5.18.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๓๙ (เรียงลายเส้นเป็นฉากหนัง)



ครีเอทีฟหญิง ตัวเล็ก มากความสามารถ อารมณ์ดี กับฉากหนังฮอลลิวูดถ่ายทำในไทย "Shanghai" สุมีนา จงวัฒน์ผล


โลกสมัยใหม่ไม่ได้หมายถึง เพียงวิทยาการที่ก้าวล้ำ การสื่อสารที่รวดเร็ว หรือความเจริญทางวัตถุ สภาพสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัยเช่นกัน วันนี้เราจึงได้เห็นผู้หญิงหลายคน ขยับมายืนอยู่ทัดเทียมกับผู้ชาย และในบางครั้งยังโดดเด่นยิ่งกว่า ด้วยความสามารถของพวกเธอ มินท์-
สุมีนา จงวัฒน์ผล เป็นผู้หญิงตัวเล็กที่มากด้วยความสามารถอีกคนหนึ่ง

"ตอนเด็กๆ อยากมีบ้านตุ๊กตาแล้วมันไม่มี (หัวเราะ) เริ่มจากการอยากเป็นนักประดิษฐ์ก่อนแล้วก็อยากเป็นจิตรกร ทีนี้นักประดิษฐ์กับจิตรกรมันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไรล่ะ มันเป็นศิลปะสุดๆ กับวิทยาศาสตร์ พอเริ่มโตขึ้นมา ม.สาม เริ่มแบบ เฮ้ย.. มันมีอันนี้ที่ได้ทั้งสองอย่างเลยนะ คือห่วยภาษาไทย เรียนศิลปะได้เกรดสี่ วิทยาศาสตร์ได้เกรดสี่ มันไปเรียนอย่างอื่นไม่ได้แล้วต้องเรียนอันนี้ล่ะ พอยิ่งรู้ว่าเรื่องพื้นที่มันมีผลต่อคนทุกอย่าง สถาปัตยกรรมคือทุกอย่างที่ตื่นมาก็เจอแล้ว เลยยิ่งทำให้น่าค้นหา" นั่นคือเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อศึกษาต่อที่ Good Shepherd Finishing School โรงเรียนสำหรับสุภาพสตรีที่มีคำขวัญประจำโรงเรียนว่า 'Give us a girl and take back a lady'

"เป็นโรงเรียนสอนเป็นเลดี้ สอนขี่ม้า ตีกอล์ฟ เล่นดนตรี เล่นกีฬา เหมือนให้รู้ทุกอย่าง มารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทการวางตัวในสังคม (หัวเราะ) จริงๆ มินท์ไปเรียนภาษา ตอนแรกขอคุณพ่อไปเรียนอังกฤษ (หัวเราะ) คุณพ่อบอกไปอังกฤษมันเป็นล้านนะ แล้วไปหนึ่งปีก็ไม่รู้จะพูดได้หรือเปล่า ไปดูอินเดียดีกว่า ไม่มีคนไทยเลย โรงเรียนประจำด้วย โทรศัพท์ไม่มีอีกต่างหาก พอดูคอร์สไม่มีสอนภาษาอังกฤษเลยนะ แต่ดูแล้วการอยู่แบบนี้มันได้อะไรเยอะกว่าการไปเรียนภาษาเฉยๆ แน่นอน"

หลังกลับมาจากประเทศอินเดีย ผู้หญิงตัวเล็กคนนี้มีโอกาสได้แสดงความสามารถ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานภาพยนตร์ฮอลลีวูดทุนสร้าง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เรื่อง 'Shanghai' ซึ่งกำกับโดย มิคาเอล ฮาฟสตรอม (Mikael Hafstrom) แสดงนำโดย จอห์น คูแซค (John Cusack) กงลี่ (Gong Li) โจว เหวิน ฟะ (Chow Yun-Fat) และเคน วาตานาเบ (Ken Watanabe) และได้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย

"ตอนนั้นกลับมาจากอินเดียอาทิตย์แรก เพื่อนโทรศัพท์มาถามว่าอยากทำหรือเปล่า เขาหาคน เลยไปลองสัมภาษณ์ แล้วเขาก็ให้ทำ ไปครั้งแรกมินท์บอกว่า พี่หนูทำอะไรไม่เป็นเลยนะ พี่ช่วยสอนแล้วกัน หนูจะตั้งใจทำงาน (หัวเราะ) เขาก็ดูพอร์ทตอนเรียน แต่เขาคงดูความอยากจะเรียนรู้มากกว่าว่ากระตือรือร้นแค่ไหน"
หน้าที่ที่สุมีนาได้รับคือ ตำแหน่ง Draftman ในแผนก Art Department


"เขียนแบบ เคลียร์แบบ ปรับแบบให้ช่าง เช่น แบบนี้เขาออกแบบมาแล้วส่วนหนึ่งแต่อุปกรณ์ที่เมืองไทยเรามาอีกแบบเราต้องปรับให้มันใกล้เคียง.. เราเป็นคนเขียนออกมาให้เป็นแบบก่อสร้าง เขาเป็นดีไซเนอร์ก็จะวาดมาคร่าวๆ ไม่ได้เคลียร์รายละเอียด สมมติบัวตัวนี้พอจะสร้างมันสูงเท่าไร เราต้องมาจัดสัดส่วนให้เขาและก็ดูตามแบบอ้างอิงที่เขาหามา.. แบบที่เราส่งไปคือเคลียร์ที่สุดแล้ว สมมติว่ารั้วระเบียงเป็นอย่างนี้ เราเขียนรูปตัดไปให้เขาเป๊ะเท่าผนังของจริง เขาตัดหล่อออกมาใช้ได้เลย มันแทบจะจริงมากๆ เพียงแต่มันใช้โครงสร้างชั่วคราวและใช้วิธีการก่อสร้างที่ชั่วคราวใช้ระบบเหล็ก หรือปูนที่ไม่ใช่ปูนจริง"

ช่วงเวลา 3 เดือนแห่งการทำงานทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรมากมาย "ทำทุงานกวัน 7 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม แต่สนุกมากเลย ได้เรียนรู้ระบบการทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ แบบเป๊ะๆ ตรงเวลา มันดีมากสำหรับมินท์ เพราะเป็นงานแรกในชีวิตที่จริงจัง แบบ...งานก็คืองาน พอเลิกงานก็คือเลิกงาน จะนอนจะทำอะไรก็ทำ แต่พอทำงานปุ๊บคือทำงานจริงๆ ไม่อู้ไม่มีง้องแง้ง.. เขาสอนให้เรารู้ว่า จริงๆ คนที่จะวาดรูป หรือเป็นศิลปินมันไม่ต้องรออารมณ์ก็ได้ บางทีเราสามารถทำได้ในเวลาและก็ทำได้จริงๆ ไม่ต้องแบบเดี๋ยวตอนกลางคืนค่อยทำ (หัวเราะ) และได้โอกาสที่จะไปเห็นเบื้องหลังว่าเขาขนาดนี้กันเลยนะ งานของเมืองนอกเขาละเอียดสุดๆ จุดเล็กจุดน้อยนี่ห้ามพลาดถึงแม้มันจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ขี้หมาก็ต้องสวย ทุกอย่างมันผสานกันออกมาแล้วมันก็สวยจริงๆ นะ มันช่วยให้ทุกอย่างดูจริง"

ไม่เพียงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฉากของเรื่องที่สวยงามสมจริง สุมีนายังมีโอกาสได้ร่วมงานในภาพยนตร์ในฐานะ 'นักแสดง' "เขาจะหาตัวแฟนของเพื่อนพระเอกซึ่งบทไม่เยอะ แต่จะมีส่วนทำให้เพื่อนพระเอกคนนี้โดนประหาร เขาก็หาคนญี่ปุ่นที่อวบ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้อ้วน กำลังหนึบหนับๆ แบบผู้หญิงสมัยก่อนเป็นเรเนซองท์เกิร์ล เขาก็หาไม่ได้ มาคัดตัวสี่-ห้าร้อยคน ไม่เจอ มาวันหนึ่งพี่ฝ่ายคัดเลือกตัวแสดงคนหนึ่งเขาก็แบบ คนนั้นใครวะ นึกว่าญี่ปุ่น ก็มาๆ ไปคัดตัวเลย เสร็จมินท์ก็ไม่สนใจ ขำๆ ไม่ได้อยู่แล้ว.. เออ.. ได้ว่ะ (หัวเราะ) โคตรจะตกใจ พี่เขาโทรศัพท์มา เข้ารอบห้าคนแล้วนะ มินท์ก็ โอ๊ย.. ยังไงก็ไม่ได้หรอกก็เขียนแบบต่อไป เอ้ย.. เหลือสองคนว่ะ (หัวเราะ) อันนั้นเริ่มลุ้นแล้ว เสร็จปุ๊บ อ้าว.. ได้" สุมีนาเล่าให้ฟัง

"สนุกมากเลย ทำให้ยิ่งเข้าใจฉากที่เราเขียน คือฉากที่เราทำเราเข้าใจอยู่แล้วว่าตรงนี้เราต้องการให้มันเป็นอย่างไรพอยิ่งได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นมันรู้สึกมันจริง รู้สึกแบบ.. โอ้โห ฉากที่เราเขียน (หัวเราะ) สนุกมาก"
ความสนุกจากการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในโลกภาพยนตร์จบลงพร้อมกับการถ่ายทำในประเทศไทยที่เสร็จสิ้นลง

"ชอบ แต่มันหมดแล้ว จริงๆ มีคนชวนไปทำงานที่เมืองนอก เขาเห็นว่าเราน่าจะทำเสื้อผ้าได้ เขาก็ชวนเลย แต่รู้สึกว่าเราเพิ่งกลับมาเอง จริงๆ มินท์ไม่ได้สนใจเรื่องหนังเลยตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ที่เข้าไปทำเรื่องนี้เพราะอยากเขียนฉาก อยากดูโครงสร้าง อยากรู้ว่าฉากที่เราเห็นมันทำอย่างไรมันใหญ่โตอลังการขนาดนี้ จริงๆ ถ้ามีอีกก็ทำอีกแต่มันคงยากที่จะมีหนังใหญ่ๆ อย่างนี้มาให้ทำ.. แล้วก็ไม่ได้ขวนขวายโอกาสเองด้วย จริงๆ ดูหนังเพื่อความสนุกบันเทิง งานนี้เหมือนอยู่ดีๆ มันก็เข้ามาเอง แต่จะทำหรือเปล่าก็ตัดสินใจเองว่า ทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็หาอย่างอื่นทำ หนังเป็นงานระยะสั้น เราก็ต้องรอ ระหว่างรอคือมินท์ไม่ชอบรอ ต้องหาอะไรทำอยู่เรื่อย"


วันนี้เธอจึงเป็นที่รู้จักในฐานะ Event Designer ของบริษัท Jackie in the Box
"ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเคยประกวด อินสไปร์ ปาร์ตี้ ของสปาย ไวน์คูลเลอร์ ได้ที่หนึ่งแต่ตอนนั้นมินท์ไม่เข้าใจหรอกว่ามันเป็นอีเวนท์ พอมาทำอีเวนท์ก็ อ้าว.. ก็แบบนั้นน่ะแหละ แต่มันไม่เหมือนกันมันการตลาดเยอะ.. เป็นอีเวนท์ ดีไซเนอร์ก็ครอบคลุมไปถึงดีไซน์ทุกอย่างตั้งแต่อาร์ทเวิร์ค 2D 3D วางแปลน และคิดกิจกรรมด้วยแต่คิดกิจกรรมอาจจะไม่ใช่คนเดียวจะมีหลายๆ คน.. ที่บริษัทค่อนข้างใหญ่เพราะฉะนั้นบางงานอาจจะรวมไปถึงแบรนด์ ดีเวลอปด้วยเลย ตั้งแต่คอนเซปต์เริ่มแรก แพคเกจจิ้ง จนถึงเปิดตัวสินค้าให้สอดคล้องกันทั้งหมด"

สุมีนาบอกว่า ขั้นตอนการทำงานไม่ต่างจากการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลัง
"ต้องคุยก่อนว่าว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร เป้าหมายสร้างให้คนสนใจ หรือเป้าหมายขายอย่างเดียว สมมติสินค้าเป็นครีมลดต้นขา (หัวเราะ) ก็จะเสนอไปว่า แบบนี้ดีไหมแต่ละแพคเกจจิ้งทำอย่างไรให้มันแหวกออกไป หรือเขาอยากได้ลุคแบบไหน ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาจะมีในใจอยู่แล้วเพียงแต่เราต้องพยายามสอดแทรกของเราเข้าไป.. ต้องศึกษาตัวลูกค้าก่อน ต้องรู้จักเขาว่าเขาต้องการอะไร.. เขาก็จะบรีฟงานมาส่วนหนึ่งแล้วปล่อยให้มินท์ทำเลย มินท์อยากทำอยากคิดแบบนี้อย่างไรๆ จะออกแบบพื้นที่อย่างไร วางอย่างไร คิดมาให้หมดแล้วไปขายลูกค้าดูว่าอันที่หนึ่งชอบไหมก็ปรับกันไป..

"สำหรับมินท์มันก็เป็นการดีไซน์พื้นที่อย่างหนึ่ง เวลาทำมินท์ก็คิดเหมือนเวลาเราจะสร้างบ้าน พื้นที่ตรงนี้คนเข้ามาแล้วรู้สึกอย่างไร ซึ่งบางทีคนอื่นเขาอาจจะไม่เข้าใจแต่เราในฐานะที่เป็นสถาปนิกด้วยควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้เยอะๆ"


หนึ่งในผลงานที่เธอประทับใจคือการจัดกิจกรรมบนพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตร ในลานชั้นสองของห้างสรรพสินค้าพารากอนให้กับผลิตภัณฑ์อดิดาส (adidas)

"โจทย์แรกคือ สำหรับผู้หญิง คือต้องการให้ผู้หญิงหันมาสนใจดูแลตัวเอง สนใจเล่นกีฬา เพราะว่าธีมเป็นธีมเดียวกันมาจากเมืองนอก แต่เมืองไทยคนไม่ค่อยเล่นกีฬา เราก็ต้องเอาอย่างอื่นเข้ามาช่วย เช่น เรื่องผิวพรรณ เล่นกีฬามันจะช่วยเรื่องผิวพรรณนะ เราก็จะใช้วิธีการดึงดูดอย่างอื่นด้วย เช่น การดูดวง (หัวเราะ) เรื่องการกินผลไม้ ความสวยงาม.. ต้องเสนอพื้นที่ด้วย เราก็จะคิดว่าแบรนด์นี้เขาต้องการหรูหราขนาดไหน ต้องคิดว่าสถานที่ไหนดี พื้นที่ขนาดนี้พอไหม จะในร่ม หรือกลางแจ้ง.. มันส่งผลหลายอย่างมาก ถ้ากลางแจ้งกิจกรรมเปลี่ยนเลย เพราะกลางแจ้งดูแอคทีฟกว่า ยิ่งที่สยามมันเห็นตั้งแต่รถไฟฟ้าทุกคนเดินผ่าน แต่จัดในร่มยิ่งอยู่ชั้นบนด้วยยิ่งค่อนข้างปิดๆ มีผลเยอะ เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาเข้ามา ดึงดูดก็มีหลายแบบดึงดูดคนประเภทที่เราต้องการหรือเปล่า ถ้าคนเข้ามาเยอะแต่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายก็ไม่เอา"

นอกจากความสวยงามและความดึงดูดเพื่อให้งานออกมาตรงตามเป้าหมายแล้ว การหาจุดร่วมระหว่างเจ้าของงานและนักออกแบบก็สิ่งสำคัญ

"มันเป็นความต้องการของลูกค้าครึ่งหนึ่งเขาจะมีเมนพอยท์ของเขา เราต้องพยายามที่จะแบบว่า อันนี้ไหมมีกิมมิคเข้าไปนิดหนึ่งพยายามที่จะใส่ของเราเข้าไปโดยที่เขายังชอบอยู่อันนี้ยาก.. ต้องพยายามดูก่อนว่าสิ่งที่เขาต้องการมีจุดไหนที่เราพอจะเอามาปรับได้บ้าง บางทีมันทำให้สับสนเหมือนกันว่าตกลงมันสวยหรือไม่สวย (หัวเราะ) แต่ต้องพยายามเข้าใจเขาให้มากว่า ถ้าเราเป็นคนวัยนี้ เรียนมาอย่างนี้ เป็นคนอย่างนี้ เรามองว่าอย่างไรสวยแล้วเราก็ต้องพยายามดึงจุดที่มันสวยของเขาขึ้นมาแล้วปรับให้พอดีที่สุด.. งานดีไซน์บ้านต้องตอบสนองเจ้าของบ้าน งานอีเวนท์ต้องตอบสนองทั้งเจ้าของงานและกลุ่มเป้าหมาย และต้องคุ้มทุนด้วยต้องมีผลตอบรับที่กลับมาพอสมควร อย่างงานอดิดาสจะแจกคูปองส่วนลด ตัวชี้วัดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่อีกตัวหนึ่งคือ คูปองใบนั้นกลับไปที่ร้านหรือเปล่า ถ้างานดีมากแต่คูปองไม่กลับไปเลยไม่มีใครไปซื้อเลยมันก็ถือว่าล้มเหลว"


นั่นเป็นความสำเร็จของงานแต่ความสำเร็จในระดับส่วนตัว สุมีนาบอกว่า
"สำหรับมินท์คงความพอใจของลูกค้ามากกว่า ตอนที่เขาเห็นงานแล้วเขายิ้ม เขาเดินดูแล้วรู้สึกดี มินท์จะไม่มองเรื่องการตลาดเลย"

สำหรับอนาคตความฝันของสุมีนายังคงอยู่ในโลกของศิลปะ
"ตอนที่เรียนอยู่ก็เป็นครูสอนศิลปะเด็กประถมแล้วรู้สึกว่ามันได้อะไรเยอะมาก ตอนนั้นก็ยุ่งด้วยนะทำวิทยานิพนธ์แต่ว่าไปสอนเด็กแล้วรู้สึกว่ามันไม่ขาดทุนมันเหมือนมีพลังวิเศษให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำนั่นทำนี่ต่อไป เลยอยากกลับไปสอนเด็กเหมือนเดิม ตั้งใจว่าจะสร้างบ้านดินเอง แล้วจัดแคมป์ศิลปะเสาร์อาทิตย์ พ่อแม่ก็มาด้วยได้ แต่ไม่รู้สำเร็จหรือเปล่านะ"


เก็บมาซะยาว กับคนตัวเล็กๆ ที่มีฝัน เดินตามฝัน และไม่จำเป็นต้องซ้ำเส้นทางเดินใคร อีกคน ที่ huahinhub อยากฝากไว้สร้างแรงคิดสร้างสรรค์ น้องๆชาวหัวหิน รุ่นใหม่ในอนาคต...สู้ต่อไป สวัสดี




ขอบคุณข้อมูลจาก ปวิตร สุวรรณเกต http://www.bangkokbiznews.com
hushinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น