12.15.2552

| กระตุ้นความคิด ๑๒๙ (หนึ่งผลิตภัณฑ์ หลายตำบล)




หนึ่งผลิตภัณฑ์ หลายตำบล
โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล

วาสนา ปันยารชุน ผู้ปลุกปั้นของตกแต่งบ้าน แบรนด์ 'นายขวัญเมือง'
สบู่สมุนไพรหอมนุ่มน่าใช้ฝีมือเธอ
หากเมื่อย้อนเวลากลับไป เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว วาสนา ปันยารชุน เป็นคนแรกๆ ที่เริ่มนำผ้าท้องถิ่น ของใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้ามไปมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ ช่วยเปลี่ยนหมอนสามเหลี่ยมหน้าตาโบราณให้ดูไฉไล มีคาแรคเตอร์ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงผ้าห่มสีสดใสเย็บมือทั้งผืน เบาะรองนั่งหน้าตาเก๋ไก๋ ที่ผ่านการดั้นด้นเสาะหาทั้งวัตถุดิบและช่างฝีมือทั่วประเทศให้มารวมตัวกันอยู่ในผลงานเพียงชิ้นเดียว
ผู้หญิงร่างเล็กผิวแทน กระฉับกระเฉง แลดูอ่อนเยาว์เกินกว่าจะอายุสี่สิบปลายๆ คนนี้ก็คือเจ้าของไอเดียในการเนรมิตคิดค้นและปลุกปั้นสินค้าตกแต่งบ้านที่อบอวลไปด้วยกินอายท้องถิ่นภายใต้ชื่อ 'นายขวัญเมือง' ให้เป็นที่รู้จักกันทั้งตามหน้านิตยสารตกแต่งบ้านที่มักจะนำสินค้าของเธอไปแนะนำอยู่เนืองๆ ตลอดจนผู้คนทั่วไปที่ชื่นชอบผลงานแนวนี้

เธอย้อนเวลาให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง เธอเคยทำงานออฟฟิศอยู่ถึง 20 ปีเต็ม แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนช่วงฟองสบู่แตก ปี 2540 ในขณะที่เธออายุราว 35 ปี
“ตอนนั้นต้องชั่งใจว่าจะทำงานประจำต่อ หรือทำงานของตัวเองดี เราก็คิดว่า ถ้าเราทำงานประจำต่อไป เราคงต้องทำงานอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าแก่กว่านี้กว่าจะออกจากงาน เราคงไม่กล้าทำธุรกิจแล้ว ก็เลยออกมาทำเลย”

แต่ร้านเริ่มแรกของนายขวัญเมืองกลับเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าย่านทองหล่อที่เธอได้สั่งสมประสบการณ์และความชอบสมัยที่ช่วยพี่สาวทำร้านเฟอร์นิเจอร์ในขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำอยู่ได้ 2 ปี อะไรๆ ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ไหนจะจมทุน ไม่มีลูกค้า ประกอบกับอาการเบื่อหน่ายที่ต้องมานั่งเฝ้าร้านอ่านหนังสือทั้งวัน ในขณะที่เดิมเธอเป็นเลขานุการสาวสุดแอคทีฟที่คอยติดตามเจ้านายฝรั่งทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา

สินค้าตัวแรกที่ผ่านมือเธอจริงๆ จึงเกิดขึ้นตามมา นั่นก็คือ 'ธูปหอม' ที่มีจุดเด่นตรงการใช้สมุนไพรแท้ๆ ในการทำและมีกลิ่นหอมที่ปรุงเองกับมือ ซึ่งวางขายในร้านใหม่ที่สวนจตุจักรหลังปิดร้านเดิมไปด้วยอาการขาดทุนอย่างแรง

และภายในพื้นที่ร้านเพียงไม่ถึง 10 ตารางเมตรนี่เอง ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเธอได้มากกว่าร้านหรูกลางใจเมือง “เราอยากขายของที่ตัวเองมีกิจกรรมทำ ได้ตระเวนไปนู่นมานี่ ได้ทำเอง ได้เคลื่อนไหว เพราะเราเป็นคนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง”

ผลิตภัณฑ์ที่ทยอยออกมาในช่วงหลัง จึงผ่านการเดินทางทั่วสารทิศของผู้หญิงชอบเที่ยว และแวะไปเรื่อย จนกลายมาเป็นที่มาของสินค้านานาชนิดในร้าน อาทิ ผ้านวมผืนสวยต้องไปเย็บที่ลำพูน เพราะฝีมือดี ส่วนฝ้ายต้องซื้อจากเชียงคาน (เท่านั้น) มายัดไส้ผ้านวม หรือ หมอนขิด (หมอนสามเหลี่ยม) ซื้อผ้าถุงหลายไม่เหมือนใครมาจากร้านเล็กๆ เจ้าประจำทางภาคใต้ก่อนจะมาเย็บที่ยโสธรด้วยฝีมือของช่างท้องถิ่นที่คุ้ยเคยฝีมือกันดี ฯลฯ

เรียกว่า กว่าจะได้ของออกมาแต่ละชิ้นก็ต้องไปมากกว่า 1 จังหวัด ซึ่งดูเหมือนจะเหนื่อยและไม่คุ้มเท่าไหร่นัก หากมองว่าสินค้าในร้านนั้นไม่แพงอย่างที่คิด เริ่มตั้งแต่สบู่ทำมือราคา 60 บาท ไปจนถึงผ้านวมด้นมือทั้งผืนราคา 4,500 บาท “เราทำเพราะเราชอบ ไม่ได้ทำเพราะเห็นคนอื่นทำแล้วขายได้ อะไรที่ไม่ถนัด เราก็ไม่ทำ ไม่ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ"

ผู้หญิงร่างบางคนนี้จึงขับรถกระบะคู่ใจ ไปมาแล้วเกือบทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย โดยแบ่งเวลาของเธอในช่วงวันธรรมดาอยู่ที่การออกแบบ คิดแบบ ทำสินค้าเอง (บางอย่าง) หรือไม่ก็ไปหากลุ่มแม่บ้านตามจังหวัดต่างๆ ส่วน ศุกร์-เสร์-อาทิตย์ อยู่ประจำขายของที่จตุจักร

ด้วยความที่สินค้าในร้านมีความเป็นเอเชียสูง ลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซนต์ของร้านจึงเป็นชาวต่างชาติ ที่เหลือเป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งชื่นชอบงานสไตล์นี้ ดังนั้นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจึงเป็นช่วงที่ร้านมียอดขายสูงถึงเดือนละ 2 แสน จากการขายเพียง 8 วันที่นี่ที่เดียวสาขาเดียว แต่ความฝันของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งยังไม่หยุดเท่านี้

"ทุกวันนี้ก็มีความสุขดี แต่ยังไม่พอ (หัวเราะ) ยังอยากมีร้านกาแฟเล็กๆ ชงเอง ล้างเอง อยู่ใกล้ภูเขา เพราะเราคิดว่า วันหนึ่งเราก็ต้องเลิกทำตรงนี้ เพราะอายุเยอะขึ้น ไฟหมด ขนของไม่ไหว ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำตลอดไป"
การเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต และเมื่อท่วงทำนองชีวิตเดินไปถึงจุดนั้น ที่เหลือก็แค่ทำความเข้าใจและใช้ชีวิตต่อไปในแบบของตัวเอง
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น