารมาจากโลกไซเบอร์มากขึ้น เว็บบอร์ดหลายเว็บกลายเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนจนแปรสภาพไปเป็นสถาบันที่มีน้ำหนักในการใช้อ้างอิงได้ไปโดยปริยาย

ความแข็งแรงที่เกิดขึ้นของเสียงบนโลกเสมือนที่มักดังเข้ามากระแทกหู (บางครั้งก็แทงถูกใจดำๆ ของใครหลายๆ คน) ผู้คนบนโลกจริง นั่นก็เพราะสิ่งที่ปรากฏเป็นความเห็นตรงหน้าจอนั้น ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกล้วนๆ ไม่ได้มีความหมายแฝง ซึ่งปัจจุบันประเด็นนี้ก็ถูกตั้งคำถามย้อนกลับไปยังโลกไซเบอร์โดยผู้คนบนโลกจริงเช่นกัน ผิดกับสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่อาจถูกความสงสัยว่าเล่นพรรคเล่นพวกเคลือบเอาไว้อยู่ได้ เคสซีเกมส์เมืองเวียงจันทน์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นเคย เสียงก่นด่าเกิดขึ้นมากมายหลังจากฟุตบอลทีมชาติไทยพลาดอะไรต่ออะไร ขณะที่ความเคลื่อนไหวบนหน้ากระดาษทำหน้าที่เพียงรายงานความเคลื่อนไหว (อาจมีวิพากษ์บ้างพองาม) แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เข้าสู่สภาวะปกติ

ไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคต เราอาจต้องมานั่งมองกันใหม่ก็ได้ว่า ตั้งแต่กรณีน้องอุ้ม ณ เมืองคานส์ นาธาน โอมาน ผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลทีมชาติไทย และกรณีอื่นๆ กรณีแล้วกรณีเล่า ที่เป็นประเด็นร้อนออนเน็ตนั้น จะกระแทกเข้าสู่ส่วนไหนของสังคม ให้กลายเป็นเสียงเงียบที่ดังกึกก้องต่อไป
huahinhub Thanks กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น