5.26.2552

| เชื่อมโยงธุรกิจ ๓ (แก่งกระจานเซอร์กิต)





“จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่เรามีโอกาสสร้างสนามแข่งเป็นของตัวเอง” นั่นคือประโยคคำตอบที่เผยถึงแรงบัลดาลใจสำคัญของการถือกำเนิดสนามแข่ง “แก่งกระจานเซอร์กิต” ระหว่างหุ้นส่วน2 คนคือ “สมชาย ศรีจิรารัตน์ หรือ เฮียเพ้ง” กับ “เอกประวัติ เพ็ชรรักษ์ หรือพี่หวัด” (คำเรียกขานระหว่างกันของทั้งคู่) ซึ่งยินดีเปิดใจพร้อมเปิดสนามให้กับ ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง สัมภาษณ์ ถึงที่มาที่ไปของสนามแข่งรถแห่งใหม่ล่าสุดของเมืองไทย
hhh
เท้าความกลับไปจุดเริ่มต้น..เริ่มมาจากการคุยกันของทั้งคู่หลังจากตะเวนแข่งรถทั้งในประเทศและต่างประเทศมานานเกินกว่า 10 ปี จนกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน เขามองว่า เมื่ออยากแข่งรถหรือแค่ขับรถเร็วๆ ในสนามแข่งของไทย มีทางเลือกเพียงสนามพีระ เซอร์กิต พัทยาเท่านั้น “ทำไมเราจึงไม่มีทางเลือกอื่น?” คำถามของพี่หวัด เอ่ยขึ้นขณะคุยกับเฮียเพ้ง
hhhh
“เฮียเพ้ง เรามาทำสนามแข่งรถกันดีไหม” คำชักชวนจากพี่หวัดซึ่งบังเอิญตรงกับใจของเฮียเพ้งพอดี ดังนั้นคำตอบที่ออกมาจึงเป็นอื่นใดไปมิได้นอกจาก “ตกลง” และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงคิดสร้างสนามแข่ง อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าแค่คิดแล้วจะทำทันที ทั้งคู่ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานนับปีเนื่องจากติดภาระกิจทางด้านอื่น รวมถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ ตลอดจนตระเวนหาทำเลที่ตั้งเหมาะสม จนกระทั่งเมื่อมีเวลาและความพร้อมทางด้านการเงิน โปรเจ็คนี้จึงเริ่มขึ้น ทั้งนี้ในเชิงธุรกิจแล้ว เอกประวัติ บอกว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจสนามแข่ง
hhhh
“จะให้เราไปชวนคนอื่น มาร่วมลงทุนทำสนามแข่ง โดยบอกเขาว่าจะกำไรขนาดนี้นะ คืนทุนภายในกี่ปี เราทำไม่ได้ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า การทำสนามแข่ง อย่าหวังเรื่องผลกำไรหรือการคืนทุน ขอแค่บริหารงานไม่ขาดทุนในแต่ละปี ให้สนามมีรายรับพอเลี้ยงตัวอยู่ได้ เท่านี้ก็พอใจแล้ว” เอกประวัติกล่าวและว่า “โปรเจคนี้ ถ้าไม่ได้เฮียเพ้ง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผู้ลงทุนต้องเข้าใจลักษณะของธุรกิจ และที่สำคัญการทำสนามแข่งต้องมีใจรัก มิเช่นนั้น ยากจะเกิด”
gggg
สำหรับเหตุผลที่มาเลือกทำสนามแข่งตรงที่แห่งนี้ เฮ้ยเพ้งเล่าว่า เดิมเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าโกดัง และอพาตเมนท์ จึงมีผู้นำเสนอที่ดินเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ หลังจากตัดสินใจว่าจะทำสนามแข่งรถ เขาได้ไปดูที่ดินหลายแห่งในจังหวัดต่างๆ เช่น นครราชสีมา แต่ดูแล้วไม่ชอบ ส่วนที่ดินเดิมที่มีอยู่ก็ไม่เหมาะกับการสร้างสนามแข่ง จนกระทั่ง มาเจอที่ดินผืนนี้ “ที่ดินแปลงนี้ มีคนแนะนำให้มาดู ขนาดประมาณ 150 ไร่ ผมมากับพี่หวัด ทีแรกตอนขับรถเข้ามารู้สึกเหมือนกันว่าไกล ใครจะมาแข่ง...จะมาดู แต่พอเห็นพื้นที่ ความรู้สึกบอกว่า ที่นี่แหละสนามแข่งของเรา ทำตรงนี้อย่าไปหวังกำไร อาศัยใจรักเป็นหลัก” เฮ้ยเพ้งกล่าว
hhhh
ซึ่งเหตุผลหลักขอการเลือกพื้นที่ตรงนี้คือ ความเป็นเนินเขา พื้นดินมีสูงต่ำ ไม่เท่ากัน สนามแข่งรถที่ขับแข่งสนุกต้องมีการขึ้น-ลงเนิน รวมถึงความพิเศษสุดที่ทำให้สนามแก่งกระจานเซอร์กิต เหนือกว่าที่อื่นๆ ก็คือ สนามแห่งนี้สามารถมองเห็นได้ทั่วทั้งสนามหรืออย่างน้อยสุดมากกว่าครึ่งสนามหากอยู่นอกจุดกำหนด ส่งผลให้ผู้ชมดูการแข่งขันสนุกขึ้น เมื่อการซื้อที่ดินเสร็จสิ้นก็มาถึงขั้นตอนสำคัญคือการสร้างสนามแข่ง เขาอาศัยประสบการณ์จากตระเวนแข่งมานานนับสิบปีประกอบกับความรู้ด้านการก่อสร้างที่ทั้งคู่มีอยู่จึงตัดสินใจลงมือก่อสร้างและออกแบบเองทั้งหมด โดยมี ราชยานยนต์สมาคม(รยสท.) เป็นที่ปรึกษาในด้านการรับรองมาตรฐาน
hhhh
“คือเราจำเป็นต้องสร้างสนามที่ได้มาตรฐาน เพราะเรื่องความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญอันดับ 1 สำหรับการแข่งรถ แต่หากจะให้ FIA (องค์กรที่ควบคุมมาตรฐานของการแข่งขันรถยนต์ระดับโลก) มารับรอง สนามแห่งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ เยอะมากรวมถึงงบประมาณที่ต้องใช้จะสูงมาก เราจึงตั้งใจเพียงแค่ ขอจัดการแข่งขันเฉพาะรายการภายในประเทศ ฉะนั้นการให้ รยสท. รับรองถือว่าเพียงพอ” เอกประวัติกล่าว แต่มิใช่ว่า FIA ไม่รับรองแล้ว จะก่อสร้างอย่างไรก็ได้ ทางเอกประวัติบอกว่า พิมพ์เขียวของสนามจะอ้างอิงโดยอาศัยกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทาง FIA เป็นผู้กำหนด เพียงแค่ไม่เชิญทีมงานตรวจสนาม FIA เข้ามาตรวจ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว
hhhhh
“เฉพาะค่าใช้จ่ายการตรวจแบบก่อสร้างสนามของ FIA ตกราว 1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อส่งไปแล้วจะผ่านหรือไม่ผ่านก็มิอาจทราบได้ และเมื่อผ่านแล้วทีมงานของเขาเข้ามาตรวจแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก ซึ่งเรามองว่า ไม่ไหว ดังนั้นในการก่อสร้างเราจึงอาศัยทีมงานของทางรยสท. นำโดย อ. ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข มาช่วยควบคุมดูแล เพื่อเป็นกลางในด้านการรับรองรองมาตรฐาน”
hhhh
สำหรับสิ่งแรกที่ทีมงานก่อสร้างถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของสนามแข่งก็คือ “พื้นผิวถนนหรือแทร็ค” เขาเลือกใช้ยางมะตอยลาดผิวถนนเป็นชนิดพิเศษ ทันสมัยที่สุด มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสนาม F1 ของสิงคโปร์ โดยจะผิวแทร็คจะนิ่มเมื่ออุณหภูมิความร้อนสูงเกินกว่า 100 องศา ซึ่งเหนือกว่าผิวแทร็คของสนามเซปัง ของมาเลเซีย ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เชลล์ในการจัดหายางชนิดพิเศษนี้
hhhh
ตัวสนาม มีขนาดช่วงแทร็คแคบสุด 9 เมตร และช่วงกว้างสุด 12 เมตร ขนาดความยาวทั้งสิ้น 2,912 เมตร หรือเกือบ 3 กม. โดยสามารถตัดแบ่งทางวิ่งให้เหลือระยะเพียง 1 กม. หรือ 2.4 กม.ได้ เพื่อรองรับการแข่งที่ไม่ต้องใช้สนามยาว หรือเรียกว่าเป็นสนาม 3 Course คือ Full Course ความยาว 2.9 กม. Medium Course 2.4 กม. และ Short Course 1 กม. ขณะที่จุดสตาร์ทรองรับรถแข่งได้มากสุด 50 คัน ตามมาตรฐานที่ FIA ระบุเอาไว้ ช่วงทางตรงยาวราว 1.2 กม. สนามแก่งกระจาน เซอร์กิตจะไม่ตรงเสียทีเดียวมีโค้งนิดๆ เพื่อชะลอความเร็ว โดยสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 200 กม./ชม. ใกล้เคียงกับสนามพีระ เซอร์กิต
hhhh
สำหรับเป้าหมาย ทั้งคู่กล่าวเหมือนกันว่า ไม่คิดจะเป็นคู่แข่งของใคร ที่ทำขึ้นมาเพราะชอบและใจรัก ใครอยากจะมาใช้ก็เชิญ เงื่อนไขเหมือนเช่นสนามแข่งอื่นๆ ทั่วไป คือ ครึ่งวันเช้า จะเป็นของรถจักรยานยนต์ ครึ่งบ่ายจะเป็นรถยนต์ โดยคิดค่าใช้จ่ายสำหรับการลงสนามแต่ละครั้ง คันละ 2,000 บาท กรณีมาคันเดียว ส่วนกรณีปิดสนามเพื่อจัดกิจกรรมทั้งวัน คิดอัตราใกล้เคียงกับที่สนามพีระ เซอร์กิต วันธรรมดาประมาณ 45,000 บาท วันหยุดประมาณ 65,000 บาท โดยยังไม่กำหนดราคาที่ชัดเจน เนื่องจากสนามจะเปิดอย่างเป็นทางการราวเดือนมิถุนายน ระหว่างนี้อยู่ขั้นตอนการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้รองรับครบถ้วน ขณะที่ตัวผิวสนามเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% เปิดให้รถลงไปทดลองวิ่งได้แล้ว
hhhhh
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา เขาทั้งคู่ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านบาท จากงบเดิมเริ่มแรกที่ตั้งไว้เพียง 10 ล้านบาท เท่านั้น แต่ไม่ว่าอย่างไร เขา2คนให้คำมั่นสัญญาว่า ไม่ว่าจะหมดเงินอีกเท่าไหร่ หรือการก่อสร้างจะช้าไปบ้าง ไม่สวยดั่งใจ สุดท้ายฝันของเขาจะต้องเป็นจริงและเกิดผลสำเร็จ จัดรถวิ่งแข่งได้อย่างแน่นอน
hhhhh
หมายเหตุ – เส้นทางการเดินทางไปสนาม “แก่งกระจานเซอร์กิต จากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชม.ขับรถจากดาวคะนองไปตามถนนพระราม 2 จนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) มุ่งหน้าไป เพชรบุรี –หัวหิน ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีราว 5 กม. จะเจอแยกสะพานลอยคล่อมคลองส่งน้ำตัดผ่านถนนให้เลี้ยวซ้ายเพื่อไปกลับรถขึ้นสะพานดังกล่าว(จากจุดนั้นอีก 40 กม. ถึงสนามแข่ง) จากนั้น วิ่งตรงเลียบคลองไปจนเจอสามแยกทีตันให้เลี้ยวขวาตามป้ายบอกไป เขื่อนแก่งกระจาน วิ่งตรงมาเรื่อยๆ จากนั้นสังเกตพบค่ายทหาร ให้เลี้ยวขวาไปตามถนน บ้านแม่คะเมย 2.5 กม.สนามแข่งอยู่ขวามือติดถนน หรือหากเลยไป ให้ไปเข้าทางแยกท่ายาง วิ่งไปตามป้ายบอกไปเขื่อนแก่งกระจาน จนเจอค่ายทหารและป้ายบอกบ้านแม่คะเมย
kkkk
huahinhub เก็บเรื่องนี้ฝากกัน ก็เพื่อให้พี่น้องนักธุรกิจ ชาวหัวหิน เราที่มีใจรักรถ และการแข่งขันรถ รวมถึงสนใจดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการแข่งรถ จะได้ทราบ และมีโอกาสเข้าดำเนินธุรกิจอื่นใด ร่วมกันต่อไป..สวัสดี
hhhh
ขอบคุณข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น