4.22.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๑๕ (หุ่นกระบอก ตะเลงพ่าย)







huahinhub เก็บมาฝากชาวหัวหินกันอีกเรื่อง กับการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง 'ตะเลงผ่าย' โดย อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ๆปติดตามกันเลย...


'จักรพันธ์ โปษยกฤต' สืบสานศิลปะไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน
วันอาทิตย์สิ้นเดือน ใครที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณกลางซอยเอกมัย ถนนสุขุมวิท คงจะนึกว่ามีงานมหกรรมอะไรแต่เช้า เนื่องจากมีผู้คนเป็นร้อยมาเข้าแถวต่อคิวเข้าไปในบ้าน “มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต” แต่สำหรับคนละแวกนั้นอาจจะเป็นภาพที่คุ้นตา เพราะเห็น บรรยากาศแบบนี้มาเนิ่นนานหลายปี ที่มีคนมายืนรอเพื่อเข้าไปดู การซ้อมแสดงหุ่นกระบอก เรื่อง “ตะเลงพ่าย” ของ “อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต”

ชื่อ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” ย่อมเป็นที่รู้กันถึงความสามารถทางด้านศิลปะไทยหลากหลายแขนง เพราะนับตั้งแต่จบคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์จักรพันธุ์ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ทำงานทางด้านศิลปะ เริ่มตั้งแต่เป็นอาจารย์ พิเศษสอนวิชาศิลปะไทย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีผลงานทางด้านทัศนศิลป์มากมาย อาทิ ภาพจิตรกรรมไทยเรื่อง มโนราห์ และพระลอ ในพระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ ออกแบบม่านทอ เป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณี ที่เวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย ออกแบบการ สร้างประติมากรรมสำริดขนาดเท่าคนจริง รูปไกรทองสู้กับชาละวัน จากเรื่องไกรทอง ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯลฯ

ไม่นับรวมผลงานภาพจิตรกรรมแบบไทย ที่วาดภาพนางวรรณคดีและประเพณีไทยได้อ่อนช้อยงดงามมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว และด้วยผลงานมากมายที่ฝากไว้บนแผ่นดิน อาจารย์จักรพันธุ์จึงได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในปี 2543 ได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

ดังนั้น แค่ได้ยินว่าอาจารย์จักรพันธุ์กำลังเตรียมการแสดงหุ่นกระบอก เรื่อง “ตะเลงพ่าย” บรรดา “แฟนคลับ” ทั่วสารทิศ เลยขอมาดูให้เป็นบุญตา ซึ่งจุดเริ่มต้นของการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องนี้ อาจารย์จักรพันธุ์เล่าให้ฟังว่า มาจากความสำเร็จของการแสดงละครหุ่น เรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ที่แสดงในปี 2532 โดยแสดงทั้งหมด 15 รอบ ทั้งคนดูและคนเล่นต่างสนุกด้วยกันทั้งหมด และตอนนั้นทุกคนที่ร่วมทีมเหมือนไฟกำลังแรง จึงคิดอยากจะเล่นเรื่องต่อไปกัน

ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 45 ปี ครูแอ๋ว-อรชุมา ยุทธวงศ์ อายุ 30 ปี มีไฟกันทั้งนั้น แต่เราไม่รู้ว่าจะเล่นเรื่องอะไรดีให้ยิ่งใหญ่เท่าเรื่องสามก๊ก เพราะ ในสามก๊กมีฉากรบ ฉากเรียกลม เผาเรือ ยิ่งใหญ่ แล้วอยู่ๆนักดนตรีของครู บุญยงค์ เกตุคง ชื่อพี่จ่าไก่-ประยงค์ กิจนิเทศ เป็นคนตีตะโพน บอกมาว่า ให้เล่นเรื่องตะเลงพ่าย ทั้งที่แกไม่รู้จักเรื่องนี้เลยว่าเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับบรรพบุรุษดลบันดาลให้เล่นเรื่องนี้”

แล้วในปี 2533 หุ่นกระบอกเรื่อง ตะเลงพ่าย ของอาจารย์จักรพันธุ์ก็ได้เริ่มขึ้นจากการแต่งเรื่องโดย คุณต๋อง-วัลลภิศร์ สดประเสริฐ แล้วครูบุญยงค์ เกตุคง ทำการบรรจุเพลง ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่ง ครูบุญยงค์ล่วงลับ จนตกมาถึงรุ่นลูกศิษย์ช่วยกันทำ ซึ่งการทำเพลงมีทั้งเพลง ไทยที่มีอยู่เดิมและเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่และเมื่อได้บทได้เพลงแล้วจึงได้มีการฝึกหัดการเชิดหุ่น ส่วนหุ่นองค์แรกที่เสร็จเป็นตัวนาง “พระสุพรรณกัลยา” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากนั้นก็สร้างองค์ต่อมาคือพระนเรศวร และบุเรงนอง ซึ่งตัวเอกเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่ตัวประกอบชาวคณะหุ่นกระบอก ที่คัดสรรกันอย่างไร อาจารย์จักพันธ์ เล่าว่า..

“คนที่มาเล่นให้ก็เป็นมือสมัครเล่นทั้งหมด ตั้งแต่ที่แสดงเรื่อง “สามก๊ก” แล้ว เป็นทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างครูแอ๋วชวนลูกศิษย์จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มา ส่วน ม.เกษตรฯ ก็มาจากคณะมนุษยศาสตร์ เป็นนักศึกษาปี 1 ปี 2 มาเริ่มหัด พวกนี้เป็นกำลังสำคัญ พอมาเล่นเรื่องตะเลงพ่ายก็ต้องสร้างคนใหม่ ตอนนี้เหลือคนเก่าจากจุฬาฯเพียงคนเดียว จากเกษตรฯเหลือ 2 คน พักหลังเป็นแบบชักชวนกันมารู้จักกัน เป็นภรรยานักร้อง นักดนตรีบ้าง มีที่มาที่ไป มีคนแนะนำชวนกันมา หมักหมมจนเกิดความรักในการแสดงหุ่นกระบอก บางคนอยากสนุกก็มาร่วม เพราะรู้ว่าคณะนี้สนุกแน่ บางคนอยากมาเพราะ ได้ความรู้ พอได้ก็ไป ตอนนี้ทั้งคณะมีคนที่เชิดได้ รำได้เพียง ไม่กี่คน แล้วเราได้นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาช่วยเชิดหุ่นทหาร บางคนเชิดทั้งคนไทยและพม่า”

ด้วยความเป็นมือสมัครเล่น คณะหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 กว่าคน จึงมีความ หลากหลายทั้งผู้คน และวิชาชีพ โดยอาจารย์จักรพันธุ์บอกว่า คนในคณะมีทั้งเซลส์ขายยา ส่วนคนพากย์เสียงพระเจ้าบุเรงนอง และเถรคันฉ่อง เป็นสรรพากร ซี 9 คนพากย์เสียงพระนเรศวรเป็นกัปตันหนุ่มการบินไทย ถ้าอาทิตย์ไหนไปบินก็ต้องให้คนอื่นพากย์แทน หรืออีกคนหนึ่งเป็นนักประดาน้ำ เป็นนักเรียนนอก มีสำนักฟันดาบมาร่วมแสดงเป็นตัวประกอบแล้วการเชิดหุ่นกระบอก ส่วนความยากง่าย อาจารย์เล่าให้ฟังว่า

“ไม่ง่ายเลย ต้องหัดเชิดหุ่นก่อนแล้วค่อยผสมโรง ซึ่งตอนหลังต้องเกณฑ์ให้ไปเรียนที่วัดตรีทศเทพวรวิหาร เพราะต้องทำงานจิตรกรรมฝาผนังที่นั่น ไปหัดที่นั่นก่อนช่วยกันหัด จนกระทั่งพอใช้ได้จึงค่อยมาหัดกันที่บ้านผม ซึ่งเด็กๆท้อกันก็เยอะ ที่อยู่ต้องใจรักชอบจริงๆ”

จากนั้นการซ้อมหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่ายก็เริ่มขึ้นที่บ้านไม้หลังงามของอาจารย์จักรพันธุ์ ในซอยเอกมัย โดยใช้พื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้านเป็นลานซ้อมทั้งดนตรีและการเชิดหุ่น และนั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดให้ชมการซ้อมการแสดง

“เริ่มแรกก็มาดูร้องเพลงก่อน มีคนมานั่งฟัง 5-6 คน ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จัก จากนั้นก็เพิ่มขึ้น มีผู้ใหญ่ที่รู้จักมา นั่งดู พอดนตรีได้แล้วก็ต้องเชิดไหว้ครูเอาตัวหุ่นออกมารำเปิดไหว้ครูอย่างเดียวก่อน ตอนหลังก็เอาเด็กๆออกมาซ้อมทีละนิด ยังไม่ใช้หุ่นตัวจริง เพราะยังไม่เสร็จ ก็เอา หุ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้มาซ้อมก่อน มารำก่อน จนตอนหลัง 5-6 ปีที่แล้วคนดูมากขึ้น จนตอนนี้มีคนมาดูครั้งละหลายร้อยคน”

จากปากต่อปากที่พูดถึงการแสดงหุ่นกระบอกที่สวยงามผนวกกับเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้มีคนติดอกติดใจเข้าชมการแสดงกันคนละหลายรอบ จนจำนวนคนเข้าดูแต่ละครั้งมีประมาณ 400-500 คน ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาดูต้องจองตั๋วกันล่วงหน้า โดยโทร.เข้าไปที่ 0-2391-3701 หรือเข้าไปในเว็บไซต์ http://www.chakrabhand.org/ จากนั้นก็มารับบัตรกันตอน 09.00 น. ใครมาก่อนก็จะได้ที่นั่ง ส่วนพวกที่มาที่หลังต้องหาที่ปักหลักยืนกันเอาเอง
แฟนคลับที่มาดู มาจากไหน

“มาจากเชียงใหม่บ้าง ลพบุรีบ้าง แถบจะทุกสารทิศ ส่วนใหญ่ 80% ของคนดูเป็นคนมาใหม่ ส่วนอีก 20% เป็นพวกดูซ้ำซาก ดูทุกเดือน คนที่เข้ามาดูจะมีเด็กๆคอยช่วยบันทึกกรอกรายละเอียดว่ารู้ได้อย่างไร ใครเป็นคนแนะนำ ซึ่งมีทั้งอายุ 85 ปี 93 ปีก็มี รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งถ้าเป็นเด็กเล็กผมจะขอให้ดูแลอย่ารบกวนคนอื่น แต่ไม่ห้ามให้พามา เพราะเราต้องปลูกฝังให้เด็กๆได้เห็นได้ เรียนรู้วัฒนธรรมรากเหง้าของเรา อย่างผมที่ชอบหุ่นกระบอก เพราะเห็นในโทรทัศน์ตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ชอบ เลยไม่ห้ามให้พาเด็กมา เราจะเปิดบ้านตอน 9 โมงเช้า เมื่อก่อนมีบางคนมารอตั้งแต่ 8 โมงเช้า ยังไม่ทำอะไรเลยวุ่นวายกันหมด ต้องมีการประชุมทีมงาน ตอนหลังเลยเปิดบ้านตอน 9 โมง จะเริ่มเล่นตอน 10 โมงกว่าจนถึงเที่ยง ให้รับประทานอาหารกัน จากนั้นตอนบ่ายกว่าก็ซ้อมต่อจนถึงเย็นประมาณ 4 โมงจึงเลิก”

ดังนั้น คนที่มาดูหุ่นกระบอกของคณะนี้ นอกจากจะได้ อรรถรสของการแสดงแล้ว ยังอิ่มท้องจาก อาหารอร่อยๆ ที่บรรดาคนดูที่เป็นแฟนทั้งขาประจำและขาจรต่างขนกับข้าวกับปลามาเลี้ยงกัน ให้ได้อิ่มเอมทั้งคนเล่นและคนดู จนกลายเป็นวัฒนธรรมเอื้ออาทรที่มีต่อกัน

“ตอนแรกๆเราเลี้ยงอาหารคนดูเอง โดยเอาเงินจากมูลนิธิจักรพันธุ์โปษยกฤต ซึ่งตอนนั้นเราจะดำเนินรอยตามครูชื้น สกุลแก้ว ที่ท่านใจดีจะตั้งโรงทานปีละครั้งในวันเกิดท่าน พอมาตอนหลังคนมาดูก็เอามาช่วยกัน เพราะมาดูกันบ่อยจนสนิทเหมือนญาติกันไปแล้ว บางคนเลยมาดูเพราะติดใจอาหารก็เป็นได้”

นับจากปีที่เริ่มต้นจนปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปีแล้ว หุ่นกระบอกตะเลงพ่าย ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์นั้นอาจารย์จักรพันธุ์บอกว่า
hhh
“เพราะเราต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วย ช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้นเราก็ต้องเร่งทำจิตรกรรมฝาผนังที่วัดตรีทศเทพวรวิหารและวัดเขาสุกิม จันทบุรี และตอนนี้ก็มีงานหลวงคือต้องออกแบบ เขียนแบบลวดลายปัก สำหรับโขนเรื่องรามเกียรติ์ ที่จะเปิดแสดงปฐมฤกษ์โรงละคร แห่งชาติกลางปีหน้า เราจึงไม่รีบ ไม่เร่ง ตอนนี้ก็เสร็จไปประมาณ 60% แล้ว ไม่ อยากกำหนดว่าจะเสร็จพร้อมแสดงเมื่อไหร่ เดี๋ยวเหนื่อย เพราะหุ่นแต่ละตัว ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เรามีหุ่นตั้งแต่มือยังกระดิกไม่ได้จนพัฒนาให้มือจับได้ กระดิกได้ มีหุ่นไก่ที่แสดงจิกตีกันได้ ตอนนี้กำลังทำช้างอยู่”

นอกจากนี้ อาจารย์จักรพันธุ์ยังกล่าวถึงอุปสรรคใหญ่ต่อการซ้อมหุ่น กระบอกในครั้งนี้ คือโครงการคอนโดมิเนียมที่จะสร้างขึ้นข้างๆบ้าน ซึ่งมีผลต่อการซ้อมมากว่า “คงต้องหยุดเลยเพราะเสียงต้องดังมาก แล้วไหนจะฝุ่นอีก เราจะทำอย่างไรกับหุ่น แล้วก็ตั้งใจว่าจะให้บ้านเป็นพิพิธภัณฑ์แบบไลฟ์ มิวเซียม ที่สามารถเข้ามาเรียนงานเป็นเหมือนอาศรมศึกษา รวมไปถึงผลงานเด็ดๆ อีกมากมายอีกเยอะแยะ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้เจ้าของโครงการชะลอการก่อสร้างอยู่”

และแม้จะมีอุปสรรคอย่างไร อาจารย์จักรพันธุ์ก็ยังคงทำงานและสืบสาน เจตนารมณ์ของตนเองที่ว่า ขอทำงานให้ดีที่สุด เพื่อสืบทอดสิ่งที่ดีงามของไทยให้ลูกหลานไทยได้เห็น..... ซึ่งเชื่อว่าทุกคนได้ประจักษ์ถึงฝีมือของนายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้แล้ว.
hhh

บทหุ่นกระบอกเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’
ไม่ใช่ ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’
ภายหลังเริ่มรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จาก ‘พระราชพงศาวดาร’ ฉบับพระราชหัตถเลขา ‘ไทยรบพม่า’ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แลคำให้การชาวกรุงเก่า
hhh
สรุปเอาโดยวิจารณญาณของตนเองเป็นที่ตั้ง ด้วยต้องการดำเนินเรื่องในทำนอง ตำนานอันปู่ย่าตายาย เล่าสืบทอดต่อกันมา โดยใช้เพลงหุ่นกระบอกขับบรรยาย คล้ายพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังจนหลับแล้วฝันไป เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองความเป็นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒
hhh
เมื่อแต่งบทเกริ่นนำเรื่องเสร็จ เรามีความรู้สึกว่า การพ้นจากสถานภาพตัวประกัน กลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยาของพระองค์ดำมกุฎราชกุมารนั้น คงมิใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีตัวประกันแลกเปลี่ยน เชื่อตามมโนสำนึกว่า พระสุพรรณกัลยาราชธิดา ต้องจำเสด็จจากบ้านเกิดเมืองนอน สู่หงสาวดี ตกเป็นบาทบริจาริกาของมังเอิงราชบุตร ผู้รัชทายาทของพระเจ้าบุเรงนอง รับสนองวิเทโศบายแห่งพระราชบิดา เพื่อไถ่คืนเอาพระอนุชาคือพระนเรศวร ซึ่งเป็นพระราชโอรส ควรแก่การสงครามกอบกู้แผ่นดินสืบไปภายหน้า คือปฐมวีรกรรมความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ของพระวีรกษัตรีพระองค์นั้น
hhh
ซึ่งมิได้เคยมีใครเห็นพระคุณอันปรากฏขจรกำจายดุจดั่งมาลี ครั้นบานคลี่สิ้นประโยชน์คือ ความงามและกลิ่นหอมแล้ว ก็รังแต่เหี่ยวเฉาร่วงโรย เลือนหายไปกับกาลเวลา
ดอกเอ๋ยดอกแก้ว ร่วงแล้วก็โรยรา แดดลมฝนปราย เลือนหายใต้พสุธา
บทร้องเพลงเร็วสาวสวย ที่ว่า
พระเอยพระบุตรีจะจากธานีไปเมืองพม่า จะไปทางไหนจะไปหงสาไปอยู่พาราหงสาวดี
hhh
นี้เราผูกขึ้นร้องทำนองเนื้อเต็ม ลำลองตามทางเครื่องดนตรี เพื่อให้ได้ชีวิตลีลาอย่างอยุธยา ดุจดั่งเป็นเพลงอันเด็กๆร้องเล่นกันโดยไร้เดียงสา สืบทอดมาจนทุกวันนี้ คำขับขานเรื่องพระสุพรรณกัลยาไปหงสาวดี จึงนับเป็นปฐมบทของเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’
hhh
ส่วนโครงเรื่องนั้น วางตามคำแนะของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ว่าน่าจักมีฉากชนไก่ กับทรงพระสุบินสู้กับจระเข้ เพราะสนุกตื่นเต้นเป็นละครดี เราจึงดำเนินเรื่องตามสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระมหาอุปราชา คงจักท้าสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กัน หลังจากตีเมืองคังแล้ว
hhh
เพื่อรวบรัดเนื้อเรื่อง โดยไม่ต้องย้อนความจับมาแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ หากก็มิได้ค้านขัดคำให้การชาวกรุงเก่า ด้วยเห็นว่าธรรมดานักเลงไก่ทั้งหลายไม่มีใครเล่นประลองเดิมพันกันแค่ครั้งเดียว
hhh
สมเด็จพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชา เติบโต เล่นคลุกคลีกันมาในเมืองหงสาวดี จึงน่าที่จักเล่นชนไก่กันอยู่เนืองๆ ส่วนเรื่องบุคลิกภาพของพระมหาอุปราชนั้น เราเห็นขัดกับ ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แลประวัติศาสตร์ไทยหลายฉบับที่ว่าวิสัยเป็นคนขลาด รักแต่เรื่องโลกีย์ ไม่ประสาการศึก จนถึงกับพระบิดาตรัสประชดให้ไปเอาอาภรณ์อิสตรีมานุ่งห่ม
hhh
ข้อนี้เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด ความในประวัติศาสตร์กลับค้านกันเอง เพราะปรากฏชื่อพระมหาอุปราชาผู้นี้อยู่ในสงครามเชิงรุกทุกครั้ง ก่อนแต่การขาดคอช้างสิ้นพระชนม์ จากนั้นมา พม่าก็ตกเป็นฝ่ายรับอย่างบอบช้ำยับเยินมาโดยตลอด จนเสียกรุงหงสาวดี แก่สมเด็จพระนเรศวร
hhh
สำมะหาขัตติยมานะ ละอายพระทัยโดยส่วนเดียว คงไม่มีแรงพอที่จักชักจูง คนขลาด อันกำลังบัญชาการมีชัยการรบอยู่กลางสัตรงคเสนาทั้งห้าแสนให้สงบพลลง แล้วไสพระพัทธกอคชาชาร ออกกระทำยุทธหัตถีโดยลำพังสองกับสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเสียเปรียบมากกว่ามากนัก ด้วยพลัดตกอยู่กลางทัพพม่า เพียงพระองค์กับพระอนุชาแลพลจตุลังคบาท รักษาสี่เท้าช้างเท่านั้น
hhh
แท้จริงแล้วเราต้องยอมรับและยกย่อง ความทรนงองอาจ ถือดีในฝีมือการรบของพระมหาอุปราชาเช่นกัน พระมหาอุปราชา รับคำท้าของสมเด็จพระนเรศวร ด้วยความมั่นใจในชัยชนะ แลตะลุยรบด้วยเชิงบุกกระหน่ำอย่างเหนือชั้น จนย่ามใจ อันเป็นเชิงรบตามกลยุทธปกติของนานาชาติ หากตกต้องลูกไม้กล ย้อนเกล็ดนาคราช ของพิชัยยุทธข้างไทย
hhh
ในขณะสมเด็จพระนเรศวรทรงเพลี่ยงพล้ำจนพระมาลาเบี่ยง ต้องคมง้าวขาดลินั้น คือจังหวะที่ทรงตลบพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ฟันสอดสะพายใต้แล่งพระพาหาพระมหาอุปราชา ขาดคอช้างสิ้นพระชนม์
hhh
เหตุการณ์นี้เราเขียนขึ้นจากเหตุผลที่เคยได้ยินท่านปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ตั้งข้อสังเกตไว้ตามชื่อแลท่าเตะแก้หมัด อันสอดคล้องของมวยไชยาคือ ‘อุปราชขาดคอช้าง’เราจบเนื้อเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’ ลงเพียงนี้
hhh
ด้วยมิได้มุ่งแสดงเพียงประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างละเอียด แต่แต่งขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ แลบูรพกษัตราธิราชกับเหล่าวีรบรรพชนไทยในอดีต ผู้สละพลีร่างกายโลหิตแลชีวิต ธารทรงแผ่นดินสยามประเทศนี้ไว้ เพื่อความดำรงอยู่จนตราบเท่าปัจจุบันสมัย มีเหตุอัศจรรย์ อันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกฤดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวร ให้ประจักษ์แก่เราในพระประสงค์ให้แต่งบทหุ่นเรื่องนี้ขึ้นมา
hhh
ซึ่งขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามสัจจริง ก็คือ ครั้นล่วงกาลผ่านมา จ่าไก่(ประยงค์ กิจนิเทศ) ได้ยินเราให้สัมภาษณ์หรือบอกแก่ใครๆว่าท่านเป็นผู้แนะ ให้เอาเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’ มาทำบทหุ่น จึงถามเราต่อหน้าอาจารย์จักรพันธุ์อย่างสงสัยว่า “พ่อต๋อง ผมเป็นคนพูดอย่างนั้นจริงๆเหรอ”
hhh
“จริงซีจ่า อาจารย์จักรพันธุ์ก็นั่งอยู่ด้วย”เราตอบพร้อมกับอาจารย์จักรพันธุ์ ช่วยเสริมเพื่อความมั่นใจ แต่จ่าไก่กลับพูดว่า “เอ...ไม่รู้ผมไปเอาที่ไหนมาพูด...ผมไม่เคยรู้จักเรื่องตะเลงพ่าย มาได้ยินก็ที่บ้านนี้
hhh
ที่พ่อต๋องแต่งนี่แหละ” ขอนอบน้อมถวายบทรจนากวีคีตดุริยางค์ ทั้งศิลปกรรมอันเลือกสรรสร้างอย่างประณีตบรรจงแล้วนี้ ด้วยศรัทธาแลวิริยพละ เป็นเทวตาสักการะบูชาพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า กับทั้งเหล่าบูรพกษัตรา บรรดาวีรบรรพชนไทยทั้งหลาย แล้วเทอญ วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
hhh
hhh
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.chakrabhand.org/ และ นสพ.ไทยรัฐ
huahinhub thanks
hhh

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น