3.31.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๙ (หว่านเมล็ดพันธ์แท้กัน)



จำได้ว่า เคยรับประทานข้าวผัดกะเพรากลิ่นหอมฉุย แต่ปัจจุบันกะเพราใบโตปราศจากกลิ่น ส่วนมะเขือเทศรู้จักกันแค่พันธุ์สีดา

ทั้งๆ ที่มีพันธุ์อื่นๆ มีอีกมากมาย พืชพันธุ์เหล่านี้หายไปไหน โจน จันได กำลังตามหาพันธุ์แท้ในโลกใบนี้
ปัจจุบันเราได้รับประทานมะเขือเทศไม่กี่สายพันธุ์และเป็นพันธุ์ผสม เรารู้จักแค่พันธุ์สีดา ท้อหรือเชอร์รีเท่านั้น ใบกะเพราแดงพื้นบ้านกลิ่นแรงๆ หายไปไหน ไม่ต่างจากกระเทียมกลีบเล็กๆ กลิ่นฉุนหรือหอมลูกเล็กปอกครั้งใดน้ำตาไหล ปัจจุบันมีเพียงหอมกระเทียมจีนกลีบใหญ่ๆ และกลิ่นไม่สมกับเป็นกระเทียม หรือมะละกอฮอลแลนด์เข้ามาแทนที่พันธุ์แขกดำ....ถ้าจะให้บรรยายถึงพืชผักที่หายไปคงมีอีกนับไม่ถ้วน

เมล็ดพันธุ์แท้อยู่ไหน
“เราเริ่มมองเห็นว่าอาหารที่เรากิน อยู่ในภาวะวิกฤติ เหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร” โจน จันได กล่าวและเขากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในเรื่องการสร้างบ้านดิน ตอนนี้เขากำลังตามหาเมล็ดพันธุ์แท้จากทั่วโลกเพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลัง เขาบุกเบิกซื้อพื้นที่กว่ายี่สิบไร่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทำเป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พันพรรณ

ทั้งๆ ที่ผืนดินบนเนินเขาที่เขาตั้งเป็นศูนย์บัญชาการปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านแทบจะปลูกอะไรไม่ได้เลย แต่เขาปล่อยให้หญ้าหางหมาขึ้นแล้วฝังกลบเป็นปุ๋ยใช้เวลาสองปีในการปรับหน้าดิน จนเริ่มเห็นผลในปีที่สาม ปัจจุบันเข้าปีที่ห้าพืชผักเริ่มออกผลให้เก็บเมล็ดพันธุ์

"คุณรู้ไหม 90% ของเมล็ดพันธุ์เติบโตจากการใช้สารเคมี มันพัฒนามาเพื่อผูกขาดทางการค้า บางพันธุ์จำกัดการงอก นั่นเป็นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อครอบครองอาหาร"



เรื่องที่ โจน จันได กล่าวไม่ได้เกินเลยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ วิกฤติของอาหารในเรื่องเมล็ดพันธุ์แท้ที่หายไปจำนวนมาก โจนบอกว่า เรามีทางเลือก แต่เราไม่เลือก เมื่อก่อนทุกครอบครัวในสังคมไทยจะมีเมล็ดพันธุ์ห้าชนิดในบ้าน แต่ปัจจุบันเรามีไม่กี่ชนิด

“เกษตรกรยิ่งปลูกพืช ยิ่งเป็นหนี้ เพราะทุกครั้งต้องลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ รวมทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนจากบริษัทที่นำมาให้ปลูกและรับซื้อคืน แต่สุดท้ายก็ไม่มีกำไร” โจนตั้งข้อสังเกตและบอกว่า ทำไมคนทำงานหนักแล้วไม่พอกิน ทั้งๆ ที่สมัยปู่ย่าตายายไม่มีใครทำงานวันละแปดชั่วโมง ไม่มีใครใช้คำว่า ทำงาน มีแต่ไปดำนาเกี่ยวข้าว

ทำตัวขี้เกียจแต่มีความสุข
“คนสมัยก่อนมีความสุข มีเวลาว่างมาก ทำให้ได้อยู่กับตัวเองมาก คนที่อยู่กับตัวเองคือคนที่เห็นตัวเอง เมื่อเห็นตัวเองก็รู้ว่า ชีวิตเกิดมาทำไม และคนคนสมัยก่อนนอนกลางวันกันมาก ตื่นขึ้นมาก็นินทากัน หัวเราะตลกกันตลอด ชีวิตน่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาเป็นหุ่นยนต์ในเมือง” โจน บอกเช่นนั้น เพราะเขาไม่อยากเป็นหุ่นยนต์ในเมืองหลวง จึงต้องกลับมาทำการเกษตร

"ผมเคยไปอยู่กรุงเทพฯเจ็ดปีไม่เคยกินอิ่มเลย และถามตัวเองว่า ชีวิตเราทำงานให้ใคร ผมก็เลยกลับบ้านไปเป็นชาวบ้าน แต่ผมก็ไม่ได้อยู่อย่างชาวบ้าน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกผักเพื่อขาย ยิ่งปลูกยิ่งไม่เหลืออะไร ทั้งๆ ที่ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ทำให้ชีวิตซับซ้อน จนไม่มีเวลาคิดถึงตัวเอง คิดถึงแต่งาน งาน หาเงินและใช้เงิน ทำงานหนักขนาดนี้แล้วไม่พอกิน ก็ต้องคิดแล้ว"

โจนเปรียบชีวิตลักษณะนั้นเหมือนน้ำในตุ่มที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไรก็ไม่เต็ม จึงต้องหาทางเลือก ลดการซื้ออาหารก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากทำเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่ได้บอกชาวบ้านว่า ต้องทำแบบนี้ ถ้าพวกเขาเห็นด้วยกับความคิดก็มาดูเอง ปลูกพืชผักพริกหอมกระเทียมอย่างละไม่เกินห้าต้น ก็อยู่ได้แล้ว

"อย่างเมื่อก่อนแม่ผมเคยเก็บผักไปขายได้วันละห้าสิบบาท บางคนอาจจะคิดว่าน้อยมาก แต่บ้านผมไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นจึงอยู่ได้ ขณะที่ครูเงินเดือนหมื่นกว่าแต่เป็นหนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่า มีเงินน้อยสามารถมีเงินมากได้ ถ้าอยากรวยแต่จน ถ้าอยากจนจะมีเงินเหลือใช้ ทั้งๆ ที่ชีวิตมีทางเลือก แต่เกษตรกรก็เป็นทาสในผืนนาตัวเอง"

เมล็ดพันธุ์เพื่อความยั่งยืน
“ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อความยั่งยืน บนเนินเขาที่ผมทำเกษตร ที่นี่ดินไม่ดี แต่น้ำเยอะ ตอนนี้ผมเก็บพันธุ์แตงโมได้ 20 ชนิด มะเขือเทศกว่า100 ชนิด แต่ค่อยๆ ปลูกได้ไม่ถึง 50 ชนิด ปัญหาคือ ขาดแรงงาน” โจน เล่าให้ฟัง และอยากให้ช่วยกันปลูกพืชผักเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะพืชผักที่เรากินทุกวันนี้ไม่ใช่พันธุ์ไทย ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ผสมจากต่างประเทศ อาทิเช่น ผักบุ้งจีน

โจน เล่าว่า เคยรับประทานแตงโมหมอนอร่อยมาก แต่พันธุ์นี้ได้หายไปแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรปลูกแตงโมจินตหรา ส่วนพวกใบแมงลัก โหระพาเป็นพันธุ์ผสมใบใหญ่ รสชาติไม่ดี

“ที่นี่จะพัฒนาพันธุ์แท้และพันธุ์พื้นบ้าน อย่างพันธุ์แตงโมกว่าพัฒนาเป็นพันธุ์แท้ได้ต้องปลูกถึง 7 รุ่น”

นอกจากพาไปดูแปลงปลูกผักและมะเขือเทศที่ปล่อยให้ต้นแก่เต็มที่ เพื่อจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไป รวมถึงแจกเกษตรกรที่มีความตั้งใจที่จะปลูกจริงจัง เมล็ดพันธุ์ที่เขาเก็บจึงมีทั้งเมล็ดที่มีเนื้อเยื่อหุ้ม จะเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนเมล็ดเปียกไม่มีเมือก ก็ไม่ยากในการเก็บรักษา ส่วนเมล็ดอีกพวกเก็บได้ทันทีเลยคือ เมล็ดผักกาด ผักสลัด กะหล่ำ

"ที่นี่จะไม่เก็บเมล็ดพันธุ์แบบนักวิชาการ พวกเขาเก็บไว้เป็นสิบๆ ปีเพื่อที่จะปลูกใหม่ ทำให้ไม่พัฒนาตัวเอง และไม่อยู่ในอุณหภูมิธรรมชาติ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่เราเก็บเมล็ดพันธุ์ในฐานะอาหาร ปลูกไปกินไป พืชทุกอย่างจึงปลูกคัดเลือกแจกจ่ายพันธุ์ต่างๆ ที่ต้องปลูกภายในสองปี ทั้งเก็บและปลูกด้วย"

โจน เชื่อว่า ถ้าเขาไม่รีบปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหรือพันธุ์แท้ จะมีบริษัทไม่กี่รายผูกขาดในเรื่องอาหาร และปัจจุบันก็ไม่รู้ว่า คนรับประทานพืชจากเมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมมากน้อยเพียงใด

“สังเกตได้ว่า เดี๋ยวนี้คนเป็นภูมิแพ้มากขึ้น โดยเฉพาะคนอเมริกัน พวกเขากินพืชตัดต่อยีนมาหลายศตวรรษ พวกข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วลิสง ส่วนผสมในของหวานหลายชนิดมาจากน้ำตาลแป้งข้าวโพด และไม่รู้ว่าเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรมไหม ตรงนี้ซับซ้อนมาก และปัจจุบันคนเก็บเมล็ดพันธุ์ผักน้อยมาก มีไม่กี่กลุ่มก็มีการแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบันมะเขือเทศไทยขนาดแท้ไม่มีเหลือแล้ว ผมตามหาไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ได้มาจากพม่า อินเดีย อเมริกา อย่างสีดาเป็นพันธุ์ผสม”

พันธุ์แท้ปลูกได้หลายครั้ง
ถ้าเป็นพันธุ์แท้จะอยู่ได้นานและลูกดก แต่ถ้าเป็นพันธุ์ผสมจะออกลูกเยอะในครั้งเดียวแล้วก็ตายเลย จึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ โจนยกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 จะเก็บได้นานและเวลาปลูกต้องใช้สารเคมี ต่างจากข้าวอินทรีย์ที่ชาวบ้านปลูกจะเก็บได้ไม่นาน เพราะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่า ทำให้เกิดมอดได้ง่าย

อีกเรื่องหนึ่งที่โจนกล่าวถึง คือ ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดคนปลูก ถ้ามีคนบริโภคพืชผักปลอดสารมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วคนเราเกิดมาครั้งเดียว ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองจะเกิดมาทำไม ชีวิตมีทางเลือก ถ้าไม่มั่นใจว่า ผักในห้างสรรพสินค้าปลอดสารพิษจริงไหม ก็รวมกลุ่มกันเชื่อมโยงกับคนปลูกพืชผักอินทรีย์

“ศูนย์แห่งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อการค้า อยากให้ชาวบ้านพัฒนาพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น” โจนกล่าว และบอกว่า ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พันพรรณเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์จากทั่วโลกที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิม และให้คนมาเรียนรู้ด้านเกษตรปลอดสารพิษเพื่อเก็บและหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน สืบสานสายพันธุ์แท้จากธรรมชาติ ถ้าเป็นคนเอเชียหรือคนไทยเข้ามาเรียนรู้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนคนในประเทศพัฒนาแล้ว หากมาเรียนรู้การเกษตรทั้งหมดและเรื่องการสร้างบ้านดินช่วงสองเดือนครึ่ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200- 1,400 ดอลลาร์

"อยู่ที่นี่กินและนอนถูกมาก เรียนเกษตรทุกอย่าง อยู่ในอเมริกาแค่ไปฝึกทำบ้านดินวันหนึ่งก็สองร้อยกว่าดอลลาร์ ต้องเช่าบ้านอยู่เอง การเรียนรู้เรื่องบ้านดินในอเมริกาไม่ได้เรียนมากเหมือนที่นี่ อย่างมากก็ทำได้แค่เตาอบขนมปัง ม้านั่งเล็กๆ แต่ที่นี่ทำบ้านทั้งหลัง" โจน เล่า

นอกจากสอนทำบ้านดิน และการเกษตรแล้ว ยังสอนเรื่องการดูแลสุขภาพง่ายๆ แบบพื้นบ้าน อย่างการทำดีท็อกซ์ หรือดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรคภูมิแพ้

“ฝรั่งที่มาเรียนรู้ บางคนเป็นสถาปนิก ผู้พิพากษา นักเขียน บางคนตกงานแต่สับสนในชีวิต ไม่ชอบวิถีชีวิตแบบเดิม ไม่รู้จะไปไหน หลายคนมาก็เปลี่ยนแปลงชีวิต” โจนเล่าให้ฟัง เพราะรายได้หลักของศูนย์มาจากคนที่ฝึกงานจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเป็นคนเอเชียหรือคนไทยก็ทำงานแลกเพื่อเรียนรู้ที่นี่

"คนไทยมาฝึกฝนเรื่องเกษตรน้อย เพราะมองว่าการเกษตรเป็นเรื่องต่ำต้อย คนที่มาเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่ชาวนาหรือเกษตรกร เพราะกลุ่มนี้อยากหนีจากการเป็นเกษตรกร การเป็นเกษตรกรทำให้ผมมีเวลา ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ ผมจะไม่กลับไปทำงานแบบเดิม ตอนนี้ผมตายได้แล้ว พอใจกับสิ่งที่ได้ประสบในชีวิตแล้ว ก็ใช้ชีวิตที่เหลือให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่มีอะไรกังวล"


ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น