5.17.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๓๘ (ปิดเทอม ไปสร้างบ้าน)


ปิดเทอมนี้ เราไปสร้างบ้าน
เบนซ์-พิรุฬห์ธร เตชผาติพงศ์, ปู - ธนนันท ปิติชูวงศ์ และ แป๊ะ - กฤตนันท์ อดิเรกเกียรติ สามนักศึกษาจากโครงการ ASA Student Workshop โครงการปฎิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรม ระดับนิสิตนักศึกษา

ประสบการณ์เรียนรู้น่าประทับใจของนักศึกษาจากเมืองใหญ่ ที่นำความรู้ด้านสถาปัตย์สร้างประโยชน์แก่ชุมชน ในโครงการ ASA Student Workshop
วันหยุดหน้าร้อนของนักศึกษาหลายคน อาจจะถูกลมร้อนพัดผ่านไป โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่สำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรมกลุ่มหนึ่งแล้ว พวกเขาได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคม เพื่อเปลี่ยนวันว่างๆ ให้กลายประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตของพวกเขา

๐ ไม่เคยทำ ก็ได้ทำ
นักศึกษากลุ่มนี้เป็นนักศึกษาในโครงการ ASA Student Workshop โครงการปฎิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับนิสิตนักศึกษาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-26 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อนิสิตนักศึกษาจาก 24 สถาบันการศึกษารวมทั้งคณาจารย์ได้ร่วมกับหน่วยสังคมสงเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรมหลากหลายอาทิ ปรับปรุงบ้านพักคนชรา ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ โดยแต่ละโครงการต่างก็มุ่งหวังให้เกิด "สถาปนิกที่มีจิตสำนึกที่เสียสละและมีใจแห่งความพอเพียง"

ปู-ธนนันท ปิติชูวงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังบอกเล่าที่มาของการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ว่า รู้มาจาก อาจารย์พิเชฐ โสวทยสกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่คณะและเป็นผู้อำนวยการโครงการนี้ จึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมกันปรับปรุงสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านวัยทองนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

"ทุกปีปูก็จะไปทำค่ายศิลป์ที่เป็นส่วนหนึ่งของค่ายนี้อยู่แล้ว เคยไปช่วยงานอาจารย์เตรียมงานเวิร์คช็อปปีก่อนก็รู้สึกสนุกดี เลยอยากมาทำแบบจริงจังบ้าง ส่วนกิจกรรมที่บ้านวัยทองนิเวศน์แห่งนี้แบ่งเป็นสามส่วน คือ ลานกิจกรรม, สวนสมุนไพร และบอร์ดประกาศ ส่วนที่ปูทำคือ สวนสมุนไพร ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่าทำไมถึงเป็นสวนสมุนไพร เพราะสังเกตเห็นตา ยายที่นั่นไม่เดินออกมาจากที่พัก พอไปถามก็ได้คำตอบว่า แกเดินไม่ไหวขาเจ็บ แกก็จะนั่งอยู่ที่ระเบียงแล้วมองมาข้างนอก ก็เลยไปถามแกว่าอยากได้อะไร แกบอกว่าอยากได้ดอกไม้ ก็เลยเอาประเด็นตรงนี้มาปรับเปลี่ยนเป็นที่มาของสวนสมุนไพร"

ถามถึงส่วนที่ยากของงาน ปูบอกว่าเป็นการหาวัตถุดิบ เนื่องจากบ้านพักคนชราอยู่บนเขาจึงหาอุปกรณ์ค่อนข้างลำบาก ประกอบกับบริเวณนั้นเป็นเนื้อดินแดงแข็งมาก ขาดการดูแลทำให้ดินไม่สามารถดูดซับน้ำ ต้องหาวิธีแก้ปัญหาว่าทำยังไงเมื่อปลูกสมุนไพรแล้วจะไม่ตาย ด้วยการแบ่งเพื่อนทั้งหมดไปขุดดินพลิกหน้าดินขึ้นมาใหม่ใช้เวลา 2-3 วัน แล้วก็จึงปลูกตะไคร้หอมบริเวณหลังบ้านเพื่อช่วยป้องกันแมลง กินก็ได้ และหน้าตาสวยงามพอจะเป็นไม้ประดับได้

ด้วยความที่ปูเป็นคนกรุงเทพฯ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาเห็นสวนสมุนไพร เธอบอกว่า ไม่ค่อยจะรู้จักสมุนไพรเท่าไหร่ "รู้แค่ว่าโหระพากินได้ กระเพรามันคืออันนี้ แต่ถ้าลึกกว่านี้ ไม่รู้ พอมีการระดมความคิดว่าจะปลูกสมุนไพรอะไร ปูก็เครียดเลย ตัวเองไม่ได้ชำนาญเรื่องนี้ รู้เลยว่า ต้องศึกษาด้านนี้เพิ่มอีกมาก ไม่ใช่แค่ศึกษาในห้องเรียน วิชาที่เรียนอย่างเดียว"

ท้อมั้ย ต้องมาทำอะไรที่ไม่เคยที่ไม่เคยทำแบบนี้?
"ตอนที่ทำถามว่าท้อมั้ยก็ไม่ท้อนะ แต่เหมือนเราไปด้วยใจ เหนื่อยก็เหนื่อยนะ ก็เรามาเองก็ต้องทำให้สำเร็จ ปูคิดว่าโอกาสแบบนี้ในชีวิตมันมีน้อย ถ้าเราไปเจอประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรม เราสามารถเอาตรงนี้มาใช้ได้เยอะ ถ้ามีเวลา ก็อยากให้หาเวลาทำ เหมือนเราไปทำบุญให้เค้าด้วย" เด็กกรุงเทพฯ เต็มตัวตอบอย่างเต็มใจ

ในฐานะคนที่เคยเจ้าร่วมกิจกรรมของโครงการนี้มาก่อนอย่าง เบนซ์ - พิรุฬห์ธร เตชผาติพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม สาขาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เขาบอกข้อดีของการได้ร่วมกิจกรรมแบบนี้ที่ทำให้ติดใจจนกระทั่งมาแล้วมาอีกว่า

"ตอนแรกผมไปทำกิจกรรมที่ศูนย์ภูมิรักษ์ ที่จังหวัดนครนายกเป็นที่แรกของโครงการที่ให้เราได้รู้จัก ต่อมาอาจารย์ก็บอกว่า จะมีค่ายที่เชียงใหม่อีกก็เลยอาสามา เพราะได้เพื่อน ได้ทำงานเป็นกลุ่ม ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน และได้อยู่กับธรรมชาติ การปรับตัวก็ไม่ยากเพราะเหมือนเราทุกคนมีใจอาสาที่จะมาทำ"

เบนซ์เข้ามาทำในศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคเหนือ จ. เชียงใหม่ อันเป็นที่พักรองรับอาจารย์และวิทยากร เขาอธิบายถึงกิจวัตรประจำวันและงานที่รับผิดชอบว่า "ผมทำทางเข้าหลักก่อนจะแยกเข้าบ้านทั้งสองหลัง โดยปรับภูมิทัศน์ให้รู้ว่าตรงนี้มีบ้านพัก ทำกับเพื่อน 14 คน ช่วยกันออกแบบหรือตรวจแบบทั้งหมด 1 วันทั้งนำเสนอกับอาจารย์ นำเสนอกับหัวหน้าศูนย์ พอได้แบบก็ลงมือทำ ทำทั้งวันทั้งคืนเลยเพราะกลัวไม่ทันเวลา ได้นอนประมาณตี 3 ตื่น 8 โมง แต่ก็สนุกดี ความยากอยู่ที่เนื้อดินค่อนข้างแข็ง อากาศร้อนมาก ทำให้การทำงานลำบาก"

สำหรับ แป๊ะ-กฤตนันท์ อดิเรกเกียรติ เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเบ๊นซ์บอกว่า มาร่วมโครการนี้เพราะเบ๊นซ์ชวนมาก็เลยอยากจะเข้าร่วมโครงการบ้าง โดยเขาเป็นกำลังร่วมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของบ้านดินอีกแรง

"ตอนนั้นไฟมันมืดมาก ผมก็เลยทำโคมไฟเตี้ยๆ จะได้มีแสงสว่าง วัสดุที่ผมใช้ก็เป็นไซดักปลา อยากได้อารมณ์แบบลูกทุ่งๆ หน่อย มันจะได้เข้ากับบ้านดิน และเข้ากับหลังคาบ้าน ให้ความรู้สึกอบอุ่น ใครก่อกำแพงเป็นก็มาก่อ เพื่อนผู้ชายบางคนก็มาช่วยกันต่อไฟ ช่วยๆ กันทำ"

ฟังอย่างนี้อาจจะดูเหมือนว่ากิจกรรมจะมีแต่ความสนุก แต่ความเป็นจริงพวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา ตั้งแต่การออกแบบ นำเสนอไปจนถึงทำจริง ที่นำพาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอในชีวิตมาก่อน เหมือนที่เบนซ์บอกว่า

"บ้านผมอยู่กรุงเทพก็ไม่เคยขุดดินเลย ถามว่าลำบากมั้ยก็ลำบากแน่นอน แต่เห็นเพื่อนคนอื่นขุดได้เราก็ต้องขุดได้ พอเราพักก็มีเพื่อนคนอื่นมาแทน เพื่อนพักเราก็ทำแทนเพื่อน เราไม่ได้ทำงานคนเดียว"
สุขใจ และได้เรียนรู้


จากกิจกรรมที่ได้ทำมาเบนซ์บอกว่า สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมที่สามารถเอาไปใช้ในอนาคตได้คือ ได้รู้จักคนที่ทำงานด้านเดียวกัน รู้จักการทำงานร่ามกัน ได้รับความคิดแปลกใหม่จากที่เรียนในห้อง

"ที่มหาวิทยาลัยจะเน้นสอนกระบวนการคิด แต่กิจกรรมสอนให้เราทำได้จริง ผมก็อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนได้ลองมาสัมผัสการทำงานเป็นกลุ่ม ลองเปลี่ยนความคิดออกมามองภาพรวม เพราะถ้าเราอยู่แค่ตรงนี้เราก็มองแค่ตรงนี้ แต่ถ้าเราถอยออกมา เราก็จะเห็นภาพที่กว้างขึ้น เห็นทางเลือกที่มากขึ้น"

ส่วนแป๊ะก็ได้เรียนรู้การนำธรรมชาติของท้องถิ่นมาดัดแปลงใช้งานตลอดจนการวางแผนการทำงานจริง "ผมได้เรียนรู้ว่า ยิ่งระบบงานเป็นระบบมากเท่าไหร่ งานก็จะออกมาตรงตามแผนงานมากขึ้น ที่สำคัญคือตัว
บุคคลที่ต้องมีทักษะ และการทำงานเป็นทีมก็ต้องใช้ความสามัคคี ได้บทเรียนนอกตำรา เห็นวิธีการทำงานจริงๆ อย่างผมเรียนภูมิสถาปัตย์ เป็นการสเป็กต้นไม้ผมก็เลยเอาต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว โดยเอาผักหวานมาปลูกเป็นรั้วสลับกับเสาไฟฟ้าที่ผมทำ เป็นการโฆษณาว่าที่ศูนย์นี้ขายต้นไม้ด้วย"

สำหรับสาวน้อยอย่างปู เธอได้รับความรู้สึกดีๆ ที่ประทับใจกลับไปไม่มีวันลืม
"สิ่งที่ประทับใจคือ ตอนกลับมีรดน้ำดำหัวคนแก่ที่อยู่ในบ้าน ตอนปูทำงานจะทำงานอยู่ข้างนอกก็ไม่ค่อยรู้จักคุณตาคุณยายเท่าไหร่ ก็เข้าไปในห้องพักของคุณยายที่ไม่เคยเจอเลยว่า จะกลับแล้วนะ ให้พรหลานนิดนึง พอบอกว่าจะกลับแกน้ำตาคลอ ก็เลยรู้สึกว่า ทำไมแกมีความรู้สึกดีกับเราขนาดนั้น ทั้งๆ ที่แกก็ไม่เคยเห็นหน้าเรา แค่รู้ว่าเรามาทำอะไรให้ก็ร้องไห้ให้เราแล้ว"


ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่หายใจทิ้งไปวันๆ ประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตจึงเป็นของคนที่รู้คุณค่าของ 'เวลา' นะพี่น้องชาวหัวหินนะ...สวัสดี

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ โดย : เบญจรัตน์ หงส์แก้ว
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น