4.28.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๒๐ (มังสวิรัติจัดเลี้ยง)


“ป้าตา” นักจัดเลี้ยงมังสวิรัติสไตล์ล้านนา กับความสำเร็จของชีวิตและธุรกิจบนแนวคิดพอเพียง

การใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย ตั้งตัวทำมาหากินให้ได้ คือปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืนและน่าจะปลอดภัยที่สุดในสภาพสังคมและเศรษฐกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ คุณจำเนียร เอี่ยมเจริญ หรือที่ใครๆ เรียกว่า “ป้าตา” แห่งเมืองเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของผู้ที่สร้างวิถีชีวิตและการทำกินแบบเรียบง่ายแต่ได้คุณภาพ

ทุกวันนี้ธุรกิจของเธอประสบความสำเร็จจากแนวคิด “ความพอเพียง” แล้วอย่างสวยงาม ป้าตาเป็นเจ้าของฝีมือและสูตรอาหารมังสวิรัติอันเลื่องชื่อของเชียงใหม่ เธอผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก เคยค้าขายทำธุรกิจส่งออกมาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบกับสัจธรรมแห่งชีวิต จึงตัดสินใจย้อนวิถีชีวิตของตัวเองมาอิงกับธรรมชาติและพึ่งพาสิ่งธรรมดารอบตัว

ทุกวันนี้ป้าตารับประทานอาหารมังสวิรัติ ปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดี งานหลักคือการปฏิบัติธรรม ทำอาหารไปวัด ส่วนงานรองที่ทำเลี้ยงชีพ (และสนับสนุนงานหลักไปด้วย) ก็คือ “การรับจัดเลี้ยงอาหารมังสวิรัติ” ซึ่งป้าตาทำแบบ “พอเพียงแต่เต็มที่” ของดีมีคุณภาพเช่นนี้จึงไม่ต้องโฆษณา แค่ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก ป้าตาก็เลี้ยงตัว เลี้ยงคน ออมเงินทำบุญและใช้ชีวิตอยู่ได้แบบสบายๆ


ธุรกิจคุณภาพของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ป้าตารับงานจัดเลี้ยงในอีเวนท์น้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานเทศกาลระดับอำเภอ ระดับจังหวัด งานของรายการโทรทัศน์ งาน APEC งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ งานเลี้ยงรับรองศิลปินแห่งชาติ และงาน 40 ปีโครงการหลวง (พ.ศ. 2552) ฯลฯ

ตัวป้าตาเองนั้นถนัดอาหารมังสวิรัติ แต่ใช่ว่าป้าตาจะรับทำแต่ซุ้มอาหารมังสวิรัติเท่านั้น ทีมงานของเธอสามารถรองรับงานเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มีความต้องการหลากหลายได้ด้วย เช่น หากงานนั้นต้องการทั้งซุ้มอาหารมังสวิรัติ อาหารเนื้อสัตว์ อาหารหวาน เครื่องดื่ม และการตกแต่งสถานที่ (จัดดอกไม้) เธอก็จะจัดทีมที่มีความถนัดเฉพาะทางต่างๆ มาเสริม โดยตัวป้าจะเป็นผู้คุมคอนเซ็ปท์งานทั้งหมดให้เข้ากัน (แน่นอนว่าต้องเป็นแบบพื้นบ้านเมืองเหนือ) ซึ่งทีมงานดังกล่าวก็หาใช่พนักงานที่ผูกพันกันในรูปแบบบริษัทไม่ หากแต่เป็นคนทำอาหารคาวหวาน คนทำมาค้าขายที่รู้จักมักคุ้นกันดีในชุมชน (รู้ฝีมือกันดี) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ป้าตาบอกว่า “รายได้ของธุรกิจนี้ก็จะกระจายและวนเวียนอยู่ในชุมชนนั่นเอง”

ยึดมั่นเอกลักษณ์ - ประยุกต์ตามกลุ่มผู้บริโภคเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ป้าตาจะถามคอนเซ็ปท์งานก่อนเป็นอันดับแรกว่างานนี้กลุ่มลูกค้าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ ป้าก็จะทำอาหารให้หน้าตาดูสากลหน่อย เช่น ถ้าจะทำไส้อั่ว ก็จะนำข้าวเหนียวมาห่อไส้อั่วแล้วตัดเป็นคำๆ เหมือนอาหารญี่ปุ่น หรือถ้าจะทำออเดิร์ฟเมือง ก็จะจัดเป็นคำๆ แบบคานาเป้ อย่างไรก็ตามป้าตาจะยึดมั่นในเอกลักษณ์ของตนเสมอ นั่นก็คือการจัดงานใน “บรรยากาศล้านนา” โดยนำข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านและของจากธรรมชาติมาใช้ เช่น เสื่อ เก้าอี้ไม้ไผ่ กระบุง กระจาด จานไผ่สาน โตก ภาชนะใบตอง กระบอกไม้ไผ่ (แทนแก้วน้ำ) เป็นต้น ซึ่งเธอเล่าว่า “จัดงานคราวใดก็มีคนติดใจขอภาชนะกลับบ้านไปทุกที”

สมาธิจิต + การเดินทาง ที่มาของสูตรอาหารและรสชาติเฉพาะตัวป้าตาเล่าว่าเวลาเธอทำอาหารก็จะฝึกสมาธิกับการทำอาหาร มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เมื่อมีสมาธิดี มีจิตดี ความอิสระในการสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นเอง ทีนี้พอลองทำอะไรก็ทำได้อร่อย

“อาหารมังสวิรัติเป็นอาหารที่สะอาดทั้งกายและใจ และเป็นได้ทุกอย่าง ทุกรส ทุกสัมผัส ไม่ใช่ว่าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วจะทำให้เราถูกจำกัดจากความอร่อย” ป้าตาว่าอย่างนั้น พร้อมยกตัวอย่างวิธีทดแทนความอร่อยจากเนื้อสัตว์ 2-3 วิธี“เป็ดพะโล้ เราใช้ฟองเต้าหู้มาทาน้ำพะโล้ สลับกับเห็ดหอมซอย ทำแบบนี้ 4-5 ชั้น ม้วน ห่อผ้า เชือกมัด แล้วตุ๋นในน้ำพะโล้ พอระหว่างชั้นสมานกันดีก็นำขึ้นไปทอด หั่น ราดน้ำ วางเครื่องเคียง ก็เป็นอันใช้ได้”“ปลาดุกฟู ใช้เต้าหู้ขูดฝอย เห็ดหั่นละเอียดและสาหร่าย ผสมกันเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่ใกล้เคียงแล้วนำไปทอดกรอบ“น้ำพริกกะปิ ใช้ไข่เค็มแทนกะปิแล้วทำทุกอย่างเหมือนน้ำพริกกะปิ แต่ใส่ซีอิ๊วขาวหรือเกลือแทนน้ำปลา เติมน้ำตาลเพื่อเรียกความกลมกล่อมออกมา”

ส่วนสูตรอาหารแปลกๆ นั้นได้มาจากประสบการณ์ท่องเที่ยว ป้าตานำสิ่งที่พบเห็นเวลาเดินทางมาประยุกต์ทำเป็นสูตรอาหารของตน ปรุงรสได้ถูกปากถูกใจ กระทั่งนิตยสาร Health & Cuisine ยังติดต่อให้ลงสูตรเป็นประจำในนิตยสาร“ป้าชอบเที่ยวตลาด ไปแถบชายแดนพม่าบ้าง ไทใหญ่ เชียงตุง หรือแถบอีสานบ้าง ได้เห็นอาหารเขาที่ดีต่อสุขภาพ วิธีทำก็เรียบง่าย ป้าก็รู้สึกสนใจ อย่างเช่น ข้าวพันผักของบ้านลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ป้าตาไปเห็นก็จำมาทำเอง ใส่ผัก ใส่ไข่ ใช้แป้งละเลงเหมือนแผ่นก๋วยเตี๋ยว แล้วก็ใส่ผักนึ่งห่อเป็นสี่เหลี่ยม ราดน้ำซอส 3 ชนิด แนมแคบหมู (เจ) โรยกระเทียมเจียว แค่นี้ก็อร่อยแล้ว

หรืออย่างตอนที่ไปสิบสองปันนา เห็นเขาทำข้าวแลงฟืน เราก็ลองทำดู สูตรนี้ทำจากถั่วลันเตา นำมาโม่เติมน้ำ ทิ้งให้ตกตะกอนแล้วนำแป้งที่ได้มากวน ชิมรส เทใส่ถาดทิ้งไว้ให้เย็น ส่วนรสชาติเราก็ปรุงเอาให้ถูกปากคนบ้านเรา”“มังสวิรัติที่รับประทานแล้วอร่อยอยู่ที่การปรุง พอเราทำบ่อยๆ ก็จะคิดออกว่าถ้าอยากให้ได้รสนี้สัมผัสนี้ ควรต้องมีอะไรและทำอย่างไร” อาหารของป้าตาเป็นอาหารที่มีไว้เพื่อเอาชนะอาหารเนื้อสัตว์ เพราะมีรสชาติที่อาหารเนื้อไม่มี แต่ก็มีรสชาติที่อาหารมังสวิรัติทั่วไปไม่มี หลายคนว่าไว้อย่างนั้น


ฝ่าความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับอาหารมังสวิรัติการทำอาหารมังสวิรัติจัดเลี้ยงของป้าตาประสบความสำเร็จด้วยการฝ่าความเชื่อเดิมๆ ที่คนมักว่ากันว่า
1. อร่อยสู้เนื้อสัตว์ไม่ได้ ป้าตาบอกว่า “ถ้าคนไหนทานอาหารมังสวิรัติแล้วไม่อร่อย แสดงว่าคนทำยังตระหนี่อยู่ คือไม่ทำให้ถึงเครื่องถึงรส คนจะทำอาหารมังสวิรัติให้ดีต้องฝึกใจไม่ให้ตระหนี่ ใส่ของให้เต็มที่และใช้ของดีๆ
2. คนเขาไม่กินกันหรอก ป้าตาบอกว่า “ไม่จริง ตั้งแต่มาทำอาหารมังสวิรัติมีคนตามตัวไปทำงานเยอะมาก เพราะเขาอยากได้อาหารอย่างที่เราทำ แต่ไม่รู้จะหาจากที่ไหน”
3. ทำดีไปกำไรหด ป้าตาบอกว่า “แค่คุณคิดอย่างนี้ก็ขาดทุนแล้ว ลองทำออกมาขายก่อนเถอะ ได้ขายเมื่อไหร่ กำไรรออยู่ คุณต้องสร้างความศรัทธาในตัวเอง แล้วลูกค้าถึงจะศรัทธาในตัวคุณ เมื่อเขาได้ทานของดีแล้วเขาก็จะติดใจและกลับมาอีก เราต้องได้ใจคนก่อนแล้วกำไรจะตามมา ของไม่ดีขายถูกแค่ไหนก็ไม่มีใครอยากกิน ขาดทุนอยู่ดี”

จะเห็นว่าการคิดต่างเป็นที่มาของธุรกิจที่มีความเฉพาะตัวสูงเสมอ แต่ที่สำคัญความต่างนั้นต้องมาพร้อมกับคุณภาพ จึงจะพาให้ธุรกิจเดินสู่ความสำเร็จได้ สุดท้ายต้องขออภัยสำหรับท่านที่ต้องการติดต่อป้าตาเพื่องานเลี้ยงครั้งต่อไป เราไม่สามารถลงเบอร์ติดต่อให้ได้ เพราะป้าตายืนยันว่า “เพื่อเน้นคุณภาพ ขอรับลูกค้าแบบปากต่อปากเท่านั้น” …แค่นี้ป้าตาก็พอใจแล้ว
hhhhhhhhh

ภาพบรรยากาศในงาน 40 ปีโครงการหลวง ลานน้ำพุหน้าสยามพารากอน วันนี้ - 1 มีนาคม 2552
จับประเด็นเด่นกับอาหารมังสวิรัติจัดเลี้ยง
1. ประสบการณ์(ที่ดี)ของลูกค้า คือการตลาดที่มีพลังที่สุด เพราะความประทับใจเป็นที่มาของโฆษณาแบบปากต่อปากซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง
2. การลงทุนในตัวเองให้ประโยชน์ในระยะยาว นอกเหนือจากการลงทุนด้านอื่นๆ อย่าลืมเพิ่มเติมทักษะเฉพาะด้านให้กับตัวเอง เช่น ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย จัดสวน ฯลฯ ถือเป็นการลงทุนในตัวเอง เป็นฝีมือติดตัวที่ไม่สูญหาย และยังนำมาใช้สร้างอาชีพให้กับตัวเองได้
hhhhhhhhhhhhh
บรรยายไม่ถูกละ...หวัวว่าพี่น้องชาวหัวหินคงได้รับอะไรดีดี จาก 'ป้าตา' ที่ huahinhub หยิบยกมาฝากกัน....สวัสดี
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.tcdcconnect.com huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น