6.11.2552

| เชื่อมโยงธุรกิจ ๑๗ (แกะสลักไม้มงคล)





แกะสลักไม้ “เทพธาโร” ปลุกตำนานไม้มงคลสร้างอาชีพ

พะยูน สัญลักษณ์ประจำ จ.ตรัง “ไม้เทพธาโร” หรือที่ท้องถิ่นเรียกว่า “ไม้จวนหอม” หรือ “ตะไคร้ต้น” ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แดนใต้ของไทย ในอดีตจะขึ้นอยู่มากตามป่าดงดิบ ทว่า เมื่อความเจริญรุดเข้ามา ต้นเทพธาโรถูกโค่นทิ้งจำนวนมาก เพื่อใช้พื้นที่ปลูกยางพาราและสร้างบ้านเรือนทดแทน เหลือเพียงตอและรากฝังอยู่ใต้ดิน อย่างไรก็ตาม ด้วยเป็นไม้มงคล มีคุณสมบัติเด่นหลายประการ ชาวบ้านจึงขุดขึ้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน วัตถุมงคล และสินค้าที่ระลึก ช่วยปลุกตำนานไม้โบราณที่ถูกโค่นทิ้งเปล่าประโยชน์ให้กลับมามีค่า อีกทั้ง ยังช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย

เรวัฒน์ ปานทน ประธานกลุ่มเยาวชนต้านยาเสพติด ผลิตภัณฑ์ไม้เทพธาโร ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้เทพธาโร เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่ ต.เขากอบ มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ ถ้ำเลเขากอบ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เดินทางเข้ามาจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมีแนวคิดร่วมกันว่า อยากจะผลิตสินค้าที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

“พวกเราเริ่มจากนำไม้เทพธาโร ซึ่งเป็นไม้ประจำท้องถิ่นมาแกะสลักเป็นพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำจังหวัด ใครมาตรังก็จะนึกถึงพะยูน แต่ตอนนั้น ชาวบ้านไม่มีความรู้ด้านงานแกะสลัก ผลงานแรกๆ รูปร่างไม่สวยเลย แกะพะยูนออกมาเหมือนปลาช่อน แต่ถึงอย่างนั้น นักท่องเที่ยวก็ยังให้การตอบแทนด้วยดี ทำให้อาชีพแปรรูปไม้เทพธาโรเริ่มได้รับความนิยม”

เริ่มต้นกลุ่มมีสมาชิกเพียง 10 คนเท่านั้น ร่วมกันลงขันเป็นทุนประมาณ 40,000 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์แกะสลักและวัตถุไม้ ค่อยๆ ลองผิดลองถูก พัฒนาฝีมือด้วยตัวเอง ประกอบกับภาครัฐ ส่งช่างแกะสลักจากภาคเหนือมาช่วยสอนความรู้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้เทพธาโรแกะสลักมีความสวยงามและหลากหลายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จุดเด่นของไม้เทพธาโร คือ เป็นไม้มงคล ชาวใต้เชื่อว่า หากมีไว้ประจำบ้านจะช่วยให้ร่มเย็น เนื้อไม้สวยงาม เรียบเนียนเหมาะกับการแกะสลัก นอกจากนั้น เนื้อไม้ยังมีกลิ่นหอมช่วยปรับบรรยากาศในบ้านให้สดชื่น รวมถึง กลิ่นของไม้ยังสามารถป้องกันปลวก มอด และยุงได้ด้วย

“การสร้างสรรค์งานของสมาชิกจะปล่อยให้เป็นอิสระตามจินตนาการของแต่ละคน จากตอนแรกเน้นเป็นพะยูน พัฒนาเป็นตัวละครในวรรณคดี ภาชนะแก้ว กาน้ำ ฯลฯ และเนื่องจากเป็นไม้มงคล จึงนิยมนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เทพต่างๆ เพื่อไว้บูชา ซึ่งได้ความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง”

ประธานกลุ่ม เผยว่า วัตถุดิบไม้เทพธาโรปัจจุบันยังหาได้ง่าย ซื้อได้ทั่วไปทางภาคใต้ โดยจะมีผู้ขุดมาขาย ในราคาประมาณ 3-4 พันบาทต่อตัน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ไม้โบราณชนิดนี้ ทุกวันนี้ จึงร่วมกันปลูกไม้เทพธาโรขึ้นใหม่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และยังช่วยเสริมความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ด้วย

ในแง่ของการตลาดนั้น เรวัฒน์ อธิบายว่า ช่องทางการตลาดเกือบทั้งหมดจะขายอยู่ในชุมชน เป็นสินค้าที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงออกงานแสดงสินค้าโอทอป โดยเฉลี่ยจะมีรายได้เข้ากลุ่มประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือน ช่วยสร้างรายได้เสริมให้สมาชิกที่ปัจจุบันมีราว 38 คน เฉลี่ยคนละกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนทีเดียว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม มีกว่าพันแบบ ราคาตั้งแต่ 10 บาท เช่น พวงกุญแจ ที่ห้อยพวงกุญแจ ถึงหลักแสน คือ เจ้าแม่กวนอิม ความสูง 159 ซม. เป็นต้น

จากความละเอียด ประณีต ประกอบกับประวัติความเป็นมาของสินค้าที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจึงได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาวของประเทศถึง 2 สมัยติดต่อกัน

นอกจากจะช่วยสร้างรายได้สมาชิกแล้ว กลุ่มอาชีพรายนี้ ยังมีแนวคิดช่วยเหลือสังคมด้วย โดยกำไรร้อยละ 5 จากรายได้ทั้งหมดจะถูกหักเข้าส่วนกลาง ไว้เป็นทุนจัดกิจกรรม เช่น ฟุตบอล ดนตรี ฝึกอาชีพ ฯลฯ เพื่อให้เยาวชนในตำบลมีกิจกรรมทำไม่หันไปพึ่งพายาเสพติด

เรวัฒน์ เผยว่า ใน ต.เขากอบ มีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าแปรรูปแกะสลักไม้เทพธาโร อยู่ทั้งหมด 4 กลุ่ม แต่ไม่มีปัญหาแย่งลูกค้ากัน เนื่องจากแต่ละกลุ่ม สินค้าจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง อีกทั้ง ยังจับมือเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น สั่งทำบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุน หรือกระจายงานในกรณีมีคำสั่งซื้อจำนวนมากๆ เข้ามา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาธุรกิจที่แท้จริง สืบเนื่องจากสินค้าผูกติดกับการท่องเที่ยวในชุมชนเป็นสำคัญ เมื่อสภาพเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยรวมถดถอย ย่อมกระทบกับสินค้าที่ระลึกไปด้วย ดังนั้น ทางออก จึงเน้นที่การพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อหวังขยายโอกาสหาตลาดใหม่ๆ ในอนาคต และหากชาวหัวหิน สนใจ หรือมองเห็นโอกาส ในการต่อยอดธุรกิจนี้ ก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร.081-895-0832 , 075-500-032....ทำมาหากิน กันนะ...สวัสดี
o
ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์
huahinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น