6.08.2552

| กระตุ้นความคิด ด้วยไอเดีย ๑๐๖ (Amphawa Brand)


ooo
โครงการพัฒนา “Amphawa Brand” โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด คือบทพิสูจน์ของพลังความร่วมมืออันลงตัวระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถดึงพ่อค้าแม่ขายรายเล็กๆ ในย่านตลาดน้ำอัมพวา สมุทรสงคราม ให้เข้าร่วมโครงการวิจัยพัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญาเก่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างแบรนด์จนติดลมบนได้สำเร็จ
ooo
บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ สสว. เปิดม่านโครงการคอนเซ็ปท์เก๋ กับสารพัดขนมไทยในอำเภออัมพวาที่นำมาออกแบบ-ปรุงแต่ง-พัฒนาใหม่ให้กลายเป็น “นวัตกรรมขนมไทย” ผลักดันอัมพวาเป็นชุมชนอุตสาหกรรมขนมต้นแบบของประเทศ
o
เริ่มจากการที่บริษัทได้เข้าไปฝังตัวในชุมชนเพื่อค้นหาผู้ประกอบการและสินค้าที่มีศักยภาพในทางใดทางหนึ่ง จากนั้นจึงขอความร่วมมือจากผู้ชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เข้าศึกษาวิจัยและ ต่อยอดสินค้าเหล่านั้นออกไป โดยในรายที่ตัวสินค้ายังมีจุดอ่อนก็พัฒนาปรับปรุงใหม่ให้ลงตัวมากขึ้น ส่วนในรายที่บรรจุภัณฑ์ไม่เข้าท่าก็จัดหาทีมนักออกแบบเข้าช่วยสร้างบุคลิก หานักการตลาดช่วยทำแบรนดิ้ง ติดอาวุธครบจนสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคสมัยใหม่ได้สำเร็จ
o
ทางเจ้าของโครงการยอมรับว่ากระบวนการปฏิวัติขนมไทยข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยความอดทน ใช้เวลาบ่มเพาะ และต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่ในท้ายที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปได้สองสามปี นวัตกรรมสร้างสรรค์ขนมไทย (ผลลัพธ์ของแนวคิดการออกแบบและเทคโนโลยีระดับง่ายๆ) ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว โดยตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดก็มีอาทิเช่น

1. ข้าวแต๋นลุงแว่น จากข้าวแต๋นราดน้ำอ้อยธรรมดาๆ ของ “ลุงแว่น” ศุภชาติ เจียมศิวานนท์ ที่แต่ก่อนพอขายได้ด้วยรสชาติ อันที่จริงก็มิได้มีเอกลักษณ์ต่างจากผู้ค้ารายอื่น ซ้ำกระบวนการผลิตยังลอกเลียนแบบได้ง่าย ลุงแว่นได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมพัฒนาสินค้ากับโครงการ Amphawa Brand เพื่อยกระดับข้าวแต๋นของตนให้กลายเป็น “ขนมไทยไม่ธรรมดา” เริ่มจากปรับสูตรการผลิตให้ไม่มีกลิ่นน้ำมัน รูปร่างไม่โค้งงอ พร้อมแตกไลน์ความอร่อยแบบ “ไฮ-วาไรตี้” มีสารพัดหน้าสารพัดรส ไล่เรียงตั้งแต่หน้าธัญพืช หน้ากระเทียม หน้างา หน้าถั่วเหลือง หน้ามะพร้าว หน้าเมล็ดแตงโม หน้าหมูหยอง หน้าปลาหมึก หน้าช็อคโกแลต ฯลฯ โดยมีข้าวแต๋น “รสเอกซ์ตร้าคาราเมล” ที่ราดหน้าด้วยน้ำตาลมะพร้าวเหนียวเข้มเต็มแผ่นเป็นพระเอกที่ขายดีที่สุดตอนนี้
o
นอกจากจะพัฒนาตัวสินค้าให้แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ได้แล้ว ลุงแว่นยังได้รับความช่วยเหลือจากโครงการให้สร้างแบรนด์ควบคู่ไปด้วย ทีมนักออกแบบเล็งเห็นว่าตัวลุงแว่นเองมีบุคลิกพิเศษจดจำง่าย คล้าย “ชาร์ลี แชปลิน” จึงประยุกต์จุดเด่นดังกล่าวมาออกแบบเป็นโลโก้สินค้า สร้างเป็นกระแส “ข้าวแต๋นลุงแว่นฟีเวอร์” ขึ้นมา ซึ่งตัวลุงเองก็คงแฮปปี้กับกลยุทธ์ดังกล่าว เพราะจากเดิมที่เคยขายได้อาทิตย์ละหมื่นต้นๆ ตอนนี้ลุงแว่นขายข้าวแต๋นได้วันละกว่า 2 หมื่นบาททีเดียว
o
ปัจจุบันข้าวแต๋นลุงแว่นกลายเป็น “สินค้าอัมพวา” (Local brand) ที่ใครๆ ก็ต้องซื้อฝากกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะตัวลุงเองทำการตลาดได้สนุกสนาน เน้นมิตรภาพและความเป็นท้องถิ่นสไตล์บลูโอเชี่ยน เวลามีเรือท่องเที่ยวผ่านหน้าร้าน ลุงแกก็จะแจกข้าวแต๋นลงไปให้ชิมกันทั่วหน้า พร้อมกับส่งเสียงร้องโฆษณาสุดคลาสสิค “ไม่แข็ง ไม่ขม ไม่อมน้ำมัน กรอบนุ่ม กรอบนาน ทานอร่อย แวะชิมกันได้นะคร้าบบ” เป็นเสน่ห์แบบไทยๆ ที่ผูกใจนักท่องเที่ยวได้แน่นนัก

2. ไอศกรีมดอกไม้ไทย โดยบริษัทไอศกรีม วันมอร์ จำกัด ลูกหลานอัมพวาอีกรายที่พัฒนา “ดอกไม้ไทยในอัมพวา” ให้เป็นนวัตกรรมไอศกรีมเพื่อสุขภาพ (มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชรา ต้านโรคความจำเสื่อม-มะเร็ง) แนวทางสร้างแบรนด์ของ SME รายนี้เริ่มจากการส่งสินค้าเข้าประกวดกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนกระทั่ง “น้ำดอกดาหลาอัมพวา” หนึ่งในกลุ่ม Flower Drinks ซึ่งเป็นไลน์สินค้าแรกเริ่ม ได้รับรางวัล Popular Vote ในปี 2008 การันตีความนิยมชมชอบจากผู้บริโภคจนขายดีสร้างรายได้ให้แม่ค้าได้มากขึ้นถึง 5 เท่า
o
ภายหลังจึงได้ต่อยอดงานวิจัยมาเป็น “ไอศกรีมดอกไม้” ในวันนี้ กระบวนการวิจัยพัฒนาขั้นต้นได้ทดลองทำไอศกรีมดอกไม้ขึ้นถึง 15 รสชาติ จากนั้นนำไปสำรวจความพึงพอใจกับผู้บริโภค 300 ราย ปรับเป็นสูตรไอศกรีมยอดนิยม 5 ชนิด ออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ไอศกรีมวันมอร์” (One More) อันได้แก่ รสดาหลาไวน์ที่สกัดจากดอกดาหลา (มีสารต้านอนุมูลอิสระ 84.72%) รสเข็มสตรอเบอรี่เชอเบทจากดอกเข็ม (มีสารต้านอนุมูลอิสระ 83.97%) รสกุหลาบนมจากดอกกุหลาบมอญ (มีสารต้านอนุมูลอิสระ 82.67%) รสบัวนมจากเกสรดอกบัว (มีสารต้านอนุมูลอิสระ 73.23%) และรสอัญชันมะพร้าวอ่อนจากดอกอัญชัน (มีสารต้านอนุมูลอิสระ 26.33%)
o
ดร.อัจฉรา แก้วน้อย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยนี้ให้ความเห็นว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของอัมพวาได้ สามารถใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดสร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ ((Differentiation & Innovation) ได้เป็นอย่างดี
o
ในวันนี้หากใครสนใจอยากลองชิมรส “ไอศกรีมดอกไม้อัมพวาเพื่อสุขภาพ” นี้ คงต้องขอเชิญไปเที่ยวเมืองอัมพวากัน เพราะผู้ประกอบการวางแผนดันสินค้าเข้าร้านของชุมชนเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจาก “ร้านกำปั่น” ซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดี ส่วนในอนาคตอาจขยายรูปแบบร้านให้เป็นเหมือนไอศกรีมสเวนเซ่นส์ แต่ขายเฉพาะไอศกรีมดอกไม้ไทย
o
“ถ้าอยากทานไอศกรีมฝรั่ง คุณไปหาที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นไอศกรีมดอกไม้ไทย ต้องมาที่อัมพวาเท่านั้น” …คือคำกล่าวทิ้งท้ายจากผู้ประกอบการที่ภูมิใจจะต่อยอดธุรกิจให้เป็นหนึ่งใน Amphawa Brand เช่นกัน
o
จับประเด็น:
1. สินค้าธรรมดาๆ ของแต่ละท้องถิ่น ถ้ารู้จักพลิกแพลง-สร้างสรรค์แบรนด์ในสไตล์ Blue Ocean ก็สามารถกลายเป็นของ “ไม่ธรรมดา” ในความรู้สึกของผุู้บริโภคได้
2. ในกระบวนการสร้างนวัตกรรม การจับมือร่วมวิจัยพัฒนากับภาครัฐหรือภาคการศึกษา สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นในเชิงการตลาด
o
huahinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น