6.08.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๙๐ (กุ๊กกิ๊ก ช่วยชุมชน)









มาลัย สัญกาย หรือ กุ้ง รับผิดชอบดูแลภาพรวมของสินค้าเหล่านี้ทั้งหมด หากยังนำผลกำไรที่ได้ไปช่วยเหลือชุมชน ทำให้คนซื้อได้ทั้งบุญและของแต่งบ้าน หน้าตากิ๊บเก๋ไปอวดเพื่อนฝูง
o
ผ่านมาแล้ว 5 ปีกับสินค้าแบรนด์
Comunista ของชุมชนคนรักษ์ป่า จ. เชียงใหม่ ที่เตะตาต้องใจผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านด้วยสีสันสดใสสไตล์น่ารักกุ๊กกิ๊กของสินค้าแต่ละชิ้น และทั้งหมดนี้ทำขึ้นมาเพื่อหารายได้เป็นกองทุนสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนและเพื่อชาวบ้าน โดย มาลัย สัญกาย หรือ กุ้ง รับผิดชอบดูแลภาพรวมของสินค้าเหล่านี้ทั้งหมด
o
กุ้งเป็นสาวหนองคายที่ผันตัวเองมาอยู่
เชียงใหม่ได้ 10 ปีแล้วหลังเรียนจบด้านสื่อสารมวลชนจาก ม.ราม และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในชุมชนคนรักษ์ป่าได้ 6 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการดูแลกิจกรรมพิเศษของชุมชนที่มักจะมีปัญหาขาดแคลนเงินทุนในการทำกิจกกรรมก็เลยเกิดไอเดียอยากหาทุนเอง โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรเจ็คขอทุนทุกปี แล้วมาลงเอยที่การผลิตสินค้าออกมาขาย
o
"แต่ก่อนนี้เวลาเราขายสินค้ากัน ก็จะเป็นการรับเอาสินค้าของชาวบ้านมาขาย แต่ความจริงแล้วมันจมทุนกว่าจะขายของได้ แล้วมันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้คือ 'การพึ่งตนเอง' พอคิดจะขายของก็คิดว่า จะต้องเป็นสินค้าที่คนเห็นแล้วอยากจะซื้อ ไม่ใช่สมัยก่อนที่ 'ช่วยซื้อหน่อยเถอะ' เราเริ่มจากทำยังไงก็ได้ให้คนซื้อ เห็นแล้วชอบ อยากได้แล้วยังมีเรื่องราวดีๆ รองรับ ไม่ใช่สนองกิเลสส่วนตัวอย่างเดียว แต่ยังได้ทำประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย"
o
กลุ่มเป้าหมายที่เธอตั้งใจไว้คือ กลุ่มคนมีเงินด้วยแนวคิดที่กุ้งบอกว่า "เราวางไว้ว่า ถ้าจะขายเอาสตางค์ เราก็ต้องขายคนมีสตางค์ เราจึงไม่ได้เริ่มขายจากงานโอทอป แต่เริ่มจากงานที่ถนนนิมมานเหมินทร์ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2548 ซึ่งก็ดูน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเรา ลองเสี่ยงเอา เราก็ขายสิ่งที่เราพอใจกับมัน แล้วดูว่าลูกค้าจะชอบสิ่งที่เราทำมั้ย"
o
หลังจากนั้นตามมาด้วยการออกงานปีละ 4 ครั้ง แต่ครั้งที่ประสบความสำเร็จและทำให้ได้รู้ว่า ลูกค้าชอบงานของเธอจริงๆ คือ งาน ELLE DECOR เมื่อ 3 ปีที่แล้ว "ขายได้วันแรก 2 หมื่นดีใจมาก ปกติตั้งหลายเดือนกว่าจะได้เงินเท่านี้" ทำมาครบ 3 ปี เพิ่งจะได้ทุนคืนจากที่ลงทุนไป 1 แสนบาท ถึงตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 5 มียอดต่อเดือนเท่าไหร่ไม่รู้ แต่มีเงินเก็บเข้าองค์กรปีละแสนกว่าบาท รวม 2 ปีที่ได้กำไรมีเงินเก็บอยู่ 2 แสนกว่าบาท ซึ่งอาจจะฟังดูจุ๋มจิ๋มสำหรับนักธุรกิจจริงๆ แต่เจ้าตัวภูมิใจมากที่ธุรกิจดำเนินมาถึงตรงนี้ได้
o
หญิงสาวย้อนอดีตให้ฟังถึงสินค้าที่ทำออกมาขายเป็นชิ้นแรกก็คือ ตุ๊กตาควายขนาดยักษ์ "เริ่มจากสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารู้สึกดีกับมัน พอเราคิดจะทำของขายก็เอาตุ๊กตาควายแล้วกัน เพราะเราทำใช้เองที่บ้าน เวลามีคนมาหาก็ชอบถามว่าซื้อที่ไหน เขาก็จะบอกว่าให้ลองทำขายสิ แบบนี้ขายได้นะ ก็เริ่มมาจากตรงนั้น แต่พอทำออกมาก็พบว่ามันใหญ่ไป แพงไป ต้นทุนเยอะไป ก็เลยเอามาทำให้ไซส์เล็กลงทำพวกกุญแจ ทำกระเป๋าแบบที่เราชอบออกมาขายเพิ่ม"
o
ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ก็ผสมระหว่าผ้าพื้นเมือง ผ้าสีสดใส และผ้าชาวบ้านบนดอยที่เธอชื่นชอบ แล้วนำมาสร้างแพทเทิร์นใหม่ ใส่เรื่องราวของคนในเมือง แตกไลน์ออกไปเรื่อย "แต่เราก็มีคอนเสปท์ของสินค้านะ คือ สิ่งที่เราคิดออกมาก็จริง แต่เราใช้เทคนิกชาวบ้านชาวเขา เราไม่ได้คิดใหม่ เพียงแต่เอามาผสมให้ลงตัว อย่างการด้น สอยมือ มันก็เป็นเทคนิกบ้านๆ อยู่แล้ว เราแค่เอางานของชุมชนมาทำให้ดูลงตัวขึ้น ดูทันสมัยขึ้น
เราไม่มีแนวคิดที่จะไปสอนชาวบ้านทำ เพราะมันช้าและไม่ได้ผล แต่เราเอาช่างเย็บที่เย็บผ้าเป็นอยู่แล้ว แล้วเราก็ออกแบบแพทเทิร์นไปให้มันลงตัว หรืออย่างคนที่ถักโคร์เชต์เป็น เราก็เอาลายเราไปให้เขาทำ โดยเราจะจะเลือกวัสดุอุปกรณ์ไปให้เขาหมด อย่างกระเป๋า 1 ใบ เราจะเลือกกระดุม ผ้าซับใน สีด้าย ผ้ากระเป๋าไปให้เขาเย็บ แล้วก็เราจะดูภาพรวมทั้งหมด"
o
มีบางครั้งเหมือนกันที่ต้องทำเองบางชิ้น "ถ้าเป็นกระเป๋าทำมือทั้งใบ อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจต้องทำให้เขาดู แล้วอธิบายให้เขาฟัง แต่เราก็ไม่ต้องทำเองทุกอย่าง เพราะเราก็ทำได้บางอย่างเท่านั้น" ฟังดูแล้วอาชีพขอเธอก็นักออกแบบดีๆ นี่เอง แต่เจ้าตัวยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่ 'ดีไซเนอร์' แน่ๆ "คำว่าออกแบบของเราจะไม่เหมือนของดีไซเนอร์นะ เพราะฉันไม่ใช่ดีไซเนอร์ไง โอเคว่าเราเป็นคนคิดออกมา แต่ก็มีน้องที่เรียนจบด้านวิจิตรศิลป์ช่วยทำ เรารู้สึกว่าไม่บังอาจเป็นดีไซเนอร์ (หัวเราะ) เราไม่ได้เรียนมา ไม่มีสมุดสเก็ตซ์งานอะไรอย่างงั้นนะ มีแต่สมุดจดที่ฉันอ่านรู้เรื่องอยู่คนเดียว (หัวเราะ) แล้วก็ทำมือออกมาเลย"
o
สุดท้ายคือ พึ่งตนเอง
อาจจะดูเหมือนกิจการใหญ่โตออกร้านมากมาย แต่จริงๆ มีคนทำอยู่ 5 คนทั้งสำนักงาน โดยกุ้งรับหน้าที่ดูภาพรวมของสินค้าทั้งหมด นอกนั้นก็แบ่งหน้าที่กันไป แต่เน้นหนักที่จำนวนช่างมีอยู่มากถึง 30 คน กระจายอยู่ทุกที่ทั้งแม่ริม ดอยสะเก็ด สันกำแพง ชุมชนวัดอุดมงค์ และชุมชมโป่งน้อยในเมือง
o
"ที่เรารู้ว่าช่างอยู่ตรงไหน เพราะเป็นต้นทุนเดิม เรารู้ว่าหมู่บ้านนี้รับเย็บผ้า หมู่บ้านนี้มีช่างทำที่นอน เราก็ลองเอาไปให้เขาทำของใช้ที่บ้าน ที่บ้านเราจะมีของทำเองอยู่อย่างผ้าม่าน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน กระเป๋า เสื้อผ้าแบบที่เราชอบ เราก็หาช่างมาตัด มันเป็นตัวเราอยู่แล้ว เป็นประสบการร์ของเรา ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร"
o
ส่วนผลงานที่ออกมาแต่ละชิ้นนั้น ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางการตลาดใดๆ เหมือนที่เธอบอกว่า "ไม่ได้มีแนวคิดทางการตลาดที่ซับซ้อนอะไร เอาความชอบของเราเป็นที่ตั้ง อย่างเราชอบงานอินเดีย ผ้าห่มด้นมือทั้งผืนเราก็เอามาดัดแปลงใช้ อะไรที่เราชอบ เราก็ว่ามันน่าจะขายได้นะ น่าจะมีคนอารมณ์เดียวกับเรา งานที่เราไม่ชอบ ทำออกมาแล้วไม่ต้องใจ ตรงใจเรา เราก็ไม่ขาย"
o
ทุกวันนี้ออฟฟิศของกุ้งจึงอยู่ที่ตลาด อยู่บ้านช่าง อยู่บ้านตัวเอง แต่ก็แบ่งเวลาเข้าสำนักงานออฟฟิศบ้าง เพราะกว่าจะได้ของออกมาแต่ละชิ้น ต้องแจกจ่ายตามบ้านช่าง "กว่าจะได้กระเป๋าใบนึง เย็บที่ดอยสะเก็ด ตกแต่งที่สันกำแพง ต้องไปหลายที่ ไม่ได้จบที่ช่างคนเดียว" ไอเดียในการทำงานส่วนใหญ่จึงมาจากการไปนู่นมานี่ เห็นอะไรก็จดเอาไว้หรือนำมาดัดแปลงให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบ
o
และทั้งหมดที่ทำมานี้ เธอบอกว่า ความสำเร็จไม่ได้มาจากตัวเองคนเดียว แต่มาจากองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทำ "ตอนนี้เราก็เป็นลูกจ้างรับเงินเดือนขององค์กรอยู่ ก็ยังคงตามวัตถุประสงค์เดิมที่ตั้งใจไว้คือ อยากมีเงินทุนเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงานในองค์กรได้ จ่ายค่าจัดการของสำนักงานได้ มีเงินเหลือโดยไม่ต้องเขียนโครงการขอทุน มีกองทุนที่จะนำไปทำกิจกรรมกับชาวบัานได้ และที่สำคัญคือ พึ่งตนเองได้"
o
อาจฟังดูเป็นการทำธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพาทฤษฎีใด หากเป็นธุรกิจที่ทำแล้วสุขใจ เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียวแต่ทำเพื่อคนรอบข้างด้วย หรือชาวหัวหิน ว่าไง...
o
ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล
huahinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น