4.02.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๑๐ (ถุงปุ๋ย เพื่อชีวิต)



เก็บมาฝากกันอีกครั้ง กับไอเดียดีดีเพื่อการประกอบสัมมาอาชีพของชาวหัวหิน...
ครั้งนี้เป็น ผลงานจากไอเดียนักศึกษา สาขาออกแบบพัสตราภรณ์ มธ. นำวัสดุจากธุรกิจครอบครัว ประยุกต์ทำกระเป๋ามีดีไซน์สุดเก๋

ระหว่างวันที่ 24-29 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีงานแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์และผลงานนักศึกษา สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่องาน 'HYPNOSIS'

หนึ่งในผลงานน่าสนใจที่นำมาฝากในวันนี้เป็นของ ดนัยา คงลาภอำนวย ในชื่องาน 'การอยู่ร่วมกันของความแตกต่าง' โดยผลงานทั้งหมดจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าดีไซน์เก๋ๆ ดูไกลๆ ให้อารมณ์ราวโป รดักแบรนด์ดังจากต่างแดน เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงพบว่ากระเป๋ามีดีไซน์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่คุ้นตาอันได้แก่ 'ถุงปุ๋ย'

"ที่บ้านเป็นโรงงานทำพลาสติกที่ใช้ทำถุงปุ๋ย หรือแผ่นคลุมของ แต่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เลยลองนำมาประยุกต์เป็นงานแฮนด์เมด"

ดนัยา บอกว่า งานชิ้นแรกที่เธอทดลองนำวัสดุจากธุรกิจของครอบครัวมาเติมดีไซน์ ได้แก่การนำผืนพลาสติกเหล่านี้มา 'ตีเกร็ด' เพื่อเพิ่มมูลค่า

"ใช้เวลาค่อนข้างมากตอนการออกแบบว่าตีเกร็ดแบบไหนถึงจะออกมาดูดี ซึ่งก็ทำออกมาหลายแบบ เป็นการเพิ่ม texture และมูลค่าให้กับผ้าพลาสติก ตอนลงมือทำจริงก็ลำบากเหมือนกัน เพราะพลาสติกแบบนี้ใช้กรรไกรตัดไม่ได้ มันจะลุ่ย ต้องใช้เครื่องตัด" เจ้าของผลงานเล่าขั้นตอนและอุปสรรคในการทำงาน

หลังจากใช้วิธีการตีเกร็ดสำหรับกระเป๋าเซ็ตแรก ลำดับต่อไป ดนัยา ทดลองนำเส้นพลาสติกมาทอมือสลับกับเส้นไยฝ้ายและไหม ทำให้ได้ผืนผ้าที่มีกลิ่นอายพื้นบ้านงานทำมือ และเพิ่มเสน่ห์ตรงประกายจากพลาสติกที่สอดแทรกอยู่ และบางชิ้นเติมลูกเล่นโดยการ 'เซาะ' เส้นใยเพื่อให้หลุดลุ่ยดูเซอร์อยู่ในที

ความสวยงามยังอยู่ที่สีสัน ซึ่ง ดนัยา บอกว่า เธอไม่ได้ออกแบบไว้แต่ต้น แต่จะเปลี่ยนสีตาม 'ความรู้สึก' ในขณะที่ทอผืนผ้า

"เวลาทอ ไม่ได้กำหนดว่า 3-4 เซนติเมตรแล้วจะเปลี่ยนสี เพราะจะใช้วิธีทอไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันควรจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน"

ผลิตภัณฑ์กระเป๋าเซ็ตที่สาม พัฒนาไปอีกขั้น โดยการตัดเย็บแบบใหม่ๆ เช่น การจับสม็อกผ้า ให้ดูมีวอลลุ่ม ก่อนจะนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าใบสวย

"การออกแบบกระเป๋าจะเน้นที่ใช้งานได้จริง โดย adapt จากแบบในท้องตลาด แต่โดยส่วนตัวชอบกระเป๋าใบใหญ่ งานที่ออกมาส่วนมากเลยเป็นกระเป๋าขนาดใหญ่ แต่ก็มีบางชิ้นเหมือนกันที่ส่งแบบไปให้ช่างแล้วเขาทำผิดไซส์ ทำให้มันใบใหญ่มาก จนแทบใช้งานจริงไม่ได้" ดนัยา เล่าถึงผลงานวิทยานิพนธ์ชุดนี้ที่แต่ละใบมีขนาดประมาณ 40-50 นิ้ว ซึ่งเป็นกระเป๋าที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ตามรสนิยมของเจ้าของผลงาน

ผลงานทั้ง 34 ชิ้นในชุดวิทยานิพนธ์ของ 'ดนัยา' เธอบอกว่าใช้เวลาทำเทอมกว่าๆ หลังจากส่งผลงาน และจัดแสดงนิทรรศการแล้วเสร็จ เธอมีแผนที่จะพัฒนางานเหล่านี้สู่วิชาชีพต่อไปในอนาคต

"ตอนแรกคิดว่าหลังเรียนจบอยากพักก่อน เพราะตอนทำวิทยานิพนธ์เหนื่อยมาก ทำจนป่วยไปหลายรอบคะ แต่พอมาโชว์แล้วฟีดแบ็คดี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ และดีไซเนอร์มาสอบถามเยอะ ตอนนี้เลยเตรียมสั่งกี่ทอมือจากต่างประเทศ เพราะคงไปใช้ของมหาวิทยาลัยไม่ได้แล้ว"


ขอบคุณภาพและข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น