6.07.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๑๐๓ (ที่สุดขนมเปี๊ยะบางคล้า)















‘ตั้งเซ่งจั้ว’ ที่สุดขนมเปี๊ยะบางคล้า ก่ออาณาจักรเบอร์หนึ่งแปดริ้ว
ระยะเวลามากกว่า 70 ปี ผ่านการสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ถึงวันนี้ ขนมเปี้ยะ “ตั้งเซ่งจั้ว” จากร้านเล็กๆ ในชุมชนบางคล้า ก้าวขึ้นสู่แบรนด์ของฝากอันดับต้นๆ ประจำเมืองแปดริ้ว พร้อมกับมีส่วนสำคัญ ผลักดันชื่อขนมเปี๊ยะบางคล้าเป็นที่รู้จักระดับประเทศ องค์ประกอบแห่งความสำเร็จที่ได้มา ลำพังแค่รสชาติความอร่อยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเติมเต็มธุรกิจหลายๆ ด้าน ทั้งพัฒนามาตรฐานการผลิต บรรจุภัณฑ์ แผนการตลาด และเปลี่ยนตำแหน่งสินค้า จากขนมใช้ในเทศกาลสู่ของฝากประจำถิ่น ทั้งหมดประกอบกันช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในฐานะเบอร์หนึ่งแห่งขนมเปี้ยะบางคล้า

ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮก แอนด์ ซันส์ จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ดูแลธุรกิจร้านขนมเปี๊ยะ “ตั้งเซ่งจั้ว” เล่าให้ฟังว่า ผู้บุกเบิกธุรกิจ คือ อากง (ฮก แซ่ตั้ง) ของเขา ซึ่งอพยพหนีความแล้งแค้นมาจากเมืองเหยี่ยวเพ้ง ใกล้กับเมืองซัวเถา ประเทศจีน โดยพกพาฝีมือทำขนมเปี๊ยะมาเปิดร้านอยู่ที่ตลาดบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2475 หรือ 76 ปีที่แล้ว

เส้นทางอาชีพหลังจากนั้น ฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ จากรุ่นอากง สู่ทายาทรุ่นที่ 2 ค่อยๆ สะสมความสำเร็จ ต่อยอดให้ธุรกิจเข้าขั้นมั่นคง ประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างสูง สร้างชื่อให้ขนมเปี๊ยะจากบางคล้า เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
kkkk
อย่างไรก็ตาม ในแง่สร้างแบรนด์ร้านเป็นที่จดจำแล้วยังนับว่าห่างไกลความสำเร็จ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักกันแค่ในนามขนมเปี๊ยะบางคล้า ไม่ใช่ในชื่อ “ตั้งเซ่งจั้ว” และยิ่งนานวัน คู่แข่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกร้านล้วนแต่ใช้ชื่อว่า ขนมเปี๊ยะบางคล้าทั้งหมด ในที่สุดเกิดปัญหาขายตัดราคากันเอง ทายาทรุ่น 3 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” พยายามจะเป็นผู้นำตลาดเสมอมา แต่ไม่ว่าจะบุกเบิกแนวทางใหม่ใดๆ ก็ตาม หนีไม่พ้นมีผู้ผลิตรายอื่นมาแข่งขันด้วยรูปแบบใกล้เคียงกัน

ปมดังกล่าวนำมาสู่การพลิกโฉมธุรกิจครั้งสำคัญที่สุด ในช่วงปลายยุครุ่น 2 ต่อสู่ทายาทรุ่น 3 โดยเปลี่ยนจุดยืนสินค้าจากขนมที่มักใช้เฉพาะเทศกาลของชาวจีน อย่างตรุษจีน และปีใหม่ มาเป็นขนมของฝากที่ขายได้ตลอดทั้งปี

“จากที่พวกเราคุยกันในครอบครัว ได้ข้อสรุปว่า ต้องเปิดเป็นร้านของฝากอยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งเป็นร้านที่ลูกค้าเข้ามาแล้วประทับใจ ไม่ใช่ซื้อของแล้วกลับ แต่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของแปดริ้ว สำหรับแวะพักผ่อน คลายเมื่อยล้าจากการเดินทาง หรือแวะมาถ่ายรูป สร้างความทรงจำให้ลูกค้า แม้ว่าลูกค้าอาจจะจำชื่อร้านไม่ได้ แต่ก็จำได้ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยมาที่นี่” เริ่มแรกวางงบก่อสร้างไว้เพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อลงมือจริง เพื่อให้ได้ร้านสมบูรณ์แบบตามจินตนาการไว้ เบ็ดเสร็จลงทุนกว่า 24 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าสิ่งปลูกสร้าง 18 ล้านบาท กับค่าที่ดินอีก 6 ล้านบาท ใช้ระยะก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2545 พื้นที่รวม 4 ไร่ ตั้งอยู่ติดริมถนนใหญ่เส้นทางสู่อำเภอพนมสารคาม ให้ชื่อว่า สาขาเก๋งจีน

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำใหญ่อย่างนี้ แต่หลังจากพูดคุยในครอบครัว ถ้าทำเล็ก เราก็หนีคู่แข่งไม่พ้นอีก แบรนด์ก็ไม่แข็งแรงด้วย ดังนั้น ตัดสินใจเลือกจะทำให้ครบและใหญ่ เพื่อให้สาขานี้ เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ ให้ลูกค้ารู้ว่า เราเป็นตัวจริงของคนทำขนมเปี๊ยะบางคล้า อีกทั้ง อาคารแห่งนี้ยังเป็นตัวแทนเก็บความทรงจำ และความภูมิใจของสมาชิกครอบครัว ให้ตระหนักรากเหง้าของเราว่า เป็นครอบครัวทำขนมเปี๊ยะ” จากแนวคิดดังกล่าว ในพื้นที่กว่า 4 ไร่ของร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” สาขาเก๋งจีน เปรียบเหมือนอาณาจักรแห่งขนมเปี๊ยะบางคล้า นอกจากสินค้าที่มีให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังประกอบไปด้วยมุมนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของร้าน อีกทั้ง บริเวณนั่งผ่อนคลายอารมณ์ และห้องขายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น

อีกจุดที่โดดเด่นอย่างยิ่ง คือ เคาน์เตอร์ขายสินค้าจำลองเป็นร้านต้นตำรับในชุมชนบางคล้า ขณะที่ตัวอาคารก่อสร้างเป็นเก๋งจีนสไตล์ประยุกต์ ทั้งสง่า และสวยงาม ถึงขั้นคว้ารางวัล ผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นแห่งประเทศไทย ประเภทอาคารรวมกิจกรรมพาณิชยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประจำปี 2547 มาแล้ว

นอกจากนั้น เสริมความน่าสนใจผ่านบรรจุภัณฑ์สวยงาม อีกทั้ง ทำสินค้าที่ระลึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด ตุ๊กตา พวงกุญแจ ชุดน้ำชา ฯลฯ แม้กระทั่ง หนังสือการ์ตูนเล่าเรื่องราวของร้าน วาดโดยหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ซึ่งสินค้าที่ระลึกเหล่านี้ ด้านยอดขาย ล้วนขาดทุนทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ได้ทดแทน คือ ตอกย้ำแบรนด์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ทายาทรุ่น 3 เผยว่า การลงทุนสาขา “เก๋งจีน” ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูง ส่งให้ยอดขายเพิ่มจากเดิม 2-3 เท่าตัว รวมถึง เปิดตลาดสู่ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวสำเร็จ ทั้งกลุ่มทัวร์ และผู้เดินทางมาไหว้หลวงพ่อโสธรช่วงสุดสัปดาห์จะแวะมาซื้อขนมเปี๊ยะกลับไปเป็นของฝาก และสำคัญที่สุด ช่วยสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ยกระดับจากแบรนด์ระดับอำเภอสู่ระดับประเทศ

ปัจจุบัน ร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” มีสาขารวม 6 แห่ง กระจายอยู่ในตัวเมืองแปดริ้ว ส่วนผลิตภัณฑ์มีกว่า 30 ชนิด เน้นขนมจีนโบราณผ่านการประยุกต์รูปแบบให้ทันสมัย ภายใต้บรรจุภัณฑ์มาตรฐานสากล ราคาเฉลี่ย ตั้งแต่กล่องละ 50-200 กว่าบาท กลุ่มลูกค้า แบ่งเป็นนักท่องเที่ยว 60% และ 40% เป็นคนท้องถิ่น นอกจากนั้น มีช่องทางตลาดส่งเข้าร้านโกลเด้นเพลสทุกสาขาอีกด้วย

ในฐานะผู้ดูแลธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ปิยะพร ระบุภารกิจสำคัญ อันดับแรกมุ่งรักษาคุณภาพรสชาติให้เหมือนต้นตำรับ เตือนตัวเองเสมอว่า แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะเลิศหรูเพียงใด แต่สุดท้ายแล้ว ความอร่อยที่ลูกค้าสัมผัสได้ จะเป็นเครื่องตัดสินความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจ นอกจากนั้น เป้าหมายระยะสั้น อยากพัฒนาการผลิต ให้โรงงานก้าวสู่มาตรฐานระดับโลก ทั้ง GMP และ HACCP ส่วนเป้าหมายระยะยาว จะขยายตลาดให้กว้างขึ้น ทั้งในหรือต่างประเทศ

“ผมจะคิดเสมอว่า ยิ่งธุรกิจเป็นที่รู้จักมากเท่าใด ความคาดหวังของผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้น จะต้องรักษาคุณภาพ และสายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าที่เคยกินขนมของเรามาตั้งแต่รุ่นอากง มาถึงรุ่นพ่อและอาๆ ให้ยั่งยืนต่อไป และส่งต่อสายสัมพันธ์เหล่านี้ไปสู่รุ่นลูกๆ ของผมต่อไป”
jjjjj

kkkk
จุดเริ่มต้นร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว”
จากการถ่ายทอดของ “ปิยะพร ตันคงคารัตน์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮก แอนด์ ซันส์ จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ดูแลธุรกิจร้านขนมเปี๊ยะ “ตั้งเซ่งจั้ว” เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2475 หรือ 76 ปีที่แล้ว อากง (ฮก แซ่ตั้ง) อพยพหนีความแล้งแค้นมาจากเมืองเหยี่ยวเพ้ง ใกล้กับเมืองซัวเถา ประเทศจีน

นอกจากเสื่อผืนหมอกใบแล้ว อากงยังพกพาฝืมือทำขนมเปี๊ยะตั้งแต่สมัยเป็นลูกจ้างร้านขนมเปี๊ยะมาด้วย เมื่อมาอยู่เมืองไทยได้เปิดร้านอยู่ที่ตลาดบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม เวลานั้น บางคล้าเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ทำมาค้าขายกันแค่ในท้องถิ่น อีกทั้ง มีร้านขายขนมเปี๊ยะอยู่หลายเจ้า กิจการของร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” จึงอยู่ในระดับพอมี พอกิน เลี้ยงดูภรรยา และลูกๆ อีก7 คนได้เท่านั้น

ทว่า จุดเปลี่ยนครั้งแรกที่ส่งให้ธุรกิจของขนมเปี้ยะจากบางคล้ารายนี้ เริ่มลืมตาอ้าปากได้อย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ยุคทายาทรุ่น2 ราว พ.ศ.2518 เมื่อรัฐบาลไทยสร้างถนนเส้น 304 กรุงเทพฯ -อรัญประเทศ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านจากบางคล้าไปสู่ตลาดชายแดนอรัญประเทศได้สะดวก ซึ่งเวลานั้นชาวกัมพูชาอพยพจากปอยเปตมาอยู่จำนวนมาก เกิดตลาดการค้าที่คึกคักอย่างจริง ถือเป็นช่องทางให้ทายาทร้านตั้งเซ่งจั้วเห็นโอกาสบรรทุกขนมเปี๊ยะไปขาย ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าไปในตัว "การเดินทางไปอรัญประเทศในอดีตใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เราจะขนขนมเปี๊ยะจนเต็มรถยนต์เพื่อนำไปขายที่ชายแดนซึ่งขณะนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก พอเราไปถึงเขาก็กรูกันเข้ามาซื้อไม่ถึงชั่วโมงสินค้าก็หมด พ่อของผมก็จะโทรเลขมาว่าให้ผลิตด่วน เพื่อให้พวกเราที่บ้าน รีบทำขนมขึ้นมาทันทีเพื่อให้ทันในรอบหน้าเมื่อคุณพ่อมาถึง" ทายาทรุ่น 3 เผย

ปิยะพร เสริมต่อว่า การไปเปิดตลาดที่ชายแดน ช่วยเพิ่มยอดขายจากเดิมถึง 3 เท่าตัว โดยลูกค้ากว่า 80% เป็นชาวเขมร นอกจากนั้น ยังสร้างชื่อให้ขนมเปี๊ยะจากบางคล้าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่เพียงประสบความสำเร็จในตลาดชายแดนเท่านั้น จากการบุกเบิกของทายาทรุ่นที่ 2 ได้ขยายสาขาใหม่ภายในตัวเมืองแปดริ้ว เสริมให้ยอดขายของร้านดีขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น เมื่อปี 2524 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เดินทางมาบางคล้าและได้ชิมรสชาติขนมเปี๊ยะของร้าน พร้อมมอบ “ตราเชลล์ชวนชิม” การันตีความอร่อย ทำให้แบรนด์ตั้งเซ่งจั้ว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นบ้าง แม้จะไม่ถึงขนาดติดปากเท่ากับขนมเปี๊ยะบางคล้า แต่เมื่อเห็นสัญลักษณ์ “เชลล์ชวนชิม” ก็จะเข้ามาซื้อสินค้าจากร้าน ส่งผลให้ยอดขายสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็วถึงขนาดต้องย้ายโรงงานเดิมที่เป็นห้องแถว 4 ห้องไปสู่ที่ดินผืนใหม่เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เมื่อสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นำมาสู่การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ พร้อมกับลบแนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่า ถ้าของดี และรสชาติอร่อย ก็เพียงพอต่อความสำเร็จ แล้ว

“สมัยรุ่นพ่อของผม (ชวลิต ตันคงคารันต์ – ลูกชายคนโต) และพวกอาเจ๊ก จะเชื่อตามคำสอนขององกงว่า ทำขนมให้อร่อยก็พอแล้ว ทำให้รุ่นพ่อของผม ไม่ค่อยจะให้ความสนใจในเรื่องแบรนด์หรือแพ็กเกจ โดยท่านจะเน้นการผลิต คุณภาพสินค้า และราคาที่ลูกค้ารับได้ ท่านมองว่า ถ้าเราขายขนมแพงก็จะขายยาก พอจะพัฒนาแพ็กเกจ ก็จะมีเสียงค้าน เพราะกลัวต้นทุนที่สูง ที่สำคัญขนมไหว้เจ้าไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างแพ็กเกจให้สวยงาม พอไหว้เสร็จลูกหลานในบ้านก็มากินกันไม่เห็นจะมีใครสนใจเรื่องบรรจุภัณฑ์” “กระทั่ง เริ่มเข้าสู่ยุครุ่น 3 อย่างตัวผม และน้องๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลร้าน ก็มองว่า เวลาซื้อขนมญี่ปุ่นราคา 500 บาท พอแกะแพ็กเกจเหลือแต่ขนม ราคาของขนมยังไม่ถึง 100 บาทเลย แพ็กเกจจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเราอย่างมากมาย" ปิยะพร เผยและเล่าต่อว่า

จุดพลิกผัน ส่งให้สมาชิกครอบครัว “ตั้งเซ่งจั้ว” เห็นในจุดร่วมเดียวกันว่าต้องพัฒนาแพ็กเกจอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อมีลูกค้ารายหนึ่งสั่งขนมเปี๊ยะเพื่อจะไป ใช้ในงานแต่งงานลูกสาว แต่เมื่อเห็นแพ็กเกจของร้าน ลูกค้าถึงกับพูดว่า "ฉันต้องการขนมที่นี่ไปเป็นขนมแต่งงาน แต่พอเห็นแพ็กเกจของคุณไม่ไหวเลย คุณควรจะไปหาคนออกแบบทำแพ็กเกจให้ดีก่อนแล้วจะมาซื้อ" จากคำพูดดังกล่าว ส่งให้ร้านตั้งเซ่งจั้วตระหนักถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ผลตอบรับ หลังมีบรรจุภัณฑ์สวยงาม ประกอบกับผลิตขนมอื่นๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น บัวหิมะ ขนมโก๋ ขนมไหว้พระจันทร์ ฯลฯ ช่วยให้ยอดขายร้านสูงขึ้นไปอีก และสามารถขยายโรงงานจากเดิมที่มีเนื้อที่ 2 ไร่ สู่ 8 ไร่ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

ส่วนการสร้างแบรนด์จนประสบความสำคัญในปัจจุบัน หัวใจสำคัญ คือ เปลี่ยนตำแหน่งสินค้าจากขนมใช้ในเทศกาล มาเป็นขนมของฝากชื่อดังประจำ จ.ฉะเชิงเทรา โดยขายผ่านร้านสาขาเก๋งจีน พร้อมกับตอกย้ำผ่านการสร้างโลโก้ให้ลูกค้าจดจำ โดยรูปโลโก้นี้ มีความหมายสอดคล้องกับชื่อร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” โดยคำว่า “ตั้ง” คือ แซ่ หรือนามสกุลของครอบครัว ส่วนคำว่า “เซ่ง” แปลว่าความสำเร็จ และคำว่า “จั้ว” แปลว่า สายน้ำ เมื่อรวมกัน มีความหมายว่า “สายน้ำแห่งความสำเร็จ “ ดังนั้น โลโก้จึงเป็นรูปคลื่นน้ำหมุนวนไม่รู้จบ มีหมายความถึงสายน้ำแห่งความสำเร็จจะไหลเวียนอยู่ในครอบครัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
hhhh
เพื่อรวบรวมไว้เป็นหนึ่งในสถานที่เพื่อการค้าและการศึกษา เรียนรู้เป็นเยี่ยงอย่าง ของพี่น้องและชาวหัวหินจะได้ทราบและบันทึก เก็บรวบรวมเรื่องราวของบรรพบุรุษ แม้เป็นเรื่องเล็กๆของคนเล็กๆแค่การทำมาหากิน...ใครจะทราบ วันหนึ่งเมื่อกาลเวลาฝ่านไป เรื่องของอากงอาม่าของเรา อาจเป็นเรื่องราวที่เล่าขานได้ไม่รู้จบต่อไป...สวัสดี
อนึ่งสามารถติดต่อเพื่อการทำมาค้าขายร่วมกันต่อไปได้ที่ โทร.038 584 419-20 , 038 541 134
kkkk
ขอบคุณข้อมูลจากwww.manager.co.th
huahinhub Thanks
kkkk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น