4.03.2552

| หัวหิน Retro ๗ (ประวัติเพลงราตรีประดับดาว ในรัชการที่ ๗)






หัวหินเป็นเมืองเอก ที่มีความสำคัญโดยมีประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องกับ พระมหากษัตริย์ อันทรงเป็นที่เคารพ สักการะบูชา ของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงโปรด 'หัวหิน' และทรงสร้าง พระราชวังไว้สำหรับแปรพระราชฐาน ชื่อ สวนไกลกังวล ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๗ ของปวงชนชาวไทย

ตามที่พระองค์ทรง โปรดหัวหิน ถึงเพียงนี้ huahinhub จึงขออัญเชิญ พระราชประวัติ และบทเพลงพระราชนิพนธ์ บางส่วน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ หัวหิน โดยตรง มาไว้เป็นมิ่งขวัญ ศิริมงคล กับชาวหันหิน ณ ที่นี้ สืบไป


๐ พระราชประวัติตามลำดับเหตุการณ์

2436 เสด็จ
พระราชสมภพ และทรงได้รับพระราชทานนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมศุโขไทยธรรมราชา”
2442 ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ระดับประถม)

2448 ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ และได้รับพระราชทานนามพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามเป็น เจ้าฟ้าต่างกรมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา”

2451 เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสามัญในวิทยาลัยอีตัน (Eton College) ประเทศอังกฤษ

2454 ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมืองวูวิช (Wool Wich) ประเทศอังกฤษ

2456 เสด็จเข้าประจำการในกองทหารปืนใหญ่ม้าเมืองอัลเดอซอต (Aldershot) ประเทศอังกฤษ

2458 เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย และทรงเข้ารับราชการทหาร

2460 ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

2461 ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ณ พระที่นั่งวโรภาศพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2461

2463 เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในทวีปยุโรปและทรงเข้าศึกษาวิชาทหารบกต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหาร (Ecole de Guerre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

2467 เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยและเสด็จกลับเข้ารับราชการทหาร และทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาท ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์

2468 ์ทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน และทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์

2472 เสด็จแปรพระราชฐานและพระราชนิพนธ์บทเพลง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังกล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี

2474 เสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการผ่าตัดพระเนตร

2475 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

2477 ทรงสละพระราชสมบัติ และทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477

2484 เสด็จสรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484


เพลงราตรีประดับดาว
บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เพลงราตรีประดับดาวนี้ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ๗ แห่งพระมหาจักรีบรมวงศ์ กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะการทรงซอ ทรงศึกษาดนตรีไทยจากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

ประวัติของเพลงราตรีประดับดาวนั้น ว่าไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงฟังเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต เพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงเป็นมอญ ซึ่งบทร้องที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนชั้นเดียวท่อนสุดท้ายนั้นมีว่า “ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม” รัชกาลที่ ๗ จึงมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งเพลงเถาในสำเนียงมอญอย่างนั้นบ้าง จึงทรงหารือกับครูผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยในสมัยนั้น

เพลงที่ทรงเลือกมาเพื่อพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นเพลงเถานั้น คือเพลงมอญดูดาว สองชั้น ของเก่า ซึ่งเมื่อทรงพิจารณาเพลงลงไป ทรงเห็นว่า เพลงมอญดูดาวของเดิมใช้หน้าทับมอญ (เทียบได้กับประเภทหน้าทับสองไม้ของไทย) และมีอยู่เพียง ๑๑ จังหวะ แต่โดยที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชนิพนธ์เพลงโดยใช้หน้าทับเป็นประเภทปรบไก่ ซึ่งความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับประเภทสองไม้ ดังนั้นหากทรงคงเนื้อเพลงของเดิม ก็จะได้จำนวนหน้าทับปรบไก่เพียง ๕ จังหวะครึ่ง

แล้วจึงทรงประดิษฐ์ทำนองขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา กับทรงพระราชนิพนธ์บทร้องขึ้นสำหรับร้องเป็นประจำโดยเฉพาะว่า

วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้าไปเที่ยวเล่น(๒) ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสี แต่หอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม
กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชำมะนาด สีไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดี ปรานีปราศรัย
ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย
ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่ใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย
ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี
หอมมะลิกลีบซ้อน อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย
จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย
หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี นี่แน่พรุ่งนี้จะกลับมาเอย ฯ


อนึ่ง : คำร้องในบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งที่ว่า “ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง” นั้น ก็เพื่อให้เป็นที่หมายรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์ เพราะพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน (แม้ความจริงเพลงนี้ จะทรงพระราชนิพนธ์ยังวังไกลกังวล ก็ทรงใช้ว่าวังหลวงตามสัญลักษณ์) และเป็นการเลียนล้อเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ที่กล่าวมาแล้วด้วย

เมื่อทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จเรียบร้อยทั้งทำนองดนตรีและบทร้องแล้ว ก็ทรงต่อเพลงนี้พระราชทานแก่ข้าราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง ครั้นซักซ้อมกันเรียบร้อยดีแล้วก็ทรงให้นำวงปี่พาทย์ไปบรรเลง ถวาย ณ วังสุโขทัย เพื่อทรงฟังตรวจแก้ไขอีก ๒-๓ ครั้งในครั้งแรกมีเจ้านายที่ทรงสามารถในการดนตรี อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ ทรงร่วมฟังอยู่ด้วย ในระหว่างนี้ยังมิได้ทรงตั้งชื่อเพลงที่ทรงแต่งขึ้นใหม่นั้นว่ากระไร เจ้านายหลายพระองค์ต่างเสนอชื่อถวายต่าง ๆ กัน เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ และอื่น ๆ ที่มีนัยเดียวกันนี้อีกหลายชื่อ แต่ก็ยังมิได้ทรงเลือกเอาชื่อไหน

ต่อมาวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้ออกร้อง และบรรเลงส่งกระแสเสียง ณ สถานี ๑.๑ ที่ศาลาแดง โดยประกาศชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงราตรีประดับดาว” อันเป็นชื่อที่รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงคิดตั้งขึ้นเอง จึงเป็นการตกลงใช้ชื่อนี้ตลอดมา

เพลงราตรีประดับดาว เถา นี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการดนตรีไทยเป็นอันมาก เป็นเพลงที่มีทำนองและชั้นเชิงไพเราะน่าฟังเพลงหนึ่งในบรรดาเพลงไทยทั้งหลาย(๓)


หมายเหตุ
๑. สำหรับการออกนามวังว่า “พระราชวัง” นั้น โดยราชประเพณีปฏิบัติจะต้องมีพระบรมราชโองการสถาปนา แต่จากการค้นคว้าเอกสารของทางราชการไม่พบว่าเคยมีพระบรมราชโองการสถาปนา “พระราชวังไกลกังวล” หรือ “พระราชวังสวนไกลกังวล” แต่อย่างใด ดังนั้นการออกนามว่า “วังไกลกังวล” จึงถูกต้องตามราชประเพณี และพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบันแล้ว (จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ ๗ : แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ)

๒. ในปัจจุบัน นิยมร้องกันว่า “ขอเชิญสายใจเจ้าไปนั่งเล่น” แต่อาจารย์สุรางค์ ดุริยพันธ์ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ได้ร้องเพลงถวายเสด็จพระองค์สี่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ) นั้น เสด็จท่านได้ทรงประทานแก้ไขให้ร้องว่า “ขอเชิญสายใจเจ้าไปเที่ยวเล่น” จึงจะถูกต้องตามบทพระราชนิพนธ์ของเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้


ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น