3.31.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๙ (ศิลปะ กับการเปลียนเมือง)



ในรอบปี 2551 ที่ผ่านพ้นไปนั้น เกิดกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง

กรุงเทพฯ เองก็มีโครงการดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองหลายโครงการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Change Bangkok หรือกรุงเทพหัวเป็นหาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Transforming Public Spaces ภายใต้โครงการใหญ่ Creative Cities ที่มีบริติช เคานซิล (องค์กรจากอังกฤษที่ทำงานเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม) เป็นหัวเรือใหญ่

Change Bangkok มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นโดยใช้ศิลปะเข้าไปช่วยในการพัฒนาพื้นที่ โครงการนี้เริ่มจากการเฟ้นหาสถานที่ที่ควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเสนอสถานที่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้ในเว็บไซต์ www.changebangkok.com พร้อมกับมีการโหวตและแสดงความคิดเห็นเพื่อหาสถานที่ที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 10 แห่งของกรุงเทพมหานคร

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ มีการจัดเทศกาลออกแบบบางกอก 2551 ขึ้นตามพื้นที่ใจกลางเมืองหลายๆ แห่ง อาทิ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นต้น โครงการ Transforming Public Spaces: Change Bangkok ก็ร่วมในเทศกาลนี้เช่นกัน โดยจัดแสดงนิทรรศการบริเวณชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงแผนที่กรุงเทพฯ ขนาดใหญ่ พร้อมกับภาพที่ประชาชนส่งเข้ามาชิงความน่าเกลียดกันในเว็บไซต์ ซึ่งผู้ชมงานสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น โดยใช้ post - it เขียนแปะลงบนผนังและกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไป

ภาพกว่า 100 ภาพที่ส่งเข้ามาในช่วงแรกบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และผู้ส่งได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่ส่งรูปถ่ายสวยๆ เพื่อหวังชิงเงินรางวัล 7,000 บาท 10 รางวัลที่ทางบริติช เคานซิลตั้งเอาไว้ เราได้เห็นทางเท้าที่ทรุดโทรมบนสุขุมวิท ถนนที่เรียกว่ามีความเจริญสายหนึ่งของกรุงเทพ สายไฟห้อยระโยงระยางแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่มีมวลชนสัญจรไปมาวันละจำนวนมาก

แต่ดูเหมือนทุกคนจะเพิกเฉยหรือชินชากับสภาพอุจาดเหล่านี้ไปเสียแล้ว ตึกร้างหลายๆ หลังถูกส่งเข้ามาในมุมมองที่แตกต่างกันไป

บางตึกอยู่ในละแวกที่มีความเจริญมากๆ ด้วยซ้ำไป หรือบรรยากาศของถนนที่มีรถไฟฟ้าผ่านที่ควรจะดูเป็นความศิวิไลซ์ในชีวิต แต่ภาพมันฟ้องว่าสิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นมันไร้ชีวิตสิ้นดี
ความใหญ่โตของเสาคอนกรีต สีสันที่ดูแห้งแล้ง ภาพคลองเน่าๆ ใต้สถานีรถไฟฟ้าตากสิน ภาพเหล่านี้เป็นเรื่องจริงใกล้ๆ ตัวที่เราจำยอมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน

แม้ลึกๆ ยังแอบตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีใครหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเหล่านี้ให้มันดีขึ้นกว่าเดิมเสียทีหนอ

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเลือกพื้นที่อย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ที่ทางบริติช เคานซิลจะเชิญศิลปินนักสร้างสรรค์จากประเทศอังกฤษมาทำงานร่วมกับศิลปินไทยในการเปลี่ยนแปลงให้ดูดีขึ้น โดยใช้ศิลปะเป็นตัวกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเมือง ซึ่งเป้าหมายของการเปลี่ยนกรุงเทพครั้งนี้ตั้งเอาไว้ในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของเทศกาลออกแบบบางกอกครั้งต่อไปนั่นเอง
ส่วนความคืบหน้าของโครงการ ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ อันสืบเนื่องจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองกรุงเทพฯ ผ่านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เราจะรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง ระหว่างนี้ลองช่วยกันดูภาพเหล่านี้และคิดดูสิว่าจุดไหนควรเปลี่ยนแปลงที่สุดในใจคุณ

บริติช เคานซิล (British Council) หัวเรือใหญ่ในการจัดโครงการ Transforming Public Spaces ที่จุดกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก
พัฒนาการของความเป็นเมือง อย่างกรุงเทพฯ เป็นอนาคตกาลที่สัมผัสถึงได้ ขณะที่ความเจริญ การพัฒนา ความทันสมัย ที่กำลังถาโถมเข้าสู่หัวหิน บ้านเรา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ชาวเมืองหัวหินเอง ต้องพึงตระหนัก และรักษาความสมดุลย์ ระหว่าง ความเป็นเอกลักษณ์ และความเจริญ (ที่อาจเปลี่ยนเราไปเป็นอย่างอื่น) อย่างที่ ปู่ย่าตายาย-ผู้เฒ่าผู้แก่-บรรพชนในอดีต เคยร่วมก่อร่างสร้าง บ้านเมืองนี้ไว้ กระทั่งเป็นหัวหินที่เราพึ่งพงอาศัย ในปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.changebangkok.com/
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น