5.19.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๔๕ (สภาผู้นำตำบล-แห่งการปฏิวัติงานท้องถิ่น)



สภาผู้นำตำบลขุนทะเล : สภาแห่งการปฏิวัติงานพัฒนาท้องถิ่น

งานพัฒนาชุมชนในสังคมไทยก่อกำเนิดมายาวนานพร้อมกับการก่อเกิดของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในราวช่วง ปี ๒๕๐๑ โดยในยุคแรกมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเฉพาะหน้า การมีมุมของสังคมชนบทที่ โง่ จน เจ็บ ส่งผลให้การออกแบบการพัฒนาท้องถิ่นมุ่งเป้าที่ งานสงเคราะห์ การแก้ไขปัญหาการศึกษา และสุขภาพ วัฏจักรดังกล่าวหมุนวนและฝังรากในสังคมไทยมาเนิ่นนาน ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการพึ่งพิง จึงไม่สามารถสร้างให้ชุมชน ท้องถิ่น เติบโตเพื่อที่จะก้าวเข้ามาทำงานพัฒนาด้วยตัวเองได้ การพึ่งพิงรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงยังคงเกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย ถึงแม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ฉบับที่ ๙ และฉบับที่ ๑๐ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น หากแต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างความคิดดังกล่าวได้
hhh
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการพัฒนาคนจากแผนพัฒนาในยุคหลัง ก็ส่งผลให้หลายชุมชนที่คิดได้ คิดทัน สามารถปรับตัวเพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นด้วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เช่น ชุมชนในตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้นำเอาหลักคิดของสภาผู้นำเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในระดับพื้นที่
hhhh
สภาผู้นำ : สภาของผู้มีบทบาทนำ
การขึ้นแผนของสภาผู้นำตำบลขุนทะเล ก่อกำเนิดมาจากการทำงานเรื่องแผนแม่บทชุมชน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอย่างแพร่หลายทั้งในระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล อย่างไรก็ตามแผนแม่บทชุมชนจะสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตามทิศทางที่บรรจุไว้ไปได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกลไกคณะทำงานของพื้นที่ หากคณะทำงานมีความเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันได้ดี เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการทำแผน ก็จะสามารถนำพาแผนไปสู่การปฏิบัติได้ดี
hhh
ในทางกลับกันหลายพื้นที่ซึ่งไม่มีความพร้อมก็ไม่สามารถจะผลักดันแผนปฏิบัติการได้อย่างเต็มรูปแบบนักเริ่มจากหมู่บ้าน จากฐานของชุมชนหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลขุนทะเลซึ่งได้ผ่านกระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ได้สร้างให้เกิดกลุ่มแกนนำในระดับพื้นที่ ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้จวบจนบรรลุสู่แผนแม่บทชุมชน
hhh
อย่างไรก็ตาม กระบวนการและขั้นตอนดังกล่าว คงจะไม่สามารถบรรลุได้ หากขาดกลุ่มแกนนำหลักจากหมู่ที่ ๑ บ้านบ่อน้ำซับ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานในระดับตำบล ทั้งด้านการเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้ด้านวิสาหกิจชุมชน และการสร้างกลุ่มอาชีพอีกหลากหลายกลุ่ม
ถึงแม้ว่า กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ในระดับหมู่บ้านจะมีหลากหลาย หากแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมและตรงจุดนัก การก่อร่างของสภาผู้นำในระดับหมู่บ้านจึงเกิดขึ้นเพื่อรวมเอากลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านเข้ามาจัดระบบ สร้างความเชื่อมโยง และหนุนเสริมซึ่งกันและกัน อันมีความสำคัญยิ่ง ด้วยสามารถร่วมในการขับเคลื่อนงานตามวิสัยทรรศน์ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดเอง ทั้งนี้ ในระดับชุมชนนั้นได้วางกรอบคิดและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสภาผู้นำระดับหมู่บ้านไว้ดังนี้
hhh
๑. เพื่อเป็นเวทีชาวบ้านในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้รู้ในท้องถิ่นจากสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่มาใช้ให้เต็มศักยภาพ
๒. เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมปัญหา ความต้องการของราษฎรในทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้าน มาร่วมกันคิดวางแผน การแก้ปัญหา การพัฒนา ในส่วนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง และในส่วนที่เกินขีดความสามารถของชุมชนส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
๓. เพื่อเป็นองค์กรประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
๔. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ
hhh
สภาผู้นำระดับหมู่บ้าน สภาแห่งการบำบัดทุกข์ การจัดตั้งในระดับหมู่บ้านนั้น เริ่มต้นที่ผู้คนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ผู้คนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบ้าน ผู้นำตามธรรมชาติ เป็นผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน หมอพื้นบ้าน อสม. แกนนำสตรี ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภา อบต. ในหมู่บ้านนั้นๆ โดยคัดเลือกตัวแทนกลุ่มต่างๆ มาประมาณ ๓๐ คน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของกลุ่มกิจกรรมและประชากร เพื่อจัดตั้งเป็นสภาผู้นำระดับหมู่บ้าน
hhh
โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร ในส่วนของฝ่ายสภาจะคัดเลือกผู้นำอย่างเป็นทางการจำนวน ๑๕ คน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาแผนงาน โครงการ และออกเสียงในกิจกรรมต่างๆ โดยมีฝ่ายบริหารจำนวน ๑๕ คน ซึ่งมาจากตัวแทนของกลุ่มกิจกรรมหรือภูมิปัญญา ที่มีบทบาทในการนำเอาแผนงานลงสู่การสร้างปฏิบัติการในระดับพื้นที่ แต่ทั้งนี้กิจกรรม หรือแผนงานต่างๆ ต้องตั้งอยู่บนกรอบกิจกรรมของแผนแม่บทชุมชนเท่านั้น
hhhh
บทบาทของสภาผู้นำจึงเป็นการดำรงสถานภาพของการก้าวขึ้นมา มีบทบาทนำในการออกแบบวางแผนงานและขับเคลื่อนการพัฒนาในหมู่บ้านร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้เป็นสภาของชุมชน เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ด้วยเมื่อชุมชนมีปัญหาอะไรก็หันหน้าเข้ามาคุยกัน ช่วยกันหาวิธีการแก้ไขและจัดการ จึงเปรียบเสมือนสภาแห่งการบำบัดทุกข์ให้กับพี่น้อง เพื่อนบ้านในชุมชน อันถือได้ว่าเป็นอิสรภาพของการพัฒนาอย่างแท้จริง
hhhh
ทั้งนี้ ในการผลักดันสภาผู้นำในพื้นที่ใดก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ แผนแม่บทชุมชน เพราะจะเป็นทิศทางในการวางกรอบการพัฒนาของพื้นที่นั้นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นแรงหนุนของการสร้างสภาผู้นำมีหลายประการ ได้แก่
hhh
๑. การให้ความสำคัญกับสภาผู้นำในระดับหมู่บ้านเป็นหลัก โดยการออกแบบกิจกรรม แผนงาน ที่ครบวงจรของหมู่บ้าน ให้สามารถขับเคลื่อนได้ แล้วใช้สภาผู้นำในระดับตำบลเป็นเพียงเวทีของการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันเท่านั้น
๒. บุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาผู้นำจะต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์รายรอบ สามารถคิด วิเคราะห์ และให้ข้อมูล ความรู้กับสมาชิกในกลุ่มได้ และ ต้องสามารถสร้างรูปธรรมให้ประจักษ์ได้ โดยสามารถตอบโจทย์ ๒ ข้อคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพราะเมื่อมีผลสำเร็จที่แท้จริงแล้วการขับเคลื่อนกับกลุ่มในชุมชนย่อมเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
๓. กลุ่มคนที่มาทำงานเพื่อขับเคลื่อนสภาผู้นำ จะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในระดับชาติ และระดับชุมชน
๔. ต้องมีการทำงานเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างผู้นำที่เป็นทางการให้กลายเป็นผู้นำกลุ่มกิจกรรม เพื่อจะยังคงมีบทบาทในกลุ่มกิจกรรม และร่วมขับเคลื่อนงานต่อไปได้ เมื่อหมดวาระทางการเมืองในระดับท้องถิ่น
๕. สภาผู้นำที่ทำงานได้คล่องตัวจะต้องไม่มีอำนาจ เป็นการทำงานที่ใช้พลังในการขับเคลื่อนงาน เป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนเพื่อเดินไปด้วยกันทั้งหมดให้ชาวบ้านและผู้คนทุกระดับได้ร่วมคิด ร่วมทำ
hhh
กระนั้นเอง การยกระดับและขยายผลจากระดับหมู่บ้านเข้าสู่ระดับตำบลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากกลุ่มผู้นำอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำงานของ คุณสุจินต์ อินทคีรี คุณบุเรง ชิตมาลย์ คุณสมบูรณ์ จันทร์จรุง และคุณเนตรชนก ไชยจิตต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มแกนนำหลักในการขับเคลื่อนงานในชุมชนบ้านบ่อน้ำซับและยกระดับสู่ระดับตำบล พบว่าการจัดตั้งสภาผู้นำซึ่งดูเหมือนจะซ้ำซ้อนกับโครงสร้างของผู้นำทางการที่มีอยู่แล้วในระดับชุมชน ไม่เกิดการต่อต้านจากกลุ่มผู้นำเป็นทางการ
hhh
ทั้งนี้ด้วยเพราะการก่อเกิดของสภาผู้นำเป็นโครงสร้างที่ช่วยสนับสนุนการทำงานเป็นการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง ช่วยแบ่งเบาภาระงานของกลุ่มแกนนำทางการได้ เพราะการทำงานนั้นต้องการกลุ่มคนที่มาช่วยคิด ช่วยทำกันคนละไม้คนละมือ หากคิดและทำเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวก็ไม่สามารถบรรลุได้ อีกทั้งโครงสร้างของสภาผู้นำเองก็ให้บทบาทกับกลุ่มผู้นำทางการเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักด้วยเช่นกัน
hhh
สภาผู้นำระดับตำบล สภาแห่งการบำรุงสุข ในการขับเคลื่อนสภาผู้นำระดับตำบลนั้น มุ่งเน้นที่การเป็นสภาแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วม การเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในระดับตำบล และการสนับสนุนการสร้างปฏิบัติการพื้นที่ของกลุ่มกิจกรรม หรือกลุ่มหมู่บ้านต่างๆ โดยสภาผู้นำระดับตำบลมีองค์ประกอบของผู้คนจาก ๒ ส่วน ได้แก่
hhhh
๑. ผู้นำจากกลุ่มกิจกรรมในแต่ละหมู่บ้าน ที่ดำเนินกิจกรรมในทิศทางเดียวกัน จำนวน ๓ คน ต่อกลุ่มกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งมีทั้ง ๑๒ หมู่บ้าน ให้มีการคัดเลือกมาจำนวน ๓ คน
๒.ตัวแทนจากผู้นำทางการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ กลุ่มผู้แทนดังกล่าวจะเข้ามาร่วมพิจารณาแผนงาน หรือโครงการที่เป็นประเด็นร่วมของตำบล และต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน อาทิเช่น การก่อสร้างโรงปุ๋ยระดับตำบล การใช้ทรัพยากรขี้ค้างคาวซึ่งมีในพื้นที่เพื่อผลิตปุ๋ย ฯลฯ
hhh
รวมถึงการออกข้อบัญญัติระดับตำบลเพื่อการเอื้ออำนวยการดำเนินงาน และการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ โดยมีฝ่ายสภาซึ่งมีสัดส่วนของผู้นำอย่างเป็นทางการ อาทิเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีบทบาทในการพิจารณาโครงการแผนงาน และเอื้ออำนวยในงานจัดการ และฝ่ายบริหาร อันมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและตัวแทนจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ มีบทบาทในการนำแผนงานลงสู่การสร้างปฏิบัติการในพื้นที่
hhhh
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในระดับหมู่บ้านก็มิได้หยุดชะงักเพื่อรอการพิจารณาจากสภาระดับตำบล หมู่บ้านใดสามารถขับเคลื่อนงานด้วยตัวเองได้ตามแผนงานของหมู่บ้านก็ดำเนินงานได้เลยทันที จึงอาจเปรียบได้ว่า "สภาผู้นำระดับตำบล คือ สภาแห่งการบำรุงสุข" อันสามารถสร้างสุขให้กับประชาชนในตำบลได้ ด้วยมีงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม องค์กร ในระดับพื้นที่ได้ ด้วยแนวคิดดังกล่าวที่ตกผลึกจากการทำงานพัฒนาในระดับพื้นที่ ชุมชน มาอย่างยาวนาน ส่งผลให้สภาผู้นำตำบลขุนทะเลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน สามารถสร้างปฏิบัติการที่แท้จริงและยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ ถือเป็นมิติใหม่ของงานพัฒนาชนบท ด้วยไม่ว่าองค์กร หรือหน่วยงานไดก็ตามที่ลงมาร่วมทำงานพัฒนาในพื้นที่จะต้องเอาความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนมีสิทธิปฏิเสธแผนงาน หรือโครงการของรัฐที่จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อผู้คนในพื้นที่ได้ ชุมชนมีสิทธิ์ในการต่อรอง เจรจา กับทุกองค์กรที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่
hhh
และองค์กรชุมชนในลักษณะนี้เองที่จะเป็นตัวแบบในการดำเนินงานพัฒนาให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริง ถือเป็นการปฏิวัติกระบวนงานพัฒนาชุมชนอีกระลอกหนึ่งที่น่าจับตามองต่อไป
อืมมมมมมมมมมมม์.....

ขอบคุณข้อมูลจาก ศิราพร แป๊ะเส็ง www.thaingo.org

huahinhub Thanks


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น