4.20.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๑๑ (กินไปเรื่อย อร่อยริมทาง)





กลับมาบอกกล่าวสิ่งดีดีกันอีกแล้ว คราวนี้ชาวบ้านร้านตลาด ชาวหัวหิน จะพลาดเสียมิได้ เนื่องจาก TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ได้บรรจงจัดนิทรรศการ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และการกินการอยู่ ของเรื่องกินกินแบบหาบเร่แผงลอย ที่เห็นกันดาษดื่น แต่รู้หรือไม่ สามารถทำยอดขายรวมกันได้ มากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี เชียว เอ้าไม่รอช้า huahinhub จะได้พาไปชมกัน


"เจาะวิถีอร่อยริมทาง" พัฒนาการอาหารรถเข็น การกิน-อยู่ของคน กทม.
เพราะ "อาหาร" เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ และมีความสำคัญอย่างมากในชีวิตของคนเรา และถือเป็น "เรื่องใหญ่" ทีเดียวสำหรับหลายคน ถึงขนาดพูดกันเล่นๆ แต่ซีเรียส ว่า "กิน-เรื่องใหญ่ ตาย-เรื่องกลาง ตะราง-เรื่องเล็ก" แต่ละคนต่างมีวิถีและวิธีกินที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ฐานานุรูป บางคนเลือกที่จะกินอาหารหรูตามโรงแรม บางคนเลือกที่จะทำกินเองที่บ้าน แต่ในหลายๆ วิถีนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่กินอาหารตามบาทวิถีริมทาง หรือ รถเข็นริมทาง "นั่นเพราะชีวิตประจำวันอันเร่งรีบประการหนึ่ง สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ประการหนึ่ง ทำให้ อาหารรถเข็นริมทาง เป็นทางเลือกที่หนีไม่พ้น" และนอกจากนั้น ยังมีการขายอาหารริมทางในอีกหลายรูปแบบ อาทิ หาบเร่ แผงลอย หรือรูปแบบดิลิเวอรี่ ฉะนั้น อาหารริมทางจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญเอาการ นอกจากรสชาติแล้ว เรื่องของ "บรรจุภัณฑ์" ก็ทำให้อาหารริมทางอาจดูดีมีสกุลขึ้นมาได้…

เชื่อหรือไม่ คนกรุงเทพฯ กินอาหารหาบเร่แผงลอย ในมูลค่าหมุนเวียนกว่า 150 ล้านบาทต่อวัน หรือ 54,750 ล้านบาทต่อปี ความสรรจะกินและกินทั้งวัน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมชั้นยอดที่ปลอดรางวัลโนเบล แต่สามารถเลี้ยงปากท้อง ส่งลูกเรียนเมืองนอกจบมาแล้วหลายคน พิสูจน์ความ “เวิร์ก” ของบรรจุภัณฑ์ฉลาดใช้ที่ประยุกต์จากของใกล้ตัวเพื่อลดต้นทุน ใครจะคิดว่านักประดิษฐ์ริมฟุตบาทจะสรรสร้างกลยุทธ์การตลาดเพิ่มยอดขายได้อย่างน่าอัศจรรย์ พบกับตำนานสู้แล้วรวยของธุรกิจดีลิเวอรี่ที่พัฒนาจากหาบเร่สมัยก่อนคุณทวด จนถึงเครือข่ายซาเล้งผลไม้




TCDC เปิดนิทรรศการ “กินไปเรื่อย…เจาะวิถีอร่อยริมทาง” (Quick Bites: Design for Better Eating)
เป็นนิทรรศการที่มุ่งเจาะลึก “วิถีกิน” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีชีวิตคนเมือง” อันเป็นจุดกำเนิดหรือแหล่งที่มาของธุรกิจบนความอิ่มท้อง ทั้งในรูปแบบของหาบเร่แผงลอยไปจนถึงธุรกิจเดลิเวอรี่ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจทำเงินที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อวันได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมต่อปีสูงถึง 54,750 ล้านบาท

และจากตัวเลขนี้เอง ทำให้ทาง TCDC ได้เล็งเห็นถึงช่องทางและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ตลอดจนแนวทางใหม่ๆ ในการต่อยอดพัฒนาเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจหาบเร่แผงลอยทั่วกรุง ด้วยการจุดประกายและประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น”

นิทรรศการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ทาง TCDC มุ่งหวังให้คนไทยเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งใกล้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาไทยในการคิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์กับชีวิตส่วนตัวและสังคม ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากสิ่งใกล้ตัว และการสร้างกลยุทธ์การตลาดเพื่อ การค้าขายระดับชาวบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดอันชาญฉลาดของเหล่าพ่อค้าแม่ขายที่แม้จะใช้ต้นทุนต่ำ หากแต่มีอัจฉริยภาพในการทำมาหากินสูง นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและวิวัฒนาการของธุรกิจหาบเร่แผงลอยของไทยจากอดีตสู่ความสำเร็จของธุรกิจดิลิเวอรี่ในปัจจุบัน ซึ่งล้วนมีส่วนเสริมสร้างการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับโมเดลทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ได้ในอนาคต

บรรยากาศของงานเน้นในเรื่องของการออกแบบ "ภาชนะ" ที่ใส่อาหาร บอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของภาชนะประเภทต่างๆ รวมไปถึงการฉายสไลด์เกี่ยวกับความคิดเห็นของแม่ค้าพ่อค้า

"นิทรรศการกินไปเรื่อย:เจาะวิถีอร่อยริมทาง" แบ่งจัดแสดงเป็น 5 ส่วน โดย
ส่วนแรกชื่อ "กรุงเทพฯ เมืองบุฟเฟ่ต์" (The city as buffet) มีการแสดงให้เห็นถึงอาหารจำลองต่างๆ ที่เป็นอาหารเน้นความสะดวกในการพกพาเป็นหลัก ทั้งโอเลี้ยงในถุงพลาสติคที่มีหนังยางผูก ข้าวมันไก่ในห่อกระดาษ และขนมไทยห่อใบตองทั้งหลาย
ในส่วนนี้คนดูจะได้เห็นถึงวัสดุที่ใช้ห่ออาหารของคนสมัยก่อน ที่เป็นสิ่งของง่ายๆ หาได้ไม่ยาก และมีทั้งวัสดุธรรมชาติ เน้นให้เห็นความสะดวกทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย

ส่วนถัดมาชื่อว่า "แม่ค้านักประดิษฐ์" (Street innovators) เริ่มมีการพัฒนาจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย มาเป็นอุปกรณ์ที่พ่อค้าแม่ขายประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ลักษณะหน้าตาแปลกๆ แต่น่าจะเคยเห็นกันบ้างแล้วตามร้านขายอาหารประเภทย่าง มีตั้งแต่เครื่องดูดควันที่ดัดแปลงมาจากพัดลม มีที่ปัดแมลงวันทำมาจากเชือกฟางเส้นเล็กๆ ผูกติดกับไม้ยาว และอีกอย่างที่น่าคิด ถุงน้ำเปล่าๆ กับแผ่นซีดีเก่าๆ ที่ใช้แขวนไล่แมลงวัน
แค่นั้นยังไม่พอยังเอากะละมังที่ชำรุดแล้วมาทำเป็นเตาถ่านปิ้งย่างได้อีกด้วย ส่วนกระติกใส่น้ำแข็งก็นำมาเป็นกระติกใส่ข้าวเหนียวเสียเลย เพราะสามารถเก็บความร้อนได้ดีเหมือนกัน

เหนืออื่นใดที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือ "นางกวัก" ที่ไม่ว่าจะไปร้านไหนจะต้องมี "นางกวัก" มานั่งพับเพียบเรียบร้อยกวักมือ ควั่กๆๆ เรียกลูกค้าเข้าร้าน

ต่อมาเป็นส่วนของ "ชิมไปบ่นไป" (Rants & reves) เป็นการแสดงผลการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอาหารรถเข็นในกรุงเทพฯ กว่า 1,600 คน เพื่อตอบรับพฤติกรรมอร่อยริมทางของคนเมือง เพราะกว่าจะมาเป็นรถเข็นได้นั้น ต้องผ่านการชิมการบ่นมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไม่มีที่นั่ง ไม่มีที่ล้างมือ ไม่มีไฟ "จึงต้องมีการสำรวจว่ารถเข็นในอนาคตสำหรับนั่งกินอาหารริมทางนั้นต้องการอะไรบ้าง?"

"ซึ่งจากสถิติพบว่าลูกค้าพบสิ่งแปลกปลอมในอาหารหาบเร่ทุกวัน แต่ส่วนใหญ่ก็ทน เพราะรสชาติถูกปาก ราคาโดนใจ" ในส่วนการแสดงนี้ยังมีการนำเสนอเกร็ดความรู้ในแง่ความเหมาะสมของวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ตั้งแต่การเตรียมอาหาร จนถึงมือผู้บริโภค คุณสมบัติของภาชนะที่นำมาใส่อาหาร ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม ช้อน หรือ ตะเกียบ ต้องทนต่อความร้อนได้ และภาชนะควรเป็นกระเบื้องมากกว่าพลาสติค เพราะพลาสติคเมื่อโดนความร้อนแล้วจะมีสารปนเปื้อนมากับอาหาร สำหรับตะเกียบที่เป็นไม้ก็จะต้องมีการทำความสะอาดอย่างดีเพื่อป้องกันเชื้อรา ถุง-ต้องเป็นถุงร้อน เพราะเหมาะที่จะใส่อาหารที่มีความร้อน "สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปพัฒนาธุรกิจหาบเร่ให้มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี"

ต่อมาเป็นส่วน "สู้แล้วรวย" (Sidewalk millionaires) นำเสนอเรื่องราวและวิวัฒนาการจากการหาบเร่สมัยก่อน ซึ่งเป็นการหาบของเดินขายตามที่ต่างๆ หรือการส่งปิ่นโตอาหารตามบ้าน มาเป็น ดิลิเวอรี่แบบไทยๆ ที่สามารถซื้อใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นโมเดลธุรกิจฉบับบ้านๆ ซึ่งในสมัยก่อน ถ้าอยากกินอะไรแต่ละครั้งต้องรอให้พ่อค้าแม่ค้าหาบผ่านมา แต่เดี๋ยวนี้แค่ยกหูโทรศัพท์โทร.สั่งเดี๋ยวก็ได้กินแล้ว
ในส่วนนี้ยังพูดถึงธุรกิจที่เติบโตมาจากการหาบเร่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น "ชายสี่หมี่เกี๊ยว" ที่เมื่อก่อนเป็นแค่รถเข็นธรรมดาๆ แต่เดี๋ยวนี้กลายมาเป็นแฟรนด์ไชส์ทั่วประเทศ หรือ "แดงแหนมเนือง" จาก จ.หนองคาย ก็พัฒนามาส่งสินค้าทางรถทัวร์ และทางไปรษณีย์


สุดท้ายเป็นส่วนของ "เร่ อินเตอร์" (Global icon) เป็นการนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจหาบเร่ แผงลอย ในประเทศ ทั้งที่มาและวิวัฒนาการ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการส่งผ่านเทคโนโลยีความรู้สู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
มีคำเปรียบเปรยพัฒนาการอาหารฟุตปาธส่วนนี้ว่า "ถ้ายังพลิกหมูปิ้งทีละไม้..ก็อายเด็ก" ฉะนั้น จึงมีการนำอุปกรณ์ปิ้งหมูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่มานำเสนอ คุณสมบัติของอุปกรณ์ชิ้นนี้ สามารถปิ้งและพลิกหมูได้ทีละหลายๆ ไม้พร้อมกันเพื่อความรวดเร็วในการขาย


"จุดเด่นของนิทรรศการครั้งนี้เห็นจะเป็นการเปิดปริศนา "รถเข็นระเบิด" ครั้งแรกในเมืองไทย" ฟังชื่อแล้วอาจน่ากลัว แต่รถเข็นคันนี้ดูจากภายนอก ก็เหมือนกับรถเข็นธรรมดาทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ที่ชิ้นส่วนต่างๆภายในรถสามารถแยกออกจากกันได้ ลักษณะของการแยกเหมือนการระเบิด เพราะว่าทุกส่วนแยกได้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นที่วางถังก๊าซ ที่ค่ำจาน-ชาม หม้อก๋วยเตี๋ยว ที่แขวนอุปกรณ์ต่างๆ แม้กระทั่งหลังคาก็ยังสามารถเปิดออกได้เช่นกัน ที่ระบายอากาศ ก็แยกออกเพื่อสามารถหยิบใช้ได้สะดวก เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่มีการออกแบบสร้างสรรค์มาใช้สอยโดยเฉพาะเลยทีเดียว

"วัชชิระ สืบอินทร์" พ่อค้าวัย 27 ที่ยึดการขายไอศครีมมะพร้าวน้ำหอม มาร่วมออกร้านในงานนี้ เล่าว่าไอศครีมมะพร้าวน้ำหอมนี้ทำเองมากับมือ เป็นธุรกิจภายในครอบครัว ปกติขายอยู่ที่สวนจตุจักร เวลานี้ยอดขายดีมากเพราะกระแสกำลังมาแรง

"ไอศครีมของเราแตกต่างจากที่อื่น คือที่อื่นจะเป็นไอศครีมรวมมิตรในมะพร้าวน้ำหอม แต่ของเราเป็นไอศครีมมะพร้าวน้ำหอมล้วนๆ ไม่มีเผือกหรือขนุนปน กลุ่มลูกค้าสำคัญคือชาวต่างชาติซึ่งจะไม่รู้จักขนุน เผือก แต่จะรู้จักมะพร้าว ที่มาวันนี้เพื่อมาเปิดตัวสินค้าให้คนไทยรู้จักมากขึ้น รับรองได้กินแล้วจะลืมไม่ลง" พ่อค้าคนเก่งกล่าวพร้อมหัวเราะอารมณ์ดี

"เกี๋ยง สิงห์แก้ว" หรือ "ป้าสาย" วัย 47 อาชีพขายผลไม้ เล่าว่า ขายมาสองปีกว่าแล้ว รายได้ก็พอใช้ได้ เมื่อก่อนเคยขายดีเดี๋ยวนี้ยอดตกลงมากเหมือนกัน

"แต่ก่อนคนเคยซื้อบางทีคนเดียวสามสี่อย่าง เดี๋ยวนี้เหลือสักสองอย่างเท่านั้น อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนออมเงินกันมากขึ้น" คุณป้าเอ่ยขึ้น

ท่ามกลางความวุ่นวายจากพิษเศรษฐกิจ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจสักเท่าไร แต่คำนึงถึงวัฒนธรรมมากกว่า

"วันชัย สิงห์ไพศาล" พ่อค้าขายขนมถ้วย วัย 41 ปี เล่าว่า เมื่อก่อนขายดี แต่เดี๋ยวนี้จางลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีคนสานต่อ

"ทำขนมถ้วยขายมาแต่โบราณแล้ว ตกทอดมาหลายรุ่นแต่เวลานี้ไม่มีคนสืบทอดเลยทำแบบพอเพียง ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดเรื่องขายได้มากๆ แต่อยากถ่ายทอดวัฒนธรรมการทำขนมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นได้เรียนรู้ เพราะหากไม่มีการถ่ายทอดรักษาไว้ อีกไม่นานก็คงทำกันไม่เป็น ขนมถ้วยอาจสูญหายไปจากแผงขนมไทย"
วันนี้ ในสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น ผู้คนต้องอดออม ประหยัด และรู้จักใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่า "อาหารรถเข็น" หรือ อาหารริมฟุตปาธ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนในสังคม

จะกินอาหารรถเข็นอย่างไรให้ปลอดภัย และมีเจ้าอร่อยที่ไหน อย่างไร ต้องไปดูจากนิทรรศการ "กินไปเรื่อย..เจาะวิถีอร่อยริมทาง" ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ชมได้ฟรีๆ ไม่มีเสียเงิน จัดแสดงตั้งแต่นี้ไปจนถึง 7 มิถุนายน 2552 (ยกเว้นวันจันทร์)

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กระตุกต่อมความคิดร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยธุรกิจบนความคิดสร้างสรรค์ ผ่านนิทรรศการ “กินไปเรื่อย…เจาะวิถีอร่อยริมทาง” (Quick Bites: Design for Better Eating) นิทรรศการที่เจาะลึก “วิถีคนกรุง” ตีแผ่ “ทุกเรื่องราวการกิน” จากทุกบาทวิถี พร้อมเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 7 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ระหว่างเวลา 10.30 - 21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
คุณกนกพร เกียรติศักดิ์ หรือ คุณพัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ อาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ ชั้น 24 ถนนสุขุมวิท โทร. 0-2664-7667 02-204-8078 หรือ 02-204-8210


"แล้ว ชาวหัวหิน จะรู้ว่าวิถีการกินอาหารของคน กทม.นั้น สนุกสนานขนาดไหน"

ขอบคุณข้อมูลจาก TCDC, ,มติชน
huahinhub Thanks


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น