3.31.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๑๐ (สหราชอาณาจักร กับศิลป์เปลียนเมือง)


Inspiring ways to work with Arts 11-09-08
สหราชอาณาจักรได้นำเอาศิลปะแขนงต่างๆ เข้ามาช่วยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมืองในหลายๆ ด้าน เราได้รวบรวมตัวอย่างโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจนำมาดัดแปลงใช้กับ เมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพฯ และหัวหิน ของเราได้ ไม่เลวทีเดียว




๐ สถาปัตยกรรม แน่นอนว่าถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยศิลปะแล้ว หลายคนจะนึกถึงสถาปัตยกรรมเป็นอันดับแรก นี่คือตัวอย่างโปรเจ็กต์จากสหราชอาณาจักรที่เลือกใช้สถาปัตยกรรมปรับปรุงเมือง Deptford Project ตลาดขายงานศิลปะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่บรรดาร้านค้าและห้องแสดงภาพต่าง ๆ จะมารวมตัวกันเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ที่ Deptford High Street โดยใช้อุโมงค์รถไฟที่มีมาแต่เดิม และซ่อมแซมตู้โดยสารรถไฟจนนำกลับมาใช้การได้ ระยะแรกที่ Deptford Project ได้เริ่มดำเนินการเมื่อต้นปีนี้มีการนำตู้โดยสารรถไฟกลับมาใช้การใหม่ในรูปแบบอื่น ตู้โดยสารรถไฟสาย South East ซึ่งมีน้ำหนัก 35 ตันได้ถูกดัดแปลงเป็นคาเฟ่ขายอาหารขนาดเล็ก และให้บริการอาหารโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นภายนอกของตู้โดยสารยังถูกเปลี่ยนให้เป็นบิลบอร์ดโฆษณาโครงการนี้ โดยทำเป็น กราฟิตี้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้



๐ ทัศนศิลป์ Visual Arts หรือทัศนศิลป์เป็นอีกหนึ่งแขนงศิลปะที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกราฟฟิตี้ซึ่งบางครั้งถูกมองว่าเป็นศิลปะ แต่บางครั้งก็ถูกจัดว่าเป็นการขีดเขียนทำลายทรัพย์สินสาธารณะ กราฟิตี้หรือภาพขีดเขียนบนฝาผนังไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายและถูกมองข้ามเสมอไป หลายครั้งที่กราฟิตี้ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปะแห่งท้องถนน นิทรรศการขนาดใหญ่ครั้งแรกที่จัดขึ้นบริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern คือนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินชื่อดัง 6 คนซึ่งเกี่ยวข้องกับเมือง โดยมีการเสวนา ฉายภาพยนตร์ และนิทรรศการต่าง ๆ นอกจากนี้เว็บไซต์ที่จัดโดยช่องโทรทัศน์ Channel 4 ยังเชิญชวนให้คนทั่วไปนำภาพถ่ายงานศิลปะที่ Tate Modern ตลอดจนงานของศิลปินคนอื่น ๆ และงานศิลปะบนท้องถนนทั่ว ๆ ไป มาดาวน์โหลดแลกเปลี่ยนกันดูผ่านเว็บไซต์อีกด้วย เราอาจให้ศิลปินร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจจากคนทั่วไป หรืออาจจะเป็นกราฟิตี้บนอาคารซึ่งสามารถลบออกได้หลังจากเสร็จงานแล้วอย่างที่ Tate Modern ทำ


๐ วรรณกรรม ใครจะคิดว่าวรรณกรรมก็มีบทบาททำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่นำบทกวีและวรรณกรรมมาใช้ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในเมือง การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะ Urban Words เป็นองค์กรที่ดำเนินการจัดการโครงการต่าง ๆ ทั่วลอนดอน โดยเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียนและสถานที่ โดยเอื้อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับผู้วางแผนงานและการเสนอแผนต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ และเพื่อเป็นการฉลองการเปิดสถานีรถไฟ St. Pancras International และต้อนรับรถไฟยูโรสตาร์ที่จะเปลี่ยนมาใช้สถานีนี้เป็นครั้งแรก กวีท่านหนึ่งได้เขียนงานโดยใช้ระยะเวลา 3 เดือนร่วมกับกลุ่มเยาวชน 3 กลุ่มในพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวต่าง ๆ ของ Foundling Museum และการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณ King’s Cross นอกจากนี้ยังมีการจัดงานอื่น ๆ รวมถึงนิทรรศการในแกลเลอรี่ที่พิพิธภัณฑ์ด้วยวรรณกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะได้โดยการนำบทกวีมาเขียนไว้ตามสิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้า หรืออาคารต่าง ๆ กวีหลายคน รวมถึงกวีชื่อดังอย่างแอนดรูว์ โมชั่น ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะด้วยวิธีนี้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประติมากรและศิลปินได้ทำงานผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อทำให้โคลงกลอนต่าง ๆ ที่เขาเขียนได้เผยแพร่สู่สายตาประชาชน



๐ แฟชั่น บางกิจกรรมไม่ถือว่านำศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่งมาใช้โดยเฉพาะ หากเป็นการจับเอาศิลปะสองแขนงมาใช้ร่วมกันอย่างลงตัว เรามีตัวอย่างจากอังกฤษมาให้ดูกันโรงเหล้า The Old Truman Brewery บนถนน Brick Lane ในแถบตะวันออกของกรุงลอนดอน เป็นผู้ก่อตั้งและให้เงินทุนสนับสนุนหลักของโครงการ Fashion East โรงเหล้าแห่งนี้มีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแฟชั่นโชว์หลายครั้งในช่วงปี 1997-2000 และยังคงสนับสนุนนักออกแบบหน้าใหม่ในโครงการ Fashion East จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันโครงการนี้เป็นจัดแฟชั่นโชว์ 3 งานระหว่างสัปดาห์แฟชั่นโชว์ London Fashion Week ประจำฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง โรงเหล้านี้ตั้งอยู่ในชุมชนที่เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของลอนดอน แต่หลังจากงาน Fashion East บริเวณนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่นระดับสูงที่โดดเด่นจนคนในวงการแฟชั่นต้องไม่พลาดมาเยี่ยมชมระหว่างแฟชั่นวีค


๐ งาน Fashion East มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วงการแฟชั่นฟื้นตัวขึ้นมาใหม่หลังจากซบเซาไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์เกิดขึ้นมากมายลองนึกถึงการทำงานข้ามสาขาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่นอกเหนือความคาดหมายในพื้นที่สาธารณะ Hairywood Tower สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างแฟชั่นดีไซเนอร์และสถาปนิก ลวดลายงานไม้ที่ตัดด้วยเลเซอร์ออกแบบโดยเอลี่ คิชิโมโตะ ซึ่งทำงานร่วมกับสถาปนิก 6a ตึก Hairywood Tower ดังกล่าวได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ลาน Covent Garden Piazza ระหว่างเทศกาล London Festival of Architecture

๐ ดนตรี กิจกรรมดนตรีอย่างคอนเสิร์ตหรืองานซาวน์ดอาร์ตที่จัดขึ้นในสถานที่สาธารณะในเมืองและเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและคนทั่วไปได้หัีนกลับมามองดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา และ คิดหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย ในแต่ละปีตามเมืองต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร กลุ่ม Sonic Arts Network ได้จัดคอนเสิร์ต งานศิลปะ เวิร์คช็อป การประชุม และนิทรรศการในพื้นที่สาธารณะ โดยพยายามไม่จัดงานในสถานที่ทั่วๆ ไป แต่จะจัดงานในพื้นที่ที่ถือเป็นหัวใจของชุมชนนั้น ๆ

เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและคนทั่วไปได้หันมาคิดทบทวนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตน ที่เมืองแมนเชสเตอร์พวกเขาจัดงาน ‘No Petting, No Running, No Bombing’ ที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองอย่าง Victoria Baths โดยได้จัดงานศิลปะเกี่ยวกับซาวน์ดและการแสดงสมัยใหม่ โดยให้ศิลปินลงไปแสดงในสระว่ายน้ำอันว่างเปล่า และพื้นที่ที่เคยเป็นอ่างอาบน้ำโบราณก็ถูกแทนที่ด้วยซาวน์ดแปลกๆ



๐ Silent Disco หรือ ดิสโก้เงียบ เป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่สาธารณชนได้ โดยแต่ละคนจะได้รับหูฟังซึ่งสามารถเลือกรับฟังเพลงสองชุดจากดีเจสองคน และเต้นไปตามจังหวะเพลงที่ตัวเองเลือก นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนเพลงระหว่างเพลงและเปลี่ยนไปเต้นกับอีกกลุ่มเมื่อไหร่ก็ได้อีกด้วย แม้แต่ดีเจและพนักงานที่บาร์ก็สวมหูฟังเช่นกัน ดิสโก้เงียบสามารถจัดได้ในพื้นที่หลายหลายทั้งในอาคารและกลางแจ้ง

๐ โครงการ Peripheral ของแอลัสเตอร์ ดานท์, ทอม เดวิส และเดวิด กันน์ (แห่ง The Folk Songs Project) ที่ Piccadilly Gardens ในเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นการแสดงงานศิลปะที่ผสมผสานและรีมิกซ์เสียงต่าง ๆ ในเมืองแมนเชสเตอร์ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายถ่ายทอดเสียงสดที่เชื่อมโยงใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์เข้ากับแถบชานเมือง และทำให้ผู้คนแถบชานเมืองสามารถควบคุมการผสมผสานของดนตรี, เสียง และเสียงแ็บ็กกราวนด์ Manchester: Peripheral ครั้งแรกจัดโดย Futuresonic ในปี 2006 จากนั้น Futuresonic ได้พัฒนาโปรเจ็กต์นี้อีกครั้งโดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Manchester International Festival และร่วมงานกับทีมศิลปินหลายคนเป็นเวลากว่า 18 เดือน

๐ อื่นๆ นอกจากศิลปะแขนงต่างๆ แล้ว ยังมีอีกมากมายหลายวิธีในการพัฒนาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหน้าตาของเมือง ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้ศิลปะแบบต่างๆ, เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมในเมือง, ทัวร์ศิลปะ, การร่วมกันของศิลปินและคนในชุมชน, จัดประชุมสัมมนา และกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ มาร่วมมือกันทำให้หัวหิน เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นดีกว่า!
๐ ทัวร์เดินชมศิลปะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการทำให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในชุมชน ในเทศกาล Edinburgh Festival เมื่อปีที่แล้ว ปีเตอร์ เรเดอร์ได้พาผู้คนเดินเยี่ยมชมอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยปีเตอร์อธิบายว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่ไม่ชอบงานศิลปะมีโอกาสได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวชมงานศิลปะ ปีเตอร์ร่วมงานกับศิลปินในท้องถิ่นและสมาชิกของชุมชนเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจและประวัติของอาคารต่าง ๆ ก่อนที่จะเรียงร้อยถ้อยคำออกมาเป็นคำพูด

ปีเตอร์จะเล่าเรื่องราวและยกตัวอย่างโดยใช้สิ่งของและ ‘ของมีค่า’ ประกอบการเล่า คุณจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เขาเล่านั้นเป็นความจริงหรือเป็นเพียงเรื่องเล่า ทัวร์เดินชมศิลปะนี้มักจะจบลงด้วยการดื่มเครื่องดื่มหรือน้ำชา จึงเป็นการจบทัวร์แบบที่ผู้คนไม่ได้คาดคิดและเปิดโอกาสให้สังสรรค์และสนุกสนานกัน ทัวร์เดินชมศิลปะนี้อาจจัดในอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอาคารที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม เพื่อจะได้เกิดบรรยากาศแบบลึกลับจากการได้เห็นพื้นที่ที่ปกติไม่เปิดให้คนได้เข้าชม แนวคิดในการจัดทัวร์เดินชมศิลปะนี้อาจนำไปใช้กับชุมชนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่คนทั่วไปมักจะไม่เดินผ่าน ทัวร์เดินชมศิลปะนี้อาจเป็นการพากลุ่ม ‘นักท่องเที่ยว’ (ผู้ชม) ไปเดินชมสถานที่ในชุมชนโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นั้น ๆ ข้อมูลว่าชุมชนได้เข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างไร ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของชุมชนนั้น ๆ




๐ Further Up In The Air & Hotel Ballymun เป็นโครงการศิลปะข้ามสาขา 2 โครงการที่ดำเนินงานในอาคารที่พักอาศัยที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองลิเวอร์พูลและดับลิน ทั้งสองโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศิลปินทัศนศิลป์ นักออกแบบ ผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียน และนักแสดงเป็นระยะเวลา 1-2 ปี เพื่อสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ในการอาศัยอยู่ในอาคารรกร้างแห่งนั้น การพักอาศัยในอาคารที่รกร้างว่างเปล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการจัดงาน นิทรรศการ และการตีพิมพ์งานเขียนที่ว่าด้วยตัวตนของชุมชนนั้นๆ และยังเน้นความยุ่งยากซับซ้อนของการฟื้นฟูเมืองและการอาศัยอยู่ในเมืองด้วย

เห็นอย่างนี้แล้ว อยากให้ใหญ่ใจดี ลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ เพื่อการพัฒนาเมืองด้วยศิลปะ ให้กับ เยาวชนคนรุ่นใหม่ แห่งเมืองหัวหิน ไม่ให้หันเหความสนใจไปยัง สิ่งจูงใจไม่สร้างสรรค์ทั้งหลาย กันบ้างนะ ว่ามั๊ย !!

ขอบคุณเรื่องและภาพจาก http://www.changebangkok.com/
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น