5.04.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๒๓ (ขายเพลงแถม Know-how)



หลายหลากไอเดียเพื่อการทำมาหากิน....ยังมีอีกมาก อย่างที่ huahinhub นำมาฝากชาวหัวหินกันนี้ เป็นเรื่องของการใช้ความรู้ความสนใจส่วนตัว ประกอบกับการทำมาค้าขาย..ที่สามารถเพิ่มยอดขายและลูกค้าประจำ ได้ดีมากอีกไอเดียนึงที่เดียว เป็นอย่างไร ไปติดตามกัน.........


หลายคนเชื่อว่า ยุคดิจิตัลทำให้ธุรกิจเพลงอยู่ในภาวะตกต่ำลง เมื่อยอดขายสินค้าของสื่อผลิตซ้ำอย่าง "ซีดีเพลง" ลดลงอย่างน่าใจหาย
แต่บางคนเชื่อว่า การฟังเพลงไม่มีวันตายจากมนุษยชาติ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เพลงในรูปแบบของไฟล์ดิจิตัลที่ได้มาง่ายๆ จากการดาวน์โหลดย่อมไร้ค่า เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นเพลงที่จับต้องได้ (physical) และมีคุณค่าในความรู้สึกของนักสะสม (Collector)

ทุกวันนี้ แม้ธุรกิจร้านค้าซีดีในต่างประเทศยังดำเนินต่อไปได้ ด้วยวัฒนธรรมการฟังเพลงที่เหนียวแน่นและมีรากฐาน แต่ดูเหมือนว่าร้านค้าซีดีเพลงในบ้านเรามีสภาพไม่ต่างจากซากศพเดินได้เท่าใดนัก แม้กระทั่งผู้นำตลาดรายใหญ่อย่าง "บีทูเอส" ยังหาสินค้าเพลงดีๆ ได้ยากเย็นเต็มที เพราะไม่ลงทุนด้านสต็อกสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อเป็นบริการแก่ผู้บริโภค

นั่นพลอยทำให้ร้านในลักษณะ "ซีดีมือสอง" โดดเด่นขึ้นมาอย่างทันควัน ยิ่งเมื่อเจ้าของร้านออกมาทำหน้าที่ให้บริการลูกค้าด้วยตัวเอง อย่าง ประพัฒน์ จึงรักเสรีชัย อดีตนักข่าวสายดนตรีของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งแม้จะมีสไตล์ในการทำธุรกิจแบบ "ศิลปิน" คือยึดเอาความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่ โดยเฉพาะ "ช่วงเวลาให้บริการ" แต่ร้าน JAMZ ของเขา ก็เปรียบเสมือน "โอเอซิสกลางทะเลทราย" สำหรับคอดนตรีจำนวนไม่น้อย ที่นอกจากได้อัลบั้มเพลงหาฟังยากแล้ว ยังแถมด้วยความรู้จากคนขายอีกด้วย

"นอกเหนือจากขายซีดีมือสอง ผมขายโนว์ฮาวด้วย คือความรู้เฉพาะ เกี่ยวกับดนตรี ตัวอย่างเชิงรูปธรรมง่ายๆ เมื่อเดินเข้ามาในร้าน คุณอาจรู้สึกว่า ...ทำไมป้ายบอกแนวดนตรีเยอะจัง อย่างเช่นที่อื่นอาจจะไม่มีแนวอิเล็กทรอนิกา แต่ผมมีอิเล็กทรอนิกา หรือในเพลงคลาสสิก ผมแยกไปตามชื่อคอมโพสเซอร์ เรียงจาก A ถึง Z อาจจะไม่มีครบทุกคน แต่อย่างน้อยก็มี giant อย่างน้อยระดับยักษ์ใหญ่ของนักแต่งเพลงในโลกดนตรีคลาสสิก มีอยู่ยี่สิบคน"

"ด้านแนวเพลงแจ๊ส ก็แยกเป็นคีย์บอร์ด สตริง ที่ใช้สตริงเพราะมีทั้งกีตาร์ ไวโอลิน บางทีมีแบนโจ อย่าง เบลา เฟล็ค รวมถึงการแบ่งเป็นแบนด์ เป็นโวคอล นี่คือตัวอย่างง่ายๆ " ประพัฒน์ บอกกล่าวถึงความแตกต่าง เจ้าของร้าน JAMZ เล่าว่า ไอเดียในการทำร้าน เป็นเช่นเดียวกับหลายๆ อาขีพ มาจากความรัก คือความรักในเสียงดนตรี

"จากนั้นคือโอกาส ผมเริ่มต้นจากวิกฤติเศรษฐกิจหลังค่าเงินบาทลอยตัว ผมเปิดท้ายขายของ เมื่อเราเอาเทปซีดีส่วนตัวไปขาย ขายไปขายมา เราพบว่ามีของมีสินค้าในตลาดมากมาย ก็เริ่มจากการซื้อของเหล่านั้นมาขายอีกครั้ง อาศัยที่มีความรู้ว่างานชิ้นไหนมีค่า พอทำมาได้สักระยะหนึ่ง ก็เห็นช่องทางในการเปิดร้าน"
แต่ธุรกิจเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าใครสนใจจะกระโดดลงมาทำได้ทันที เพราะมี "ความลับ" ที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้เป็นลำดับเสียก่อน


"หัวใจสำคัญของการทำธุกิจ used cd อยู่ตรงคุณจะหาของอย่างไร ส่วนแรก แผ่นมาจากลูกค้า มีคนนำมาขาย หรือฝากขาย ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมความถี่ได้ จากนั้นเราต้องเดินตลาด ซึ่งเป็นความลับพอสมควร เปรียบเหมือนหนองน้ำ คุณไปเดินตามเปิดท้ายขายของ ก็ไม่ใช่แหล่งใหญ่ เพราะสินค้าลงมาไม่ได้เยอะ อีกส่วนหนึ่งคือช่องทางหาสินค้าอื่นๆ โนวฮาวใครโนวฮาวมัน เช่น มาจากสินค้าค้างสต็อกของค่ายเพลง ร้านที่เลิกกิจการ หรือจากการสั่งสินค้าผ่านเว็บ หรือฝากคนไปหิ้วมาจากต่างประเทศ"

"เมื่อผมเริ่มสนิทกับลูกค้า ก็จะมีคำถามมาว่า เป็นของขโมยมารึเปล่า ขอยืนยันว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า ที่เราทำ เราต้องการขายสินค้าลิขสิทธิ์เท่านั้น นั่นหมายความว่าเราไม่ยุ่งกับของโจรด้วย"
ประพัฒน์ อธิบายว่า ธุรกิจร้าน
ซีดีมือสองเป็นธุรกิจที่แปลก เพราะแวดวงของคนขายสินค้าลักษณะนี้ตั้งแต่ระดับแบกะดิน หรือขายตามตลาดนัด จนถึงลงทุนเปิดเป็นร้านค้าขึ้นมา ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็น "เพื่อนร่วมค้า" มากกว่า

"ในร้านผม ตอนนี้มี 2,500 แผ่น ผมว่าน่าจะเป็นร้านยูสด์ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว รายอื่นก็เล็กกว่านี้ คงไม่เกิน 1 พันแผ่น บางรายมาซื้อผมด้วยซ้ำ นี่พูดในเชิงข้อเท็จจริง ไม่ได้คุย ผมมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ บางทีแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ไปตลาดนัดนี้หรือยัง มีของแบบนี้ ไม่ตรงกับแนวของเขา แต่ตรงกับตลาดของผม ลองไปดูสิ อย่างนี้เป็นต้น"

สำหรับร้าน JAMZ ประพัฒน์ อธิบายว่าที่นี่จะเน้นแนวแจ๊สกับคลาสสิกเป็นหลัก เพราะในพื้นที่โดยรวม เป็น office building จึงเป็นตลาดของผู้ใหญ่ แนวเพลงที่ได้รับความนิยมถัดมา คือ ป๊อป และ ร็อค แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังให้ความสนใจกับแนวดนตรีเล็กๆ น้อยๆ ที่ร้านอื่นไม่ได้เน้น เช่น อิเล็กทรอนิกา เวิลด์มิวสิค เป็นต้น รวมถึงอัลบั้มหายากที่ไม่ได้ผลิต Out of Print ซึ่งกลายเป็นของมือค่าสำหรับนักสะสม

"เราไม่ได้สนใจเพียงอัลบั้มหายาก แต่ยังรวมไปถึงแหล่งผลิตหายากด้วย หลายคนอาจไม่รูว่า ตลาดเพลงเป็นตลาดที่มีรายละเอียดมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดแผ่นหนัง ตลาดแผ่นเพลงละเอียดกว่า ความหลากหลายของ category เราต้องดูแลมากกว่า"

"อย่างที่รู้กันในวงการว่า แหล่งผลิตซีดีที่ดีที่สุด คือญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้คุณภาพเสียงดีที่สุด อันนี้เป็นที่ยอมรับ บางแผ่นมีคุณภาพเทียบเท่า audiophile ได้สบาย เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงมีแผ่นอเมริกาหรือแผ่นญี่ปุ่นขาย ซึ่งปกติเขาจะประมูลกันทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้น คนที่ไม่เข้าใจ อาจจะแปลกใจว่าทำไมอัลบั้มเดียวกัน แผ่นญี่ปุ่นหรืออเมริกา จึงมีราคาสูงมากกว่า แหล่งผลิตจากยุโรป หรือไทย เพราะซัพพลายน้อยแต่ดีมานด์มาก"

"ยกตัวอย่างเช่น ไมเคิล แจ็คสัน ปัจจัยที่หนึ่งคือแหล่งผลิต อย่างที่บอก ชุด Thriller ถ้าเป็นแผ่นยุโรป ส่วนมากผลิตจากออสเตรีย ซึ่งเสียงก็ใช้ได้แล้ว แต่บังเอิญที่ร้านมีแผ่นอเมริกา ก็จะวางขายห่างกัน 50 บาท เพราะแหล่งผลิตเป็นตัวกำหนด ส่วนญี่ป่นจะแพงขึ้นไปอีก 50 บาท"

นักค้าซีดีมือสองคนเดียวกัน วิเคราะห์แนวโน้มของตลาดให้ฟังว่า ปัจจุบันมีความสนใจหนึ่งซึ่งจริงๆ แล้ว มีอยู่ในวงจำกัด แต่เป็นวงจำกัดที่มีกำลังซื้อ ซึ่งมาจากกระแสที่คนหันกลับมาเล่นแผ่นซีดียุคแรก ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะพวก Early Issue Edition ที่กลับมาได้รับความนิยม และค่อยๆ ขยายตัว

"ถ้าจำไม่ผิด แผ่นซีดีเกิดขึ้นครั้งแรกราว ปี 1982-83 คือทั้งทศวรรษ 80s จนมาถึงก่อนปี 1995 ถ้าคนที่ฟังดีๆ จะพบว่าคุณภาพเสียงดี หนากว่า และเสียงนุ่ม คือใกล้กับความเป็นแอนาล็อก จนเกิดกระแสคนกลับไปเล่นแผ่นก่อนปี 95" เมื่อถามถึงแผ่นซีดีราคาสูง ประพัฒน์ระบุว่า แผ่นเพลงแจ๊สมีราคาดีกว่าเพื่อน

"เหตุที่แจ๊สราคาสูง ไม่ใช่ผมเป็นผู้กำหนด แต่ตลาดเป็นผู้กำหนด เพราะแจ๊สเมืองไทยหายาก โดยเฉพาะพวกค่ายซาวอย อเมริกาดีแน่นอน แต่ญี่ปุ่นนี่สุดยอด บางครั้งราคาอาจถึง 600 บาท แต่ซื้อมือสองที่นี่ก็ยังดีกว่าซื้อที่ญี่ปุ่นอยู่ดี" แต่ที่สูงกว่านั้น คือแผ่นเพลงไทยที่ผลิตในต่างประเทศ

"ตั้งแต่ขายมา แผ่นราคาสูงสุด คือเพลงไทย แต่ต้องเป็น early issue และผลิตในต่างประเทศ คือในระยะนั้น ไทยยังไม่มีเครื่องปั๊มซีดี และปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว นี่คือเหตุผลว่าทำไมแพง เป็นที่รู้กันว่า ปานศักด์ (รังสิพราหมกุล) มีราคาหนึ่งหมื่นบาทในสภาพดี ผมเองเคยขาย Grand XO ที่ราคาสี่พันบาท นั่นคือราคาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันน่าจะหกพันบาท ทั้งที่รับซื้อมาในราคาไม่สูง"


ความแตกต่างจากร้านซีดีมือหนึ่ง ประกอบด้วย
ราคาประหยัดกว่า "ร้าน used cd บางร้านสภาพไม่ดี แต่เขาขายถูก หลักร้อยกว่าบาท แต่ที่ร้านนี้ ราคามาตรฐานอยู่ที่สามร้อยบาท แต่สภาพเทียบเท่าซีดีมือหนึ่ง "

"ข้อสอง หน้าที่ของร้านซีดีมือสองเป็นทางเลือกให้ตลาดนักฟังในเมืองไทย ผมขอยืนยันว่า ทุกวันนี้ร้านมือหนึ่งมีปัญหาในเรื่องความหลากหลาย ผมไม่นับพวก new arrival พวกซีดีออกใหม่ แต่ในกลุ่ม back catalogue มันชัดเจนว่าร้านมือหนึ่งมีปัญหาอย่างมาก

และนี่คือข้อดีของร้านซีดีมือสอง คือเรามีซีดีค่อนข้างหายากจนถึงหายากมาก หรือแม้กระทั่งแผ่นทั่วไป เปรียบเทียบราคากับสภาพแล้ว ร้านยูสด์ก็น่าสนใจกว่า"

ความสุขของ ประพัฒน์ ในการดำเนินธุรกิจร้านซีดีมือสอง ไม่ได้อยู่ที่การขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การให้บริการให้คำปรึกษาด้านดนตรี บ่อยครั้งที่เขาต้องดูแลลูกค้าจากเอเยนซีโฆษณา ที่ต้องการเพลงไปใช้งาน หรือบรรดาออร์แกไนเซอร์ทั้งหลายที่มาหาเพลงเท่ๆ ไปเปิดในงานอีเวนท์ หรืองานแต่งงาน เป็นต้น

"ผมเชื่อว่า เราทุกคน ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ขนาดไหน แต่เราก็ยังมีความเป็นเด็ก ความสุขของผม มี 2 ช่วง คือ pre-sale และ post-sale มาจากก่อนที่จะเอาสินค้าเข้าร้าน ไปตลาด เจอแผ่นที่อยากได้มานาน ถึงผมจะเป็นคนขาย แต่ก็ยังมีกิเลสอยู่ เช่นแผ่นหายากมากๆ หรือไปเจอแผ่นหายาก แล้วสามารถหามาให้ลูกค้าที่รอคอยมานาน นั่นก็ทำให้มีความสุขเช่นกัน ตอนไปหาของ จึงเหมือนเราไปหาสมบัติ พอเจอของก็เหมือนเราเจอสมบัติ มีค่ามากบ้างน้อยบ้างแตกตางกันไป"

"ความสุขที่สอง คือตอนรับเงิน แต่ความสุขอย่างหลัง ลดน้อยลงพอสมควรในระยะนี้... " เจ้าตัวถือโอกาสเว้นวรรค ด้วยการไม่พูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นเงาทะมึนอยู่ในเวลานี้.
บริการเรื่องเพลงไม่จำกัด

อาชีพ : ธุรกิจค้าปลีกซีดีเพลงมือสอง
ที่เลที่ตั้ง : ร้าน JAMZ ชั้น 2 พหลโยธินเพลส
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-20.00 น. ก่อนไปควรโทร.สอบถามเวลาเปิดเสียก่อน โทร.02-6191037
รายได้ : กำไรสุทธิราว 20 เปอร์เซนต์หลังหักค่าเช่าและค่าใช้จ่ายในร้าน = พออยู่ได้
คำแนะนำสำหรับผู้สนใจ : ต้องมีความรู้เรื่องเพลงพอสมควร นอกจากนี้ เพลงบางแนวเหมือนแฟชั่น จะมียุคสมัยของมัน เวลาผ่านไป 5-6 ปี ตัวที่เคยได้รับความนิยม อาจจะไม่ได้รับความนิยม ทำให้เกิด dead stock ขึ้นได้ผลกระทบจาก Digital Download : อยู่ในธุรกิจมา 11 ปี ยืนยันว่าไม่กระทบมาก เพราะซีดีมือสองเป็นตลาดของนักสะสม

ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น