5.19.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๔๒ (ECO ภาคบังคับ)



ECO-EMBEDDED : เทรนด์อีโคภาคบังคับ
เทรนด์แรงไม่ตกสำหรับปีนี้ ต้องยกให้เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่ส่งอิทธิพลโดยรวมต่อทัศนคติ สถานภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นทางภาคธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคหัวใจสีเขียวจำนวนหนึ่ง ทำให้เกิดคำว่า ECO-ICONIC ที่เราใช้เรียกเทรนด์สินค้าหรือบริการที่แข่งขันกันทำดีไซน์รักษ์โลก (ทั้งในแง่คุณประโยชน์และรูปลักษณ์) ทั้งยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกสถานภาพในสังคมและเรื่องราวของตัวผู้บริโภคในระดับปัจเจกอีกด้วย

แต่ใช่ว่าผู้บริโภคทุกคนจะพร้อมใจตอบรับกับกระแสการบริโภคสีเขียวนี้ (รวมทั้งยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่สำนึกดีแต่ปฏิบัติไม่ได้) ทำให้เราเล็งเห็นแนวโน้มของ “คลื่นสีเขียวใต้น้ำ” ที่ค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เราขอเรียกมันว่า ECO-EMBEDDED นั่นก็คือ เมื่อภาครัฐและเอกชนยื่นมือเข้าควบคุม จัดการ และกำหนดมาตรการต่างๆ ในระดับส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อจัดระบียบให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎเหล็กสีเขียวโดยพร้อมเพรียงกัน!

เริ่มต้นกันที่ปัญหาถุงขยะพลาสติกล้นโลก (ที่ต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปีในการย่อยสลาย) วิธีกำจัดการใช้ถุงพลาสติกด้วยความสมัครใจคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทางออกเดียวที่ภาครัฐทำได้ก็คือการออกกฏหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก เช่น ในนครซานฟรานซิสโก ถุงพลาสติกที่ถูกแจกจ่ายออกไปในแต่ละปีมีสูงถึง 180 ล้านใบ ทำให้มีการออกกฎเทศบัญญัติห้ามร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีสาขามากกว่า 5 แห่ง ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษจิกายน ปี 2007 โดยอนุโลมให้ร้านค้าสามารถใช้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษรีไซเคิล และถุงที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ เช่น ข้าวโพดหรือมันฝรั่งได้ นอกจากนี้เมื่อสิ้นปี 2008 ยังมีการออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกสำหรับร้านขายยาอีกด้วย
เช่นเดียวกับประเทศในแถบเอเชียอย่างบังคลาเทศและไต้หวันที่มีการออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติกแล้ว ส่วนประเทศฝรั่งเศสจะเริ่มประกาศเป็นกฏหมายตั้งแต่ 1 มกราคม 2010 เป็นต้นไป

ในประเทศออสเตรเลียมีการเตรียมกำหนดแผนให้ห้างสรรพสินค้า Totem เป็นเขตบังคับปลอดพลาสติกแห่งแรกในประเทศ ห้ามมิให้ร้านค้าปลีกทั้ง 60 ร้าน รวมถึงร้านซูเปอร์มาเก็ต Coles ใช้ถุงหรือภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกหรือวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้เองตามธรรมชาติ

สำหรับภาคเอกชน หลายบริษัทได้เริ่มทยอยออกเงื่อนไขการหักเก็บค่าชดเชยมลพิษรวมไปในค่าสินค้าและบริการด้วย อย่างบัครเครดิต GE Earth Rewards ที่นำส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นบนบัตรไปมอบให้กับโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ด้านธุรกิจปั๊มน้ำมันในประเทศบราซิลที่ชื่อว่า Brazillian Ipiranga ก็ออกบัตรเครดิต Carbono Zero ร่วมกับมาสเตอร์การ์ด โดยเมื่อลูกค้าใช้บัตรนี้เติมน้ำมันกับทางปั๊ม ระบบจะทำการคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นจากปริมาณน้ำมันที่เติมไป และหักค่าชดเชยมลพิษทางอากาศจากส่วนหนึ่งของค่าน้ำมันที่เติมในครั้งนั้น เงินส่วนต่างจะถูกนำไปสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่า หรือไปบริจาคเป็นเงินสนับสนุนการค้นคว้าด้านพลังงานทดแทน

ข้ามมาที่ฝั่งอเมริกา สำนักงานคณะกรรมาธิการขนส่งรถแท็กซี่และลีมูซีนแห่งมหานครนิวยอร์ก หรือ TLC ได้ออกแผนพัฒนาเมืองชื่อว่า PlaNYC โดยกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศและอัตราการใช้พลังงานเชื้อเพลิงตามระยะทางของรถแท็กซี่รับจ้างสีเหลือง ต่อเนื่องไปถึงแผนปรับใช้รถแท็กซี่ไฮบริดที่จะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 เป็นต้นไป โดยจัดเป็นแผนพัฒนาระยะ 4 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดมลพิษในอากาศที่ถูกปล่อยจากรถแท็กซี่และรถรับจ้างอื่นๆ ได้ราว 50% ภายในระยะสิบปีข้างหน้า ทั้งนี้ข้อมูลจาก TLC เผยว่า รถแท็กซี่สีเหลืองที่วิ่งให้บริการอยู่ในนครนิวยอร์กนั้นมีทั้งหมด 13,000 คัน เร็วๆนี้จะมีการเปลี่ยนสีด้านในให้เป็นสีเขียว และในจำนวนนั้น 375 คัน เป็นรถแท็กซี่ชนิดไฮบริด

นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นเมืองสีเขียวเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่น โปรเจ็คท์ที่ใช้ชื่อว่า Masdar Initiative เมืองใหม่เนื้อที่หกล้านตารางเมตรในกรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะ ขยะ และรถยนต์แห่งแรกของโลก พื้นที่โดยรอบมีการก่อสร้างฟาร์มลมและฟาร์มแสงอาทิตย์ รวมถึงมีพื้นที่วิจัยทางการเพาะปลูกเพื่อให้เป็นเมืองที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แผนการก่อสร้างกำหนดแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2015

ฟากจีนแผ่นดินใหญ่ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างเมืองสีเขียวที่ชื่อว่า Dongtan เมืองนี้ตั้งอยู่บนเกาะ Chongming ใกล้กับนครเซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วยอาคารบ้านเรือนของประชาชนราว 50,000 ครอบครัว กำหนดสร้างเสร็จเพื่อให้ทันการเปิดตัวในงาน EXPO ประจำปี 2010 และในปี 2040 คาดว่าการขยายของเมือง Dongtan จะครอบคลุมพื้นที่ราวหนึ่งในสามของเกาะแมตฮัตตัน (นิวยอร์ก) และมีจำนวนประชากรถึง 500,000 คน เมืองนี้จะดำเนินนโยบายการผลิตพลังงานใช้เอง ทั้งจากลม, แสงอาทิตย์, ไบโอ-ดีเซล และขยะรีไซเคิล นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือพลังงานทดแทนอื่นๆ เข้ามาวิ่งในเขตเมือง เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอีกทางด้วย
ขณะนี้หลายประเทศในโลกต่างแสดงเจตนารมย์ที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมของโลก โดยเมื่อเดือนเมษายน ปี 2007 ที่ผ่านมา นอร์เวย์ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันใหญ่อันดับห้าของโลกได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศคาร์บอนสมดุลย์ภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศคอสตาริก้าวางจุดมุ่งหมายเดียวกันไว้ในปี 2012 ด้านมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ตั้งเป้าจะลดมลภาวะทางอากาศให้ได้ 80% ภายในปี 2050 ส่วนสวีเดน เชื่อว่าตนจะเป็นประเทศปลอดน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งแรกของโลกได้ในปี 2020

เชื่อได้ว่า ในอีกหลายๆ มุมทั่วโลกก็จะมีกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมออกตามมาอีกในปีนี้ อย่างเช่น ในประเทศเยอรมันนี หัวเมืองใหญ่อย่างเบอร์ลิน, ฮานโนเวอร์, ดอร์ทมุน, โคโลญจ์ และสตุ๊ดการ์ต มีการออกกฎเหล็กห้ามยานยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ฟอกหรือกรองไอเสียเข้ามาวิ่งในเขตมลพิษต่ำ และรถทุกคนต้องมีสติกเกอร์แสดงการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวที่กระจกหน้ารถด้วย หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 40 ยูโร ในขณะที่เมืองอื่นๆ ในยุโรป เช่น อัมสเตอร์ดัมและมาดริด ก็กำลังพิจารณาใช้กฎหมายห้ามรถสกปรกวิ่งเช่นกัน
กระแส ECO EMBEDDED ที่มาพร้อมระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาจเป็นหนทางเดียวที่จะฝังแนวคิดเพื่อความยั่งยืนลงไปในวิถีการบริโภคสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจไม่ควรมัวรอให้กฎเหล็กกลายเป็นเรื่องจวนตัวแล้วจึงค่อยขยับตาม (นั่นหมายความว่าคุณอาจช้าไปแล้ว)
ขอบคุณข้อมูลจากwww.tcdcconnect.com
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น