3.31.2552

| หัวหิน Retro ๔ (ชื่อนั้น สำคัญฉะนี้)


ชื่อถนน ลักษณะเฉพาะในแบบ หัวหินหัวหิน

หัวหินเมืองเก่าแก่ หากย้อนไปถึงยุค เริ่มต้นสร้างบ้านเรือนของราษฎรกลุ่มแรกก็ย้อนไปได้ถึง 170 ปี และหากนับเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองตากอากาศแห่งสยามประเทศของเจ้านายในยุคแรก ก็จะมีอายุครบ 100 ปี ในเดือนตุลาคม 2552 ที่จะถึงนี้

ด้วยความเป็นเมืองเก่า ที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ พื้นที่ทุกหย่อมของแผ่นดิน ล้วนมีที่มาที่ไป ให้ได้เล่าขานสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ให้ได้ยินได้ฟัง หลายต่อหลายครั้งที่เจ้านายทรงโปรดมาประทับ นับตั้งแต่รัชการที่ 6 ถึง รัชการปัจจุบัน ยิ่งนำพาความเจริญทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรมมาสู่เมืองและประชาชนชาวหัวหิน

สิ่งที่หลงเหลืออยู่กับหัวหิน และเป็นสิ่งบ่งบอกถึง 'ลักษณะแบบหัวหิน' เรื่องหนึ่งคือ (ชื่อ) ของสถานที่ต่างๆ ที่ทำให้หัวหิน มีความเป็นเฉพาะ และแตกต่างกันกับ เมืองตากอากาศหรือชายทะเลอื่นๆ อย่างที่ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกัน ในที่นี้ huahinhub จะอาสาหยิบยกเรื่องราวของชื่อถนน มาบอกเล่าแก่ พี่น้องชาวหัวหิน ไว้ให้ภาคภูมิในเกียรติประวัติ ของหัวหิน ร่วมกัน

ชื่อถนน ในหนังสือ 'ประวัติหัวหิน' อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ คุณอรุณ กระแสสินธุ์ จัดพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2527 เรียบเรียงโดย คุณประจันต์ กระแสสินธุ์ ลูกหลานของบรรพชนผู้สร้างบ้านเมืองหัวหิน ยุคแรกตระกูลหนึ่ง บอกเล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "หลังจากที่ได้จัดตั้งเทศบาลหัวหินขึ้น โดยเฉพาะยุคสมัยของ คุณฟื้น กระแสสินธุ์ บิดาของคุณประจันต์ กระแสสินธุ์ เป็นนายกทศมนตรี สภาเทศบาลตำบลหัวหิน ได้พิจารณาตั้งชื่อถนนหลายสาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นชื่อที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับบุคลหรือสถานที่สำคัญของท้องถิ่น อยู่เป็นอันมาก"


๐ ถนนกำเนิดวิถี
เป็นถนนสายแรกของหัวหิน เมื่อทางราชการได้สร้างทางรถไฟและเปิดเดินรถมาถึงหัวหิน เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในสมัยรัชการที่ 6 โดยหยุดพักขบวนรถที่ตรงปลายสุดถนนสายนี้ ต่อมาได้ย้ายสถานที่ตั้งสถานีรถไฟใหม่ เลื่อนไปทางทิศใต้อีก 50 เมตร เพื่อให้การคมนาคมสู่เส้นทางสถานที่ตากอากาศ สะดวกสบายแก่ผู้ดินทาง 'กำเนิดวิถี' จึงมีความหมายตรงตัวตามชื่อ เพราะถือกำเนิดขึ้น เป็นวิถีแรกของเมืองหัวหิน และยังคงทอดยาวอยู่ ณ ตำแหน่งที่ตั้งเดิมจวบจนปัจจุบัน

๐ ถนนดำเนินเกษม
สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้ง สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชินี พระพันปีหลวง ได้โปรดให้สร้างตำหนักตากอากาศ ณ ริมชายหาดหัวหิน (บริเวณส่วนวิลลาของโรงแรมโซฟิเทลปัจจุบัน) ในเวลานั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากฎษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ทรงได้จัดสร้างเส้นทาง ตัดตรงจากสถานีรถไฟหัวหิน และวางรางรถไฟขนาดเล็ก เพื่อรับส่งเสด็จ พระพันปีหลวงสู่พระตำหนัก พร้อมกับความสะดวกในการขนย้ายสัมภาระ จึงได้เกิดเส้นทางนี้ขึ้น ในปี พ.ศ. 2454 เช่นกัน

ต่อมาได้มีการรื้อรางรถไฟเล็กออกและปรับสร้างเส้นทางเป็นถนน เพื่อความเหมาะสมและสะดวกในการเดินทาง จากสถานีรถไฟตรงไปยังที่พักตากอากาศ คือโรงแรมรถไฟหัวหินซึ่งเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2465 อีกทั้งยังตรงถึงตำหนักพระราชวงศ์ ที่ตั้งอยู่ละแวกใกล้เคียงโรงแรมรถไฟหัวหิน ถนนสายนี้จึงอำนวยความเกษมสำราญแก่เจ้านายและนักท่องเที่ยว สมกับนาม ดำเนินเกษม จากนั้นเรื่อยมา

๐ ถนนนเรศดำริ
ถนนสายนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากฎษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุล กฤดากร) เจ้านายพระองค์แรกที่สร้างพระตำหนัก 'แสนสำราญสุขเวศน์' ขึ้นที่หัวหิน อีกทั้งยังทรงเป็นพระองค์แรกที่ใช้ชื่อ 'หัวหิน' แทนชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกขานในเวลานั้น จนผู้มาเยือนและอยู่อาศัยต่างพากันเปลี่ยนมาใช้ชื่อหัวหินถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังทรงเป็นผู้ชักชวนเจ้านายและผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ มาสร้างบ้านพักตากอาศ ณ ที่หัวหินเรื่อยไป
ถนนสายนี้เริ่มต้นจาก สะพานปลายาวไปจรดเขตตำหนักของท่าน ปัจจุบันเป็นแนวรั้วของโรงแรมโซฟิเทล ตัดออกสู่ถนนเพชรเกษม

๐ ถนนแนบเคหาสน์
ถนนสายนี้สร้างขึ้นในยุคที่พระราชวงศ์เสด็จฯ ลงมาสร้างพระตำหนักที่หัวหินในยุคแรก บ้านพักตากอากาศที่สร้างขึ้นบนถนนสายนี้ จึงเป็ฯของบุคคลสำคัญในรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอยู่ใกล้พระราชวังสวนไกลกังวล เดิมถนนเส้นนี้สามารถวิ่งต่อไปถึงพระราชวังได้ เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ แต่เวลานี้วิ่งตัดออกไปที่ถนนเพชรเกษม

บ้านเลขที่ 1 ของถนนสายนี้เป็นบ้านของท่านปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ส่วนบ้านเลขที่ 31 ก็เป็ฯตำหนักดิศกุลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำนงราชานุภาพ ชื่อของถนนนั้นฟังดูสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคนั้นอย่างมิต้องสงสัย ดังว่าแนบไปกับ เคหาสน์ของพระเจ้าอยู่หัว เลยที่เดียว

๐ ถนนเดชานุชิต
เพื่อเป็นการระลึกแด่พระยาเดชานุชิต (หนา บุญนาค) ผู้แทนสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่นำความเจริญมายังเมืองหัวหิน ท่านเป็นผู้ดำริให้สร้างถนนสายนี้เข้าสู่หมู่บ้านดอนกลาง (บริเวณร้านกาแฟเจ๊กเปี๊ยะ) ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของชาวบ้านไปยังชายทะเล อำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านซึ่งทำการประมง ณ บริเวณนั้นเรื่อยมา

๐ ถนนชมสินธุ์
เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลในตระกูล กระแสสินธุ์ ผู้มีส่วนสร้างวามเจริญให้กับเมืองหัวหิน มาหลายชั่วอายุคน บุคคลในตระกูลนี้ได้สร้างถนนสายนี้ผ่านหมู่บ้านดอนอีกึ้งไปยังทะเล คำว่าสินธุ์ ตัดมาจากท้ายนามสกุล แปลว่าน้ำทะเล ถนนสายนี้จึงมรความหมายถึงการนำพา 'ผู้เดินทาง' ออกไปชมน้ำทะเลที่สุดปลายของเส้นทาง

๐ ถนนเสละคาม
เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ ขุนศรีเสละคาม (พลอย กระแสสินธุ์) ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล หมู่บ้านสมอเรียง ขุนศรีเสละคามเป็ฯกำนันผู้สร้างความเจริญแก่หัวหินอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีโอกาสรับใช้งานสนองพระเดชพระคุณเจ้านายหลายพระองค์ ที่เสด็จมาประทับ ณ หัวหิน แห่งนี้

๐ ถนนพูลสุข
เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ นายพลและนายพิมพ์ วัดขนาด อีกหนึ่งในตระกูลที่ร่วมกันพัฒนาเมืองหัวหินให้เจริญเติบโตและมั่นคง ซึ่งท่านเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลหัวหินร่วมกับ นายฟื้น กระแสสินธุ์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรี ผู้มีบทาทในการนำความเจริญมาสู่หัวหิน เช่นกัน

๐ ถนนบิณฑบาต
เป็นถนนที่พระจากวัดหัวหินออกบิณฑบาตทุกวันในตอนเช้า เพราะสมัยนั้นเส้นทางที่พระภิกษุจะออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องออกทางประตูวัดด้านถนนสายนี้ จึงเรยขานนามถนน ให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

๐ ถนนสระสรง
เดิมเป็นถนนที่มุ่งตรงไปยังหนองมอญ สระน้ำจืดขนาดใหญ่ เส้นเลือดสำคัญของพระภิกษุและชาวหัวหิน ที่ต่างต้งใช้เป็นเส้นทางเดินไปตักน้ำกินน้ำใช้ จากสระน้ำจืดแห่งนี้


ขอบคุณข้อมูลจาก เที่ยวหัวหิน ถิ่นผู้ดี 100 ปีเมืองตากอากาศสยาม/คุณสุกัญญา ไชยภาษี
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น