5.18.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๔๑ (จินตนาการพับได้)





















ในวงการพับกระดาษเมืองไทย หลายคนรู้จัก ปอม-เอกสิทธิ์ เข้มงวด ที่ปรึกษาด้านโปรแกรมบัญชี บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เขาพับกระดาษหรือโอริงามิ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 5 ปี

สิ่งที่ปอมไม่เคยหยุดนิ่งคือ การเรียนรู้และเป็นนักอ่านตัวยง ชอบอ่านสารานุกรมความรู้รอบตัว หลงใหลไดโนเสาร์เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป ตอนเด็กๆ สนใจดาราศาสตร์ โหราศาสตร์และฮวงจุ้ย และมีอยู่ช่วงหนึ่งปอมคิดว่า คนเราตายแล้วสูญ แม่จึงชวนไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมกับยุวพุทธิกะสมาคม ปอมเริ่มเข้าใจว่า เวรกรรมมีจริง และรู้สึกผิดที่ครั้งหนึ่งเคยฆ่าจิ้งจกด้วยความสนุก

ส่วนงานอดิเรกที่ปอมทำมาอย่างต่อเนื่องกว่ายี่สิบปี คือ การพับกระดาษ ปอมเคยนั่งจดจ่อกับการพับกระดาษกว่าเจ็ดชั่วโมง ไม่รับประทานและไม่ลุกไปไหน จากไดโนเสาร์มีเล็บ นักสีไวโอลิน ม้าฟิตซัส ฯลฯ ล่าสุดปอมบอกว่า เบื่อที่ต้องพับตามแบบคนอื่น ก็เลยคิดโมเดลรูปพระพิฆเนศวร

ปอมคิดว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นกูรู หรือต้องมีคนพับกระดาษตามเขา ส่วนสาเหตุที่ออกแบบร่างพระพิฆเนศวร ก็เพื่อจะบอกว่า "คนไทยก็ทำได้" และนี่คือ การพับพระพิฆเนศวรหนึ่งเดียวในโลก
การพับรูปพระพิฆเนศวรมีต้นตออย่างไร?

จากประสบการณ์ของเรา น่าจะดีไซน์เองได้แล้ว อยากดีไซน์ที่เกินกว่ามาตรฐานทั่วไป คิดไว้หลายอย่าง ตอนนั้นคิดจะพับเรือพระราชพิธี ตัวละครในรามเกียรติ์ ผมอยากพับอะไรที่คนอื่นไม่ทำ และแสดงถึงความเป็นเรา ความคิดแวบขึ้นมา ต้องเป็นช้างและเป็นเทพวิทยาธรความรู้ทั้งหมด ถ้าเป็นสัญลักษณ์ความเป็นไทยก็ต้องพระพิฆเนศวร

ได้แรงบันดาลใจจากไหน?
ก่อนอื่นต้องไปขอพระพิฆเนศวรก่อน วันนั้นนั่งรถผ่านรัชดา ไปกราบไหว้ท่าน แล้วนำแผ่นทองคำเปลวมาติดผลงาน ออกแบบอยู่สองชั่วโมง พับขึ้นรูปรวมสองชั่วโมง แบบร่างที่ออกมาทำไว้สามเวอร์ชั่น คือ พระพิฆเนศวรนั่งมีสองกร พระพิฆเนศวรยืนมีสี่กร และเพิ่มอีกเวอร์ชั่นพระพิฆเนศวรนั่งมีสี่กร ปรับเศียรให้ใหญ่ขึ้น โมเดลที่ออกแบบยังไม่สมบูรณ์ เป็นฉบับร่างโครงสร้างหลักการ
พับกระดาษ อย่างไดโนเสาร์ ไม่ต้องมีเล็บก็ได้ แต่ผมอยากให้มี

นอกจากการดีไซน์โมเดลพระพิฆเนศวร ยังมีงานชิ้นอื่นอีกไหม?
ยังไม่มี การดีไซน์ต้องมีแรงบันดาลใจ มีสมองที่ปลอดโปร่ง ในอนาคตผมอยากทำหนังสือการ
พับกระดาษแง่มุมอื่นๆ ซึ่งผมก็มีความรู้เรื่องนี้ แต่เมืองไทยยังไม่มีกระดาษที่ดี ต้องแผ่นใหญ่และบาง

เบื่อที่จะพับตามแบบคนอื่น ก็เลยหารูปแบบของตัวเอง ?
ตัวที่พับยากสุดเจ็ดชั่วโมง เป็นตัวการ์ตูน หัวเป็นมังกรมีปีก มีปรมาจารย์คิดไว้ ผมพยายามหาแบบที่พับยากมากขึ้น ไม่อยากนั่งรอแบบคนอื่น อยากคิดเอง เพราะระดับเซียน
พับกระดาษในโลกนี้คิดได้เร็วกว่าผม เขามีเวลาที่จะคิดและสามารถทำเป็นหนังสือขาย ญี่ปุ่นก้าวหน้าทางด้านนี้ เพราะรัฐบาลสนับสนุนและเป็นวัฒนธรรมของชาติด้วย

การพับกระดาษทำให้คุณได้เล่นบทพระเจ้า?
การ
พับกระดาษช่วยเติมเต็มให้เรามีความสุข เหมือนเราเล่นบทพระเจ้า เพราะนี่คือการสร้างสรรค์ของเรา ผมโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะคุณแม่ทำงานศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น คุณแม่สอนให้พับกระดาษแบบง่ายๆ เริ่มจากพับนก เต่า ลูกบอล ผมชอบพับไดโนเสาร์ ตอนเด็กๆ จะไม่ค่อยมีแบบ แม่หาแบบง่ายๆ เหมาะสำหรับเด็กมาให้ และเพื่อนคุณแม่เวลาไปเมืองนอกก็จะซื้อมาฝาก พอทำงานได้ก็ซื้อเอง
hh
อยากให้เล่าถึงนักพับกระดาษที่คุณชื่นชอบสักนิด?
คนที่ให้แรงบันดาลใจอย่างมากคือ โอกิระ โยชิซาว่า ปรมาจารย์
พับกระดาษชาวญี่ปุ่น เขาทำให้การพับกระดาษแพร่หลายไปทั่วโลก เขาอยากให้คนทั่วโลกคุยเรื่องการพับกระดาษด้วยภาษาสากล จึงคิดเส้นประและลูกศร เพื่อให้การพับกระดาษถ่ายทอดถึงกันได้ จนเกิดสัญลักษณ์สากลของโอริงามิ มีหนังสือการพับกระดาษจากนักเขียนหลายคน ทำให้วงการพับกระดาษทั่วโลกพัฒนาอย่างรวดเร็ว

210 ปีที่แล้วมีหนังสือสอนพับนก ไม่ได้สอนขั้นตอนเหมือนปัจจุบัน แต่ล้ำสมัยมาก มีรอยพับหน้าเดียวพับนกได้เลย ที่เก๋กว่านั้นคือ มีการสอนพับนกเวอร์ชั่นต่างๆ นกต่อตัว นกกายกรรม หมู่บ้านนก อันหลังผมก็ยังไม่ได้ลองพับ มีนกตัวเล็กๆ เป็นลูกบ้านโดยใช้กระดาษแผ่นเดียวไม่ใช้กาว เวลาพับกระดาษต้องใช้แรงความคิดและความแม่นยำ ปัญหาคือการอ่านแบบพับ ผมชอบใช้คำว่าอ่านโน้ต และเปรียบตัวเองเหมือนนักดนตรี
ในความรู้สึกของคุณ การอ่านแบบพับเปรียบเสมือนการแกะโน้ตดนตรี?

คนที่ออกแบบการพับกระดาษ ผมคิดว่ามีอยู่สี่พวก พวกแรก ดัดแปลงจากแบบก๊อบปี้ของคนอื่น พวกสอง ไม่มีแบบแผน พับไปเรื่อยๆ ตามสัญชาตญาณ พวกสาม เป็นนักคณิตศาสตร์ เข้าใจทุกรอยพับของกระดาษ ทุกอย่างสามารถคำนวณและอธิบายได้ บางคนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบได้ด้วย พวกสี่คือ ชอบผสมผสาน ทั้งดัดแปลงและใช้สัญชาตญาณ ประกอบกับเทคนิคบางอย่าง ผมอยู่ในพวกสุดท้าย ผมคิดว่า ถ้าเราพับนกได้ ก็ดัดแปลงได้หมด เวียดนามมีโอริงามิกรุ๊ป เป็นชุมชนใหญ่มาก ผมเข้าไปดูผลงานพวกเขาในอินเทอร์เน็ต ผลงานเทียบเท่าในญี่ปุ่น พวกเขาเปิดเผยวิธีคิด ถ้าก๊อบปี้ก็เพื่อพัฒนา จะเล่าถึงการดัดแปลงสัดส่วน นั่นทำให้วงการพับกระดาษตื่นตัว

มีบ้างไหม พับไม่ได้ก็ทิ้งไปเลย?
ไม่มี มีแต่ค่อยกลับมาพับ การ
พับกระดาษจะเป็นรูปสามมิติ แต่แบบพับเป็นสองมิติ นี่คือความยาก ในเมืองนอกมีการวิจัยออกมาว่า คนที่พับกระดาษต้องมีสมองซีกที่สร้างรูปสามมิติได้ดี ถ้าติดขัดก็กลับมาสู่ขั้นพื้นฐาน ทบทวนเรื่องสัญลักษณ์และเทคนิคเพิ่ม เวลาผมพับกระดาษ ผมจะไม่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ ผมมีความสุขตั้งแต่ลงมือจนกระทั่งเสร็จ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชม

ส่วนตัวแล้วชอบพับรูปอะไร?
ชอบไดโนเสาร์และสัตว์ประหลาด ไม่ชอบพับสัตว์ร่วมสมัย พวกกบ นกหรือแมงป่อง จะพับเพื่อให้เห็นว่า การ
พับกระดาษเป็นได้มากกว่าการพับนก เพื่อสื่อสารกับคน

กลุ่มการพับกระดาษในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
ในเมืองไทยการ
พับกระดาษเริ่มจากบล็อกอาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ ถ้าไม่มีตรงนี้ ผมคงไม่เจอคนพับกระดาษมากมายขนาดนี้ สามปีที่แล้วอาจารย์บัญชาสนใจการพับกระดาษ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อย่างน้อยๆ ก็ได้แรงบันดาลใจ มีบางคนพับนกฟินิกซ์ได้ ถ้าถามว่ามีนักพับกระดาษจริงจังแค่ไหน คงประมาณยี่สิบกว่าคน ก็เลยทำเป็นชมรมนักพับกระดาษไทย (www.thaiorigami-club.net46.net)
hhh
แม้คนที่สนใจพับกระดาษจะเป็นเด็กวัยรุ่น แต่ก็มีเด็กประถมบางคนหัดพับไม่ถึงเดือนสามารถพับตัวที่ผมใช้เวลาเป็นสิบปี รูปม้ามีปีก ซึ่งเป็นแบบพับ ที่ยาก ผมไม่คิดว่า เด็กที่สนใจพับกระดาษจะทำได้ดีขนาดนี้ ในเว็บที่พวกเราทำ มีทั้งแบบพับกระดาษแบบง่ายและยาก เหมาะสำหรับคนสนใจทั่วไป

คุณเป็นวิทยากรพับกระดาษด้วย?
สอนพับกระดาษตั้งแต่มัธยมปีที่ 4 ก็เป็นโอกาสของเรา เป็นการสร้างความตื่นตัวในวงการพับกระดาษ อย่างโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี มีคอร์สพับกระดาษเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น นอกจากเป็นศิลปะ ยังสื่อสารทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นาซ่าใช้ไอเดียเรื่องโอริงามิออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ดาวเทียม ในต่างประเทศนำการพับกระดาษไว้ในหลักสูตรด้วย

แต่คนไทยคิดว่าการพับกระดาษคือพับนก และเป็นกิจกรรมของเด็ก ทั้งๆ ที่นาซ่าเอาไอเดียไปใช้ การพับกระดาษเป็นมากกว่าศิลปะ สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ การสร้างถุงลมนิรภัยมาจากแนวคิดโอริงามิ นอกจากนี้เราสามารถใช้การพับกระดาษสร้างมิตรภาพ เจอเพื่อนร่วมงานใหม่ก็พับอะไรน่ารักๆ ให้ ก็จะมีเรื่องคุยกัน ในกระเป๋าของผมจะมีกระดาษไว้ตลอดเวลา เจอใครก็เอามาสอนหรือพับเล่นกัน

ในเมืองไทยการพับกระดาษเป็นอาชีพได้ไหม?
ในอนาคตไม่แน่ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการเห็นคุณค่านำมาเป็นหลักสูตร อาจจะเชิญผมเป็นที่ปรึกษาเดินสายทั่วประเทศ แต่นั่นเป็นความฝัน การพับกระดาษต้องมีแรงบันดาลใจ ผมเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ผมไม่เคยคิดจะเลิกพับ เหมือนการปฏิบัติธรรม ผมก็ทำอยู่ประจำ เพราะในชีวิตเราต้องเจอทั้งเรื่องพอใจและไม่พอใจ เวลาเจอเรื่องพอใจก็ต้องรู้เท่าทัน อย่าดีใจมากไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ โดยเพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น