3.26.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๖ (อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรฯ)


สวัสดี ชาวหัวหิน ที่เคารพรัก
นี่เป็นอีกวันที่ huahinhub อาสาพามาเล่า (อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร บริหารจัดการโดย มูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) 1 ในสถานที่ ละแวกบ้านเรา ที่น่าบันทึกไว้ ให้ชาวหัวหิน รับรู้เรื่องราวความเป็นไป รวมถึง หากมีโอกาส เข้าเยี่ยมชม เพื่อการศึกษา หาความรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเราชาวหัวหินกัน อย่าให้เสียเวลา ตามมาตามา huahinhub จะพาไป....let's go

มูลนิธิอุทยานฯ กับการก่อตั้งและความเป็นมา
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ได้ร่วมกันจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ ในปีพุทธศักราช 2546 และได้รับพระราชทานนามว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” The Sirindhorn International Environmental Park)

โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรฯ ประกอบด้วยกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
๐ ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
๐ ค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
๐ ค่ายสิ่งแวดล้อมนานาชาติ
๐ ห้องเรียนธรรมชาติ




1) ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มี 9 สถานีนิทรรศการ
เป็นศูนย์การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดนิทรรศการในลักษณะของ “การสื่อสาร 2 ทาง (Two Ways Communication)” โดยนิทรรศการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 8 สถานี ซึ่งนิทรรศการในแต่ละสถานีจะเป็นการนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป อาทิ แบบจำลอง หุ่นจำลอง การสาธิต และการทดลองทำ ประกอบด้วย

สถานีที่ 1 : รู้จักพลังงาน
สถานีที่ 2 : ไฟฟ้ามาจากไหน ?
สถานีที่ 3 : สภานการณ์พลังงาน
สถานีที่ 4 : วิกฤตสิ่งแวดล้อม
สถานีที่ 5 : บ้านประหยัดพลังงาน
สถานีที่ 6 : เดินทางหารสอง
สถานีทึ่ 7 : สำนักงานและโรงเรียนหารสอง
สถานีทึ่ 8 : 1A 3R
สถานีที่ 9 : พิพิธภัณฑ์พระบิดาพลังงานฯ




ซึ่งในภาพรวม สถานีทั้ง 9 นำเสนอ
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงาน ความสำคัญของพลังงานในระบบนิเวศ แหล่งพลังงาน ทรัพยากรพลังงานชนิด ต่างๆ การเกิดสะสม และการนำมาใช้...

ที่มาของพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งหน่วยการผลิตและวัดไฟฟ้าที่ใช้อยู่ วิธีการผลิตไฟฟ้าแบบต่างๆ ชนิดและปริมาณของทรัพยากรพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ปริมาณทรัพยากรพลังงานที่ต้องใช้จริงในการผลิตและจัดส่งพลังงานไฟฟ้าให้ถึงผู้บริโภค ผลกระทบที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า...

การผลิตและจัดหาพลังงานภายในประเทศ และการนำเข้าจากต่างประเทศ ปริมาณสำรองของทรัพยากรพลังงานชนิดต่างๆ และแนวโน้มแหล่งพลังงานในอนาคต ความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ ทิศทางและแนวโน้มความต้องการใช้ในสาขาการผลิตต่างๆ...
ผลกระทบจากการผลิตและใช้พลังงาน ความรุนแรงของผลกระทบที่ตรวจพบได้ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทางเลือกในการป้องกันผลกระทบจากการผลิตและใช้พลังงาน...

ตัวอย่างของบ้านหารสอง อิทธิพลของการออกแบบบ้านต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สาเหตุของการสูญเสียพลังงานในส่วนต่างๆของบ้าน การเลือกใช้วัสดุประกอบอาคาร การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสม โครงสร้างและส่วนประกอบของบ้านที่จะช่วยในการอนุรักษ์พลังงาน...

ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางคมนาคม และการขนส่งการอนุรักษ์พลังงาน แนวทางและทางเลือกในการเดินทางที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลเสียของการสูญเสียพลังงานจากการเดินทาง เกณฑ์ในการเลือกใช้พาหนะการเดินทางที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม วิธีการใช้รถยนต์ที่ถูกต้องเหมาะสมและช่วยอนุรักษ์พลังงาน...

การออกแบบและการจัดพื้นที่ใช้สอยของสำนักงาน การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน การอนุรักษ์พลังงานใน สำนักงาน การจัดห้องเรียน การเลือกใช้หลอดไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้า อื่นๆ การมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู ภารโรงและยาม ในการร่วมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน การจัดทำสำนักงานและ...

โรงเรียนหารสอง ลักษณะการสูญเสียพลังงานในสำนักงานและในโรงเรียน และการสูญเสียพลังงานจากพฤติกรรมการใช้ที่ไม่เหมาะสม วิธีการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ในสำนักงานและอุปกรณ์การสอนต่างๆในโรงเรียน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในสำนักงาน และบทบาทของครู นักเรียน และบุคลากรอื่นในโรงเรียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน...

แนวทางและการจัดการขยะด้วยวิธีที่ถูกต้อง ผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์ในการจัดการขยะมูลฝอยที่ทุกคนมีส่วนร่วมและปฏิบัติได้ การงด เลิก ลดปริมาณการใช้ การบริโภค การใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ...

และนำเสนอพระราชกรณียกิจและโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ในพระราชดำริ ด้วยพระราชฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยเฉพาะการพัฒนาด้านพลังงาน อาทิเช่น
- พลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง
- ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ พลังงานชีวภาพ ได้แก่ โครงการวิจัยการผลิตเอทานอล โครงการดีโซฮอล์ ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์
- พลังงานน้ำ ได้แก่ โครงการต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ
- ปฏิบัติการฝนหลวง ปีพุทธศักราช 2539 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีพระราชดำริให้มีการปลูกป่าพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานเฉลิมฉลองสิริราช สมบัติครบ 50 ปี ด้วยเหตุนี้บนพื้นที่เสื่อมโทรมกว่า 4,000 ไร่ ของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ จึงกลายเป็นพื้นที่ปลูกป่าพระราชทาน มีการปลูกทั้งไม้ผล ไม้ใช้สอย และไม้รักษาต้นน้ำลำธาร ตลอดจนเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ผสมผสานความเป็นอยู่อย่างสอดคล้องร่วมกันของคนกับป่า อันเป็น แนวทางที่ดีในการอนุรักษ์แหล่งน้ำลำธาร ฟื้นฟูสภาพป่าและดิน เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทั้งมวล
เป็นต้น





2) ค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นสถานที่เข้าค่ายพักแรมสำหรับผู้เข้าอบรม ภายในค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ บ้านพักหลายขนาด, ลานกางเต้นท์




3) ค่ายสิ่งแวดล้อมนานาชาติ
เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มอนส) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างและพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนภายในพื้นที่ของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือครูผู้สอนที่อยู่ในโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโรงเรียนอื่นๆ ที่ สสวท. จัดฝึกอบรม ซึ่งก็มีทั้งบ้านพักหลากหลายแบบและขนาด รวมทั้งลานกางเต้นท์ เช่นกัน




4) ห้องเรียนธรรมชาติ
๐ ป่าชายเลน
ระยะที่ 1 ปลูกบริเวณพื้นที่คลองบางตราน้อยและคลองบางตราใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ตามลำดับ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน จำนวน 32 ชนิด (เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ทั้งสองแห่ง)

ระยะที่ 2 ปลูกบริเวณพื้นที่ส่วนแยกคลองบางตราน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ประกอบ ด้วยพันธุ์ ไม้ป่าชายเลน จำนวน 22 ชนิด (เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่)

ระยะที่ 3 ปลูกบริเวณพื้นที่คลองบางตราใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน (20%) และป่าชายหาด (80%) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้การกำกับทางวิชาการ โดยศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว

ปัจจุบันสภาพป่าชายเลน ดังกล่าว มีความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศมีความสมดุลมีสัตว์เข้ามาอยู่อาศัยหลากหลายชนิดและหลากหลายพันธุ์ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ สำหรับศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนได้อีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีเส้นทางเดินสะพานไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เที่ยวชมและศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ประกอบด้วย

๐ ป่าชายหาดและป่าบก
ศึกษาสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่ที่มีการปลูกป่าชายหาดและป่าบก จำนวน 538 ไร่ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับดินนานาชนิด ส่วนป่าบกเน้นการปลูกต้นยางนาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติในการศึกษาระบบนิเวศป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง

๐ การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและป้องกันทรายปิดปากคลอง โดยได้ดำเนินการสร้างเกาะกันคลื่นและเพิ่มจำนวนทรายบริเวณชายฝั่งหน้าอุทยานฯ และสร้างเขื่อนป้องกันทรายที่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและคลองบางตราใหญ่ ให้น้ำทะเลเข้าออกได้ตามปกติ เพื่อรักษาความสมดุลระบบนิเวศของป่าชายเลนในการขยายพันธุ์สัตว์น้ำออกสู่ทะเล และเป็นประโยชน์ในการพักหลบคลื่นสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน ดำเนินการโดยกรมการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม

๐ การสาธิตการใช้พลังงานทดแทน
พลังงานลม - การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานลมในการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร โดยการติดตั้งกังหันลมสูบน้ำได้ 21 ลบ.ม./วัน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้ในแปลงพื้นที่ป่าบก และพื้นที่ทำการเกษตร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 400 วัตต์ เพื่อสาธิตบริเวณศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในปี 2550 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการติดตั้งกังหันลมสาธิตการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Mini Wind Farm จำนวน 1 ระบบ มีกำลังผลิต 3 กิโลวัตต์ บริเวณค่ายการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้พลังงานสะอาด และสามารถขยายผลต่อยอดการใช้พลังงานลมเป็นพลังงานทางเลือกได้ในอนาคต hhh


๐ พลังงานแสงอาทิตย์
ในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 2จุด คือ อาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม บริเวณอาคารจอดรถขนาดกำลังผลิต 28.86 กิโลวัตต์ และค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิต 16.095 กิโลวัตต์ ในรูปแบบต่อไฟฟ้าเข้าระบบและแบบอิสระ เพื่อนำมาใช้เป็นไฟแสงสว่างบริเวณอาคารจอดรถและทางเดินในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มความชุมชื้นของดินในป่าอีกด้วย

๐ แหล่งศึกษา เรียนรู้และเผยแพร่การใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่เหมาะสมแก่ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ศูนย์ทดลองวิชาการพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จังหวัดราชบุรี จัดให้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้และเผยแพร่การใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมให้กับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง โดยการแนะนำ ฝึกอบรมการผลิต และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมประเภทต่าง อาทิ เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง เตาหุงต้มชีวมวล เตาเผาขยะ อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบก๊าซชีวภาพ การผลิตไบโอดีเซล

๐ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเทคโนโลยีบึงประดิษฐ์
การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ โดยการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบเทคโนโลยีบึงประดิษฐ์ขนาด 73,000 ลบ.ม./ปี ดำเนินการโดย องค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการบำบัดน้ำเสียและจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ ควบคุมมลพิษเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี





สถานที่ติดต่อ : มูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่อยู่ : 1281 ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120
โทรศัพท์ : 032-508-352, 032-508-379, 032-508-405-410
โทรสาร : 032-508-397

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sirindhorn.or.th/
huahinhub Thanks hhh


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น