4.28.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๑๙ (บทสรุป อร่อยริมทาง)




ตอนนี้ huahinhub เสนอบทสรุป การจัดนิทรรศการ 'กินไปเรื่อย อร่อยริมทาง' ซึ่งจัดแสดงดดย TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มาฝากพี่อน้องชาวหัวหินที่เคารพรักกัน

เรื่องของเรื่อ ได้ความว่าอย่างไร ไปติดตามกันนะ.....


กินอย่างไทยจะไปไหนต่อ?
เจาะลึกแนวคิดทีมภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ Quick Bites: Design for Better Eating April 27th, 2009



เหตุที่TCDC เลือก “วิถีอร่อยริมทาง” มาจัดเป็นนิทรรศการ
มุมหนึ่ง เนื่องว่า วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ผู้คนต้องการจะ get back to basics หลายคนที่เคยตกเป็นทาสของอุตสาหกรรมการเงิน ก็อยากกลับมาพึ่งวิถีใกล้ตัว นอกจากนั้น ยังสังเกตได้ว่า มีแรงงานต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยที่พอว่างจากการทำนา ก็หันมาเป็นแม่ค้าหาบเร่ แสดงว่า วิถีตรงนี้เชื่อมต่อถึงกลุ่มรากหญ้าได้

ส่วนในอีกมุมหนึ่ง วัฒนธรรมการกินเป็นจุดบวกของสังคมไทยอยู่แล้ว เป็น habit หนึ่งของคนไทย ฉะนั้น มันมีโอกาสที่จะต่อยอดออกไปได้ทั้งในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ดีไซน์ นวัตกรรม ธุรกิจ และการจัดการ มีหลากหลายประเด็นในวิถีการกินริมทางของไทย ที่เราอยากให้คนได้คิดพัฒนาต่อ เราจะทำอะไรได้บ้างให้ประสบการณ์การบริโภคของผู้คน และความสะดวกสบายของผู้ค้ามีคุณภาพยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน

นี่คือ ที่มาของนิทรรศการนี้ครับแน่นอนว่าเรื่องปากท้องสำคัญกับมนุษย์ทุกชาติพันธุ์แต่กับคนไทยคุณเห็นความสัมพันธ์พิเศษอะไรระหว่าง “การดำเนินชีวิต” กับ “วิถีการกิน” ตรงนี้คนไทยกินกันทั้งวัน เราสื่อสัมพันธ์กันด้วยการกิน อยากเจอกันก็นัดกินข้าว เปียแชร์ก็นัดกินข้าว อะไรๆ ก็นัดกินข้าว ไปเที่ยวไหนก็ต้องเตรียมอาหารไปด้วย หาเรื่องกินกันตลอด ลองสังเกตคนไทยที่ไปเที่ยวน้ำตก ไปเที่ยวชายหาด เขาต้องเตรียมเสื่อไปปูนั่งกินข้าวด้วยเสมอ

ส่วนหนึ่งอาจมาจากความอุดมสมบูรณ์ของภูมิประเทศเขตร้อนด้วย คือ มันมีของให้กินได้เยอะ แต่ด้วยความที่อากาศร้อนเราจึงกินกันครั้งละน้อย ก็ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรม เป็นวิถีการกินของไทยเราขึ้นมา


ส่วนเอกลักษณ์ของหาบเร่แผงลอยไทยที่ชาติอื่นไม่มี คือ
แม่ค้าไทยมีวิญญาณนักประดิษฐ์ รู้จักผสานวิถีดั้งเดิมเข้ากับสิ่งละอันพันละน้อยจากยุคผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ออกมาเป็นของแปลกๆ ที่จะเห็นได้ในนิทรรศการนี้ เช่น วิธีการหิ้วที่เริ่มจากการใช้เชือกกล้วยหิ้วของทุกอย่าง ตั้งแต่ผลไม้ยันน้ำอ้อยในกระบอกไม้ไผ่ ต่อมาก็พลิกแพลงมาหิ้วกระป๋องนม หิ้วโจ๊ก ฯลฯ เขาจะเอาของอย่างหนึ่งมาประยุกต์ใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ

จะว่าไปก็คือ Reuse หรือ Adapting concept ในยุคแรกๆ นั่นเอง เห็นมั้ยว่าฝรั่งก็ไม่ได้เก๋ไก๋อะไรหรอก เรื่อง Reuse นี่แม่ค้าไทยเราทำกันมานานแล้ว

แต่ที่น่าเจ็บใจคือ “ทำไมเราไม่คิดต่อ” อย่างเรื่องการหิ้วที่เราพัฒนาจากยุค “กระป๋องกับเชือกกล้วย” มาสู่ยุค “ถุงพลาสติกกับหนังสติ๊ก” ได้แล้ว ทำไมจึงไม่มีใครคิดตีความและต่อยอดวิวัฒนาการนี้ออกไปอีก เช่น อาจทำ Bag Cup ขึ้นมา (ที่ไม่ใช่ Bag with a cup) แค่นั้นก็จะเป็นอีกก้าวเล็กๆ ของนวัตกรรมไทย ที่ไม่ต้องมี “ถุงกับถ้วย” แต่ทำ “ถุงที่เป็นถ้วย” ขึ้นมาเลย เพิ่มขีดความสามารถมันขึ้นอีก คือ จะแขวนก็ได้ จะตั้งให้ยืนเองก็ได้ อะไรแบบนี้เป็นต้น


ความคาดหวังอยากให้ผูู้ชมคิดหรือทำอะไรต่อไปหลังจากชมนิทรรศการ

อยากให้คนไทยระลึกได้ว่า “ขุมทรัพย์อยู่รอบตัว” ถ้าเรารู้จักที่จะตีความมัน อันดับแรกต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติก่อน อย่าไปเบื่อหน่ายของเก่าๆ เดิมๆ เราควรจะมองมันด้วย passion ใหม่ๆ บ้าง

ในฐานะดีไซน์เซ็นเตอร์ TCDC อยากส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนา ซึ่งคงต้องไปทำการสำรวจเบื้องต้นกันก่อน มองหาจุดแข็งจุดอ่อนและความเป็นไปได้ต่างๆ บางทีการพัฒนาต่อยอดมันเป็นไปได้สองทาง จะเดินหน้าพัฒนาของเดิมๆ ให้ตอบโจทย์สมัยใหม่มากขึ้น หรือจะเอาแรงบันดาลใจจากของเก่ามาใส่ในของใหม่ก็ได้ เช่น ถ้าพูดถึง “ข้าวเหนียว” แล้ว ระหว่างกระบอกไม้ไผ่ กระติ๊บ กับกระติก Ice Cooler อันไหนจะทำให้ข้าวเหนียวอยู่ได้นานกว่า อร่อยกว่า เก็บความชื้นได้ดีกว่า แล้วก็เปรียบเทียบต้นทุนการผลิตด้วย


TCDC มีกลยุทธ์การเสาะหาและเลือกสรรผลงานมาประกอบนิทรรศการอย่างไร
เราจะตั้งสมมติฐานขึ้นก่อน ทำโครงของนิทรรศการให้รู้ว่า เราต้องการให้คนได้สัมผัสอะไรบ้าง ถึงจะตัดสินได้ว่าเราต้องนำเสนอเนื้อหาในแง่มุมใด เช่น Historical aspect, Social phenomena, Creative economy เสร็จแล้วก็ไปค้นคว้า กระจายโจทย์ออกไป ถึงได้มาเป็นเรื่องของแดงแหนมเนือง ชายสี่หมี่เกี๊ยว และอื่นๆ
ทำไมหาบเร่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงต้องเป็นรถเข็นมีล้อเหตุผลข้อแรกคือ ความสะดวก เป็นตัวช่วยที่ง่ายที่สุดในต้นทุนที่แม่ค้ารับได้ในตอนนี้ (จากการสำรวจ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8400 บาท ต่ำสุด 2400 บาท) แม่ค้าสามารถเตรียมของสดที่บ้าน ทำ food prep อะไรๆ เสร็จแล้วก็เข็นมาขาย ขายเสร็จก็เข็นกลับบ้าน ซึ่งถ้าเขารวยขึ้นเขาก็จะปรับให้รถเข็นมีออพชั่นที่มากขึ้น

ข้อสองคือ บ้านเรือนคนไทยอยู่ในตรอกซอกซอยกันมาก รถยนต์ไปไม่ถึงบ้าง ไม่สะดวกบ้าง แต่รถเข็นไปได้หมด สามารถสร้างเครือข่ายลูกค้าได้ลึกกว่า ถึงหน้าบ้านจริงๆ


แนวโน้มของหาบเร่ในอนาคต ?
TCDC คิดว่า แนวโน้มรูปแบบของหาบเร่คงยังไม่เปลี่ยนตราบใดที่ลักษณะสังคม ที่อยู่อาศัย ถนนหนทางยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่รถเข็นในอนาคตจะมีฟังก์ชั่นที่เพิ่มขึ้น อาจมีแผงลอยแบบ backpack เก็บหนีเทศกิจได้เร็ว

ฝันอยากเห็นรถเข็นพัฒนาไปอย่างไรอยากเห็นฟังก์ชั่นหรือวัสดุใหม่ๆ อาจมีรถเข็นที่ต่อประกอบแบบเลโก้ เป็น modular system ที่ต่อได้เองตามความต้องการของแม่ค้า เพิ่ม-ลดฟังก์ชั่นได้เรื่อยๆ จัดแบ่งขายเป็น catergory ก็ได้ หรือมีวัสดุใหม่ๆ ที่น้ำหนักเบาแต่ราคาไม่แพง ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องทำการวิจัยกันให้มากๆ ก่อน ทำเวิร์คชอปกัน พัฒนารถเข็นให้มีทั้งฟังก์ชั่นและลุคที่เข้ากับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย

ฝันอีกอย่างคือ อยากให้คนไทยสร้างชื่อจากรถเข็นขึ้นมาได้ แต่ไม่ให้มันกลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีพ่อค้าครองตลาด อยากให้เป็นในสไตล์ Social Entrepreneurship (ผู้ประกอบการสังคม) พัฒนานวัตกรรมในแบบ Open source เหมือนกับ Linux system คือช่วยกันคิด ช่วยกันทำ คนทุกระดับเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์จากมันได้


วิถีอร่อยแบบไหนน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต
คิดว่า วิถีอร่อยข้างถนนคงเป็นคลื่นที่ซัดต่อไปอีกนาน ตราบใดที่เมืองยังคงเป็นเมือง และคนยังต้องออกมาทำงานนอกบ้าน นอกจากว่าโลกหรือโมเดลสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงจากทุกวันนี้

แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นเทรนด์หลักในอนาคตก็คือ ผู้คนจะบริโภคอย่างมีคุณภาพมากขึ้น จะย้อนกลับไปตั้งคำถามหลายๆ อย่าง ย้อนสู่วิถีการผลิต ย้อนสู่วิธีการเกษตร ย้อนสู่การดูแลชาวไร่ชาวนา ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด ต่อไปเราต้องคิดถึงคุณภาพกันในทุกมิติ ต้องออกแบบกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบให้ดี

ท้ายสุดอยากฝากข้อคิดอะไรกับผู้ชมนิทรรศการในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก เราทุกคนต้องอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของกระบวนการบริโภคนี้ เราสร้างผลกระทบกับคนอื่นได้ และรับผลกระทบจากคนอื่นด้วย ฉะนั้น อยากให้ทุกคนลองมองดูว่าตนจะมีส่วนสร้างสรรค์ มีส่วนรับผิดชอบ มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม หรือคุณภาพของโลกใบนี้มันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง





และนี้คือบทสรุป จากนิทรรศการ 'กินไปเรื่อย อร่อนริมทาง' นิทรรรศการสำหรับชาวบ้านร้านตลาด ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม รวมทั้งการเป็นข้อมูลชั้นดี ของการต่อยอดเพื่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มารังสรรค์การทำมาหากิน ของพี่น้องชาวไทย ได้อย่างน่าชื่นชม

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.TCDCCONNECT.COM
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น