3.29.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๘ (การตลาดใหม่ ในตลาดเก่า)

การตลาดใหม่ ใน 'ตลาดเก่า'
ตอนนี้กระแส “ตลาด” กำลังมา ตลาดที่ว่าหมายถึงตลาดจริงๆ นะ เชื่อว่า หลายท่านคงเคยได้ไปสัมผัสกับ บรรยากาศ“เก่าๆ ใหม่ๆ” ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กันบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ตลาดเก่าที่เรานำเสนอคราวนี้กำลังฮิต ไม่แพ้ตลาดน้ำอัมพวาเลย เพราะถ้าจะว่ากันตามเกณฑ์อายุแล้ว ก็ถือว่าเกิดในยุคสมัยเดียวกัน แม้จะอยู่กันคนละจังหวัด แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี จากนักท่องเที่ยวทุกสารทิศ กระนั้นความเจริญจาก ห้างร้านสมัยใหม่ และวิถีชีวิตจากโลกภายนอก ก็กำลังสร้างผลกระทบอย่างสำคัญ กับวิถีความเป็นชุมชนตาดเก่า อย่างหนักหนา มิได้หยุดหย่อน ซึ่งเราชาวหัวหินเอง ก็จะได้เก็บเรื่องราวเหล่านี้ ไว้ตระหนัก และคิดให้มาก ว่าเราจะอยู่กับหัวหินในกระแสความเจริญ ที่ถาโถม เข้าสู่หัวหิน อย่างมิได้พักหายใจ กันอย่างไร ต่อไป

ต่อไปนี้คือหลากหลายตัวอย่าง ของกลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่ ที่นำมาใช้กับ ตลาดย่านเก่า หลากหลายมุมเมือง ที่กำลังเฟื่อง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของแต่ละชุมชน ได้อย่างน่าชื่มชม และเรียนรู้ไว้เป็น ตัวอย่าง เพื่อปรับใช้กับ ตลาดเก่า เมืองหัวหิน ของเรา ที่ใกล้มีอายุครบ 100 ปีกับเค้า ในเดือนตุลาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ อย่าให้เสียเวลา huahinhub ขออาสาพาไป ชมกัน


1) ตลาดคลองสวนตลาดเก่า อายุกว่าร้อยปี เป็นเรือนไม้แถวยาวเลียบคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ (สภาพน้ำจึงเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก) ในอดีตชาวบ้านแถบนี้สัญจรทางน้ำเป็นหลัก ตลาดเลียบคลองแห่งนี้จึงมีการค้าขายคึกคัก

แต่เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น มีถนนตัดใหม่หลายสาย ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้น จึงพากันเดินทางออกไปยังที่อื่นๆ ส่งผลให้ตลาดริมน้ำเงียบเหงาซบเซาไปถนัดตา ทุกวันนี้ตลาดคลองสวนยังคงความเป็นตลาดที่ชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อของกันจริงๆ อย่างสินค้าประเภทเครื่องจักสาน อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เครื่องใช้อะลูมิเนียมหรือหมอนปักแบบโบราณสำหรับงานมงคลก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ ร้านค้าเกือบทั้งหมดเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษเจ้าของร้านรุ่นแรกไม่ค่อยมีใครย้ายไปไหน


เมื่อบรรยากาศซบเซาลงเช่นนี้ ทางเทศบาลและลูกหลานพ่อค้าในชุมชนจึงคิดหาทางฟื้นฟูตลาดขึ้นมาใหม่ โดยหยิบยกการท่องเที่ยว ชื่นชมบรรยากาศแบบไทยโบราณขึ้นมาเป็นจุดขาย บนพื้นฐานการค้าแบบเดิม เราจะเห็นว่าร้านค้าส่วนมากยังคงสภาพเดิมไว้เหมือนดังเช่นเมื่อหลายสิบปีก่อน ป้ายชื่อร้าน โปสเตอร์โฆษณา เครื่องเรือนตกยุคถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ ดูคล้ายเป็นของประดับมากกว่าของใช้ที่เคยเป็นมาแต่เดิม







2) ตลาดร้อยปีสามชุก The Designed Market ปลุกความหลังสร้างคุณค่าใหม่ ในกระแสบริโภคนิยม
ตลาดสามชุกตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี เคยเป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีตราว 100 กว่าปีก่อน แต่เมื่อมีการตัดถนน มีการจราจรทางบุกที่เข้ามาแทนที่การสัญจรทางน้ำ ผู้คนก็หันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีนความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ บรรยากาศการค้าขายในตลาดเริ่มซบเซา และยิ่งเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้า ขนาดยักษ์และตลาดนัดอื่นๆที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ตลาดสามชุกจำต้องหาทาง “ปรับเพื่ออยู่รอด”


จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าทำกินมายาวนาน เกิดดำริจะรื้อตลาดเก่าเพื่อสร้างเป็นตึกใหม่ ทำให้ครูอาจารย์และชาวบ้านในตลาดกลุ่มหนึ่ง (ที่ยังมองเห็นคุณค่าของตลาดเก่า) รวมตัวขึ้นเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ระดมความคิดหาทางรักษาตลาดและที่อยู่ของตนไว้ นี่คือที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “เที่ยวตลาดสามชุก ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา” ที่หวังใช้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมืออนุรักษ์และพัฒนาชุมชน พวกเรารู้จักกับตลาดสามชุกได้ก็ด้วยเหตุนี้

บรรยากาศเดิมเดิมอาคารไม้เก่าแก่ในตลาดที่สร้างเป็นแนวฉากกับแม่น้ำบอกชัดถึงลักษณะของตลาดจีน
โบราณ ที่นี่เป็นชุมชนชาวไทย-จีน- มอญ ที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง (เท่าที่ศึกษามา มีอยูู่ถึง 19 ลาย) คือศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ก็คงสูญหายไปสักวันเช่นเดียวกับศิลปะในชุมชนโบราณอื่นๆ

นอกเหนือจากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่เห็นได้ทั่วไปตลอดทางเดิน บรรยากาศการค้าในตลาดนี้ก็ยังคงรักษาวิถีดั้งเดิมเช่นในอดีตไว้ ไม่ว่าจะเป็นอัธยาศัยไมตรีของพ่อค้าแม่ค้า ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นต่างๆ ขนมและอาหารหน้าตาแปลกที่หาบริโภคไม่ค่อยได้แล้วในชุมชนที่พัฒนาใหม่ เดินปราดเดียวก็สัมผัสได้ว่าสามชุกไม่ใช่การจำลองความเก่าเพื่อให้ผู้ชมได้ตื่นเต้นชั่วครั้งชั่วคราว สิ่งที่เห็นนั้นมันอยู่ ณ ตรงนี้มานานแล้วนับแต่อดีต

ได้ยินว่าถ้ามาเที่ยววันเสาร์-อาทิตย์ ที่ตลาดจะมีมัคคุเทศก์น้อย (เด็กนักเรียน) ทำหน้าที่ให้ข้อมูล และพานักท่องเที่ยวเดินชมตลาดด้วย เป็นความกลมกลืนระหว่างการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและคุณค่าชุมชนเก่าที่ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวสมัยใหม่ เด็กชาวบ้านได้ค่าขนมจากการทำงานพิเศษในขณะเดียวกันก็ซึมทราบจิตสำนึกดีต่อชุมชนบ้านเกิดไปด้วย (เมื่อผู้มาเยือนให้ความชื่นชม เจ้าบ้านย่อมภาคภูมิใจเป็นธรรมดา) คิดและทำอย่างนี้ได้ก็น่าจะอยู่ด้วยกันต่อไปได้แบบยั่งยืน ไม่ต้องบีบให้คนท้องที่ออกจากชุมชน เหมือนกับงานอนุรักษ์ย่านเก่าบางแห่งในกรุงเทพ


แต่บางอย่างไม่เหมือนเดิม ถ้ามีโอกาสไปเยี่ยมสามชุกในวันธรรมดาที่นักท่องเที่ยวน้อย มีโอกาสพูดคุยกับคนในตลาดถึงเรื่องราวต่างๆที่เกินไปกว่า “อันนี้มีกี่สีกี่แบบ ราคาเท่าไหร่” คุณจะรู้ได้ว่าตลาดอนุรักษ์อายุ 100 ปี ก็ไม่ใช่จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ถูกที่ว่าสถาปัตยกรรมเก่ายังคงอยู่ แต่วิถีชีวิต (ลึกๆ) ของคนเรานั้น ยากที่จะคงอยู่อย่างเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปในตลาดสามชุกคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่มีวันมองเห็น

“จ๋อม” คนสุพรรณ เล่าให้ฟังว่า ตลาดสามชุกเปลี่ยนไปมากหลังจากถูกโปรโมทเป็นโครงการตัวอย่าง โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์อาทิตย์ มีคนจากนอกตลาดเข้ามาขายของ ข้างทางกันเต็มไปหมด ไม่เหมือนตลาดเก่าอื่นๆในสุพรรณ ที่ทุกวันนี้เงียบวังเวง มีแต่คนแก่กับแมว (มักถูกใช้เป็นโลเคชั่นถ่ายหนัง/ละครย้อนยุค) ส่วนที่สามชุกมีนักท่องเที่ยวมากจนอึดอัด แย่งกันกินแย่งกันซื้อ สูญเสียบรรยากาศเดิมๆไปพอควร คนสุพรรณเองจะรู้

ร้านนาฬิกาในซอย ๑ ชื่อว่า “บุญช่วยหัตถกิจ” ขายนาฬิกาสไตล์โบราณ มีคุณป้าสายบัวนั่งเป็นเจ้าของร้าน แกได้รับมรดกร้านนี้จากบิดาของสามี คุณป้าเล่าถึงความหลังในตลาดว่า เมื่อก่อนบ้านแถบนี้เป็นดงต้นกำปัด ไม่มีถนนที่ตัดตรงเข้ามา บ้านขุนจำนงฯเคยเป็นร้านขายฝิ่น และมีร้านเถ้าแก่เบี้ยวที่เปิดเป็นบ่อน (เรานึกภาพตามแล้วก็คิดอิจฉาไลฟ์สไตล์คนรุ่นปู่ ว่างก็สูบฝิ่นเข้าบ่อนไปเพลินๆ) สมัยก่อนนั้นคนที่รวยจริง คือพวกชาวบ้านชาวนา มีทองคำเก็บกันไว้เป็นกำปั่นๆ (ฟังดูเป็นเรื่องโกหกของคนสมัยนี้ใช่มั้ย) “เตี่ย” (บิดาของสามี - ป้าแกเรียกอย่างนั้น) ไปซื้อไม้เก่าจากท่าช้างมาสร้างเป็นห้องแถวได้ ๘ ห้อง เปิดเป็นร้านขายยา ร้านขายนาฬิกา ร้านขายเครื่องบวช ฯลฯ ตั้งใจสร้างไว้ให้ลูกๆสืบทอดปัจจุบันนี้สามีของป้าสายบัวเสียชีวิตไปแล้ว คุณป้ารักษากิจการร้านนาฬิกานี้ไว้เพียงลำพัง (ป้ามีลูก 8 คน แต่ย้ายไปทำงานมีครอบครัวอยู่กรุงเทพกันหมด) รายได้ของคุณป้านั้นไม่มากเหมือนอดีต แต่อยู่ได้เพราะมีลูกๆที่ส่งเงินกลับมาบ้านกันทุกคน ที่ยังเปิดร้านอยู่ทุกวันนี้เพราะด้วยเหตุผลเดียวคือ …กลัวเหงา

ไม่ไกลจากร้านนาฬิกา มีร้านขายยา “สามชุกโอสถ” อีกร้านที่เป็นมรดกตกทอดของ”เตี่ย” ร้านนี้ขายพวกยาบด สมุนไพรไทย สมุนไพรจีน ป้าสายบัวบอกว่า เตี่ยแกนั้นมีความรู้ทั้งด้านยาไทยและยาจีน ซึ่งยาโบราณพวกนี้ก็ได้มาจากพวกชาวบ้านนี่แหละ เมื่อก่อนนั้นสมุนไพรต่างๆหาง่ายมาก จะเอาอะไรก็มีหมด ชาวบ้านเข้าไปเก็บมาจากป่าแล้วมาขายให้เตี่ย แต่ถ้าเป็นยาจีน เตี่ยจะไปหาซื้อจากแถวสำเพ็ง ที่นั่นเป็นแหล่งสมุนไพรจีน ร้านสามชุกโอสถนี้ สมัยก่อนมีตู้ยาประดับประดาสวยงามมาก …แต่ตอนนี้ลูกหลานขายทิ้งไปหมดแล้ว


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคณะกรรมการของตลาดสามชุกทำโครงการได้ดี มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และคงเพราะเม็ดเงินมันสะพัดอย่างนี้นี่เอง เราจึงได้เห็นป้ายผ้ารณรงค์ต่อต้าน “ห้างฝรั่งติดแอร์” ที่เตรียมบุกเข้ายึดพื้นที่ในตลาดสุดคึกคักนี้ (ทั้งๆที่ขับรถออกจากตลาดไม่เท่าไหร่ ก็จะเจออีกสาขาหนึ่งแล้ว) เป็นภาพที่เห็นแล้วสะเทือนใจไม่น้อย

อันตรายจากทุนนิยม มันเป็นดาบสองคมจริงๆ จะเลี่ยงก็ไม่ได้ แต่จะให้รับทั้งหมดก็ลำบากใจ ลูกหลานของคนสามชุกในอดีต (ยุคที่โตมาพร้อมแนวคิดทุนนิยม) ก็เปิดท้ายทิ้งบ้านเข้าไปทำงานในกรุงกันหมด แม้จะส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่จริง แต่ความเจริญของบ้านเกิดมันก็ชะงักไปเห็นๆ พอตอนนี้มีคนคิดดีพยายามทำให้ตลาดเก่าได้กลับมาหายใจอีกครั้ง พวกนายทุนยักษ์ก็มาเร็วเหลือใจ ได้กลิ่นเงินเข้าหน่อยเป็นต้องขอร่วมโกยด้วยทันที ถ้าห้างติดแอร์ดังกล่าวเข้าเหยียบสามชุกได้จริง ความงามของตลาดเก่า 100 ปีนี้ก็จะจางลงไปทันตา พร้อมกันกับที่พ่อค้าแม่ค้าเจ้าถิ่น (รายย่อยๆ) ที่อาจต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน หรือไม่ก็ไปสมัครเป็นพนักงานขายในห้างเขาเถอะ!


หน้าร้านเท่านั้นที่เพิ่มสินค้าเอาใจนักท่องเที่ยวขึ้นมา เช่น อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ต่อท้ายว่า “สูตรโบราณ100 ปี” (ประมาณนั้น) ขนมในวัยเด็กที่ไม่เคยเปลี่ยนหีบห่อ (และห้ามเปลี่ยน มิฉะนั้นจะไม่ “โบราณ”) รวมถึงของเล่นสังกะสี ของเล่นไม้แบบเก่าๆ ตุ๊กตากระดาษ เกมส์น้ำเต้าปูปลา เกมส์บันไดงู (ถ้าใครไม่รู้จัก เห็นทีจะไม่อินกับการ-เที่ยวตลาดแบบนี้แน่) น่าเสียดายว่า หลายร้านขายสินค้าซ้ำๆกันเกินไป ทำให้ไม่มีเอกลักษณ์ (และแน่นอนว่าสินค้าลักษณะนี้ก็มีขายที่ตลาดเก่าอื่นๆด้วยเหมือนกัน)

ขอบคุณข้อมูลจาก www.tcdcconnect.com huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น