6.11.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๑๐๕ (ลมหายใจที่รวยริน ของเพลงลูกกรุง)





ลมหายใจที่รวยรินของ "ลูกกรุง"

ในขณะที่แนวเพลงของบ้านเรา ทั้งในส่วนที่เป็นลูกทุ่ง เพื่อชีวิต หรือแม้กระทั่งไทยเดิมต่างก็มีการปรับ เปลี่ยน กระทั่งมี "ที่ยืน" ที่ค่อนข้างจะแข็งแรง และมองเห็นว่ายังมีอนาคต ทว่ากับบทเพลง "ลูกกรุง" ล่ะ? มีใครเคยตั้งคำถามบ้างมั้ยว่า อนาคตของมันจะเป็นเช่นไร? หากในเมื่อ ณ ปัจจุบันเราแทบจะไม่เคยมีนักร้องหน้าใหม่ที่อยู่ในแขนงเพลงสายนี้ออกมาเลย เช่นเดียวกับครูเพลงเองก็ดูเหมือนว่าจะหยุดการทำงานของตนเองไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

๐ สุเทพ วงศ์กำแหง
“ในฐานะที่ผมเป็นนักร้อง ผมคิดว่าสถานะของเพลงลูกกรุงไม่ค่อยดีนัก เพราะขาดสื่อที่จะต่อยอดให้แก่เพลงเหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครูเพลงรู้สึกท้อถอย ไม่กระตือรือร้นที่จะแต่งเพลงไว้ขายนายทุน ถึงแต่งไว้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาซื้อเพลงเหล่านี้ไปผลิตขาย” คำบอกเล่าจาก "สุเทพ วงศ์กำแหง"
o
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงภาวะลมหายใจของเพลงลูกกรุงที่วันนี้ต้องบอกว่ารวยรินร่อแร่เต็มที ด้วยความแน่นิ่ง ซบเซา มีคนร้อง-คนฟังอยู่ในวงแคบๆ และจำกัดในเรื่องของพื้นที่การแสดง-ขาย ในยุคที่ตลาดเพลงลูกกรุงขาดพื้นที่หายใจครูเพลงหลายคนหยุดประพันธ์เพลงไปแล้ว ครูเพลงบางคนยังเขียนเพลงอยู่บ้างแต่โอกาสที่เพลงเหล่านี้จะผ่านแทรกไปถึงหูคนฟัง ยากเย็นแสนเข็ญเต็มที
o
“น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน แต่หัวใจอ่อนๆ ของเธอทำด้วยอะไร ช่างไม่สะทกสะท้านเหมือนนหัวใจช่างไม่หวั่นไหว ว่าใครเขารัก เขารอ
o
- คำคมเหล่านี้มันฝังลึกลงไปในหัวใจของผู้ฟังเพลงจนจดจำคำเหล่านี้ได้ตลอดกาล" "อย่าเยาะเย้ยฉันแล้วคงสักวันเธอจะร้องไห้ วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย แล้วจะเจ็บใจโทษใครเล่าเธอ
– ถ้อยคำถูกกลั่นกรองออกมาอย่างไพเราะ สัมผัสได้อย่างงดงามบ่งบอกถึงความสามารถพิเศษของผู้ประพันธ์ที่มีความรอบรู้ และชัดเจนในภาษาไทย สามารถหยิบเอามาใช้ได้อย่างมหัศจรรย์“ สุเทพ กล่าวยกตัวอย่างเนื้อหาของบทเพลง 'รอ' (คำร้อง – ทำนอง สุรพล โทณะวณิก) และเพลง 'เท่านี้ก็ตรม' (คำร้อง - ชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน) ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของบทเพลงลูกกรุง ขณะที่ครูเพลงชื่อดัง "ชาลี อินทรวิจิตร" อธิบายเพิ่มเติมในคุณค่าของเพลงลูกกรุงว่า...
o
"เรื่องสถานภาพของเพลงลูกกรุงในทุกวันนี้ผมถือว่ามันเป็นตามกาล การที่เพลงไทยลูกกรุงผ่านกาลเวลามาถึง 50 ปียังไม่ลบเลือน มีการถ่ายทอดสืบสานกันมาเรื่อย ก็แสดงให้เห็นถึงว่าเพลงลูกกรุงมีคุณค่ามาก ในทางกลับกัน เพลงรุ่นใหม่ๆ อัดโฆษณาอยู่ตลอดเวลา อายุเพลงอยู่ได้ปีเดียวก็หายไปแล้ว "ที่เป็นอย่างนี้ ผมอยากจะยกคำกลอนของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ท่านนำมาจากเพลงฝรั่ง...ลูกปั้นที่ขาดแสง ภาพวาดที่ขาดสี บทกวีที่ไร้ตัวอักษร...เพลงคือกวีทางเสียง ดนตรีคือกวีทางเสียง แสงท่อลม เสียงประสานของความเงียบงันคือ กวีอักษร เมื่อกวีทางอักษรมาผสมกับเสียง มันจะเป็นบทเพลงที่สุดยอด ได้ยินทางหู เห็นทางตา”

o ชาลี อินทรวิจิตร
เพลงของครูชาลี อินทรวิจิตรมีเยื่อใยของศิลปะ และเป็นเพลงที่นักฟังเพลงหลายหลากรุ่นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพลงคุ้นหูและคนไทยทุกคนรู้จักกันดีคือ 'สดุดีมหาราชา' ซึ่งครูใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง เพลงนี้ก็สมบูรณ์และงดงามอย่างไม่มีที่ติ “ผมสามารถแต่งเพลงได้ทุกเวลาและทุกสถานที่” นี่คือคำยืนยันจากปากของครูชาลี ณ วันนี้ครูชาลี อินทรวิจิตร ยังแต่งเพลงอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ไม่ได้มากเท่ากับสมัยก่อนเท่านั้นเอง และหากค่ายใดที่จะนำเพลงของครูชาลีไปขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงอนุรักษ์หรือเชิงใดก็แล้วแต่ ครูจะถามว่า...นักร้องเป็นใคร? และเหตุที่ต้องถามเช่นนั้นก็เพราะว่า? "นักร้องรุ่นใหม่ที่ร้องเพลงในแนวนิยม ผมไม่เชื่อว่าเขาจะเอาเพลงของผมไปร้องได้ดี จึงต้องคุยและพิจารณาในเรื่องนักร้องก่อน แต่สมัยก่อนมันไม่มีปัญหา เพราะนักร้องเข้าใจในตัวเพลงที่จะถ่ายทอดอยู่แล้ว เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สวลี ผกาพันธุ์ เหล่านี้เป็นต้น"

o นคร ถนอมทรัพย์
นักร้องแบ่งประเภทเพลง!! “ผมยืนยันได้ว่าเพลงลูกกรุงไม่ได้หายไปไหน ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อมันออกมาแล้ว เขาไม่ได้เรียกมันว่า ลูกกรุง เท่านั้นเอง!?” นคร ถนอมทรัพย์ ครูเพลงชื่อดังอีกท่านกล่าวกับ ASTV ผู้จัดการปริทรรศน์ ในทัศนะของนคร ถนอมทรัพย์ เห็นว่า สังคมไทยใช้ 'นักร้อง' เป็นตัวแบ่งประเภทของเพลงลูกกรุง และลูกทุ่ง ไม่ได้แบ่งโดยเนื้อหาของเพลงตามที่ควรจะเป็น และนั่นเองที่ทำให้เพลงลูกกรุงดูจะไม่มีกระแสเปรี้ยงปร้างเหมือนกับเพลงลูกทุ่ง “ต้องดูที่สำนวน ฟังที่สำเนียง ดูโครงสร้างของเพลง เสียงและสไตล์การร้อง ถึงพิจารณาว่าเพลงนั้นอยู่ในบรรยากาศใด กรุงเทพฯ หรือชนบท ถึงจะบอกได้ว่าเพลงนั้นคือเพลงลูกทุ่งหรือลูกกรุง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย เพลง 'ขวัญใจเจ้าทุย' (คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์/ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)
o
“เพลงนี้คือเพลงลูกทุ่งที่วงสุนทราภรณ์แต่งขึ้นมาเพื่อประกอบละครเพลงสมัยช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อปี 2501 เนื้อเพลงเป็นเรื่องชนบทล้วนๆ แต่บังเอิญรวงทอง ทองลั่นธมร้องคนแรก จึงไม่ใช่เพลงลูกทุ่งในทัศนะของผู้ฟัง หรืออย่างเพลงแสนแสบ, ท่าฉลอม (คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ; ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน) นี่คือเพลงลูกทุ่งตามโครงสร้างของเพลง
o
"แต่เนื่องจากเพลงนี้ชรินทร์ นันทนาครร้องเป็นคนแรก จึงไม่มีใครพูดว่านี่คือเพลงลูกทุ่ง ซึ่งตามโครงสร้างของเพลงประเภทนี้ อย่างเพลงแสนแสบ ไพรวัลย์ ลูกเพชรมาร้องประกอบหนังเรื่องแผลเก่า ฟังแล้วได้บรรยากาศกว่าชรินทร์ เพราะบรรยากาศเพลงเป็นลูกทุ่ง คนไทยใช้นักร้องเป็นตัวกำหนดประเภทของเพลง “สุนารี ราชสีมา นักร้องในสายลูกทุ่ง ทั้งๆ ที่เธอร้องเพลงลูกกรุงไพเราะมาก สมบูรณ์แบบ ฝน ธนสุนทร เคยร้องเพลงลูกกรุงมาแล้ว แต่ขายไม่ได้ ค่ายเพลงจึงต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ให้ฝนมาร้องเพลงลูกทุ่ง ทั้งๆ ที่สำเนียงของฝนจะไม่ใช่ลูกทุ่งจ๋า "หรืออย่างเพลงที่อาร์เอสฯ แต่งให้หญิง ฐิติกานต์ร้อง นั่นคือเพลงไทยสากลที่เรียกกันว่า เพลงลูกกรุง แต่เขาไม่ยอมรับคำนี้ ทั้งๆ ที่ชนิดของเพลงคือ ลูกกรุงในอดีต แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า ลูกทุ่งไฮเทค ยังไงก็ขอหิ้วคำว่า ลูกทุ่ง เอาไว้หน่อย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น”
o
“เพลงเก่าที่นำมาขับร้องใหม่คือ การอนุรักษ์ แต่เพลงไทยสากลใหม่ๆเ กิดขึ้นตลอดเวลา แต่คนรุ่นใหม่ร้องและถูกกำหนดจากค่ายเพลงให้เป็นเพลงลูกทุ่ง เพื่อเหตุผลทางการตลาด ที่จริงถ้าฟังกันจริงๆ จังๆ จะรู้ว่า ตัวเพลงและสำเนียงการร้องมันไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง ขณะเดียวกันครูเพลงเก่าก็ยังประพันธ์เพลงอยู่บ้าง แต่นักร้องในแนวลูกกรุงรุ่นใหม่ มันมีแต่ลูกทุ่ง” ............
o
เพลงใหม่มี แต่น้อย(มาก) อย่างไรก็ตาม แม้จะน้อยมากในเรื่องของงานเพลงใหม่ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีบทเพลงลูกกรุงออกมาเสียเลยโดย หนึ่งในนั้นก็คือผลงานอัลบั้มชุด 'ทะเลจันทร์' ของทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ที่มีเพลงใหม่ทั้งหมด 3 เพลง ปุ้ม พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แต่งให้ 2 เพลง คือ เสียงเพลงสายลม และอัสดง อีกเพลงหนึ่งคือ ทะเลจันทร์ (คำร้อง นิมิต พิพิธกุล / ทำนอง ชัยภัค ภัครจินดา) ส่วนเพลงอื่นๆ เป็นเพลงไทยสากลอมตะ ชุดนี้ทำดนตรีในแนวอะคูสติก เหมือนดนตรีบำบัดกลายๆ อาทิ หวัง (คำร้อง – ทำนอง สง่า อารัมภีร), ความรัก (คำร้อง – ทำนอง จิรพรรณ อังศวานนท์), คะนึง (พลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันท์), พรานเบ็ด (คำร้อง – ทำนอง ล้วน ควันธรรม), สุดเหงา (คำร้อง – ทำนอง วราห์ วรเวช), ทานตะวัน (คำร้อง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ทำนอง ธนิต ศรีกลิ่นดี), ไฟ (คำร้อง – ทำนอง ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร), น้ำเซาะทราย (คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร / ทำนอง จำรัส เศวตาภรณ์), จงรัก (คำร้อง – ทำนอง จงรัก จันทร์คณา) เป็นต้น
o
เพลงชุดนี้ทิพย์วัลย์ “ทำเอง – ขายเอง” ด้วยเหตุผลที่เธอบอกว่า...“อยู่กับค่ายเพลง เขาก็ทำตามใจเขา ไม่ได้ตามใจเรา เมื่อพี่มาทำขายแบบนี้ ได้ทุกอย่างอย่างที่ใจเราต้องการ ดนตรีงดงามและมีชีวิตมาก เพลงพวกนี้อาจจะมีการโปรโมตในระยะแรก ช่วงสั้นๆ อาศัยฝากเพื่อนฝูงในวงการ แล้วคนก็จะเริ่มถามหากันเอง”

o ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล
จัดเป็นนักร้องในช่วงรอยต่อที่เพลงในแนวสตริงคอมโบเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการเพลงบ้านเรา หลังจากที่เธอได้ตำแหน่ง รองชนะเลิศการประกวดนักร้องสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งช่อง 3 จัดขึ้น (ปีนั้น เกวลิน บุญศิริธรรม ครองตำแหน่งชนะเลิศ เวทีเดียวกันนี้ นันทิดา แก้วบัวสาย, มณีนุช เสมรสุต คือนักร้องประกวดในรุ่นถัดไป) เพลงใหม่ๆ ของทิพย์วัลย์สมัยนั้น แต่งโดย นรินทร์ อินทรวัตร ครูเพลงท่านนี้คือ พ่อของต้อล AF (วันธงชัย อินทรวัตร) ครูนรินทร์สร้างเพลง สุดเหงา และอยู่คนเดียวทุกที จนทิพย์วัลย์โด่งดังเป็นพลุแตก
o
ส่วนครูเพลงอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนประพันธ์เพลงให้กับเธอคือ พรพจน์ อันทนัย (ผู้แต่งเพลง กุหลาบแดง – 9,999 ดอก) กลุ่มเพลงใหม่ของนักแต่งเพลงท่านอื่นในยุคนั้น เช่น ฉันรู้แต่ฉันรัก, เขียนโลกด้วยดินสอ, ริมฝั่งยม, รักไม่กลัว, ดับไฟนอน, อย่าเลือดเย็น, กระซิบรัก, เจ้าพระยา ฯลฯ เป็นต้น ถัดจากนั้นวงการเพลงเข้าสู่ยุคสตริง และเพลงในกระแสแนวนิยมตามลำดับ เพลงลูกกรุงใหม่ๆ แทบจะหมดบทบาทในวงการเพลงไทยสากล ความโดดเด่นของทิพย์วัลย์อีกอย่างหนึ่งคือ เธอเป็นนักร้องคนแรกที่นำเอาเพลงของ 'นักร้องชาย' หรือเพลงที่ไม่ชัดเจนว่า 'ชาย – หญิง' มาร้องจนได้รับความนิยม เช่น รักคุณเข้าแล้ว (คำร้อง - สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ / ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน), คนเดียวในดวงใจ (คำร้อง - ทิพย์ประภา ทำนอง - ประสิทธิ์ พยอมยงค์), จงรัก (คำร้อง/ทำนอง จงรัก จันทร์คณา) ฯลฯ ทุกวันนี้
o
นอกจากจะเป็นครูสอนร้องเพลงแล้ว ยังจัดรายการทางสถานีวิทยุ ทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 – 18.00 น. ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ FM 92.5 MHz และเวลา 23.00 – 24.00 น. ที่สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ 98 MHz “ลูกกรุงของพี่จะไม่ใช่ลูกกรุงในรุ่นนั้นๆ เนื้อหาของดนตรีจะถูกปรับให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น อาจจะเป็นดนตรีในแนวร่วมสมัยขึ้นมานิดหนึ่ง หรืออย่างเดี๋ยวนี้เขาก็เอาดนตรีคลาสสิกประเภทเครื่องสายเข้ามา
o
งานของพี่ชุดหนึ่งก็ทำกับบางกอกซิมโฟนี ดนตรีไพเราะมากเลย แล้วเวลาที่เราไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตไหน เราก็เอาเพลงพวกนี้ไปขายด้วย มีคนมาถามหาซื้ออยู่เรื่อยๆ อย่างทะเลจันทร์ เราทำแค่ 15,000 แผ่นเท่านั้น เอาไว้ขายให้แก่คนคอเดียวกัน” ทิพย์วัลย์บอก พร้อมแสดงความมั่นใจว่า เพลงลูกกรุงจะไม่มีวันตาย!
o
“คนอายุ 40 – 50 อัป รักเพลงลูกกรุงทุกคน เพลงลูกกรุงไม่ตายหรอกค่ะ เวทีประกวด เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเด็ก หรือรุ่นผู้ใหญ่ก็พยายามที่จะเอาเพลงลูกกรุงเข้ามาประกวด เพราะเพลงพวกนี้ฟังง่าย จำง่าย มันมีคำที่สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร สัมผัสสระ ลูกเล่นตรงนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ของเพลงลูกกรุง ซึ่งเพลงรุ่นใหม่ไม่มี เนื่องจาก ณ ปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาน้อยลง ไม่เหมือนครูเพลงรุ่นเก่า” ............
o
ค่ายเพลงต้องเลิกครอบงำสื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง เห็นว่าค่ายเพลงควรให้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ , ทีวี, หนังสือพิมพ์ ทำงานอย่างเป็นอิสระ “บริษัททำซีดีที่มีเงินมากจะซื้อสื่อไว้ในมือ แล้วส่งคนไปทำรายการ และเอาเพลงที่ตัวเองผลิตไปเปิดในรายการ สื่อวิทยุซึ่งบางสถานีเป็นกระบอกเสียงของรัฐก็มิได้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน กลับไปรับใช้บริษัทเหล่านี้ด้วยเห็นแก่อามิสสินจ้าง ยัดเยียดเพลงให้แก่เด็กรุ่นใหม่ทุกวัน”
o
o หนทางในการเยียวยาเพลงลูกกรุง ในทัศนะของสุเทพ วงศ์กำแหง เห็นว่า...
“หนึ่ง รัฐบาลต้องหันมาดูแลในเรื่องการเรียน การสอน การใช้ภาษาไทยของนักเรียน ตั้งแต่รุ่นเด็กเล็กไปจนถึงรุ่นอุดมศึกษา ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ศึกษาภาษาไทยให้ดี รู้จักศัพท์ในหลายระดับ ตั้งแต่ศัพท์พื้นฐาน ต่อยอดไปถึงการทำความรู้จักกับศัพท์ชั้นสูง เพื่อให้ภาษาไทยแตกฉาน"
o
"สอง หาผู้ร้องเพลงที่ใช้ถ้อยคำได้อย่างถูกต้อง มีการให้รางวัลกับการขับร้องได้ดีและถูกต้อง เพื่อให้บรรยากาศที่อึมครึมได้สว่างไสวอีกครั้ง และสามสนับสนุนให้ครูเพลงได้ประพันธ์เพลงใหม่ๆ อย่าเพิกเฉยหรือท้อแท้ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ให้ทั้ง 3 ส่วนนี้กุมมือกันฝ่าวิกฤตของเพลงลูกกรุงในวันนี้ไปให้ได้” พี่ใหญ่ของวงการกล่าวสรุป
o ด้าน ทิพย์วัลย์ มองว่า...
“ถ้าไม่มีค่ายเพลงที่พยายามยัดเยียดเพลงแนวนิยมอย่างเดียว ตลาดก็จะมีความหลากหลายที่จะเดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง โดยมีศิลปะและความสามารถเป็นตัวกำกับ เด็กสมัยนี้ร้องเพลงไทยไม่ชัดเพราะมาจากนักร้องต้นแบบ ไม่ตามกันจะไม่เดิร์น ทำทั้งๆ ที่เรารู้ว่ามันไม่ถูกต้อง...ทุกวันนี้การดีไซน์ดนตรีมันโมเดิร์นอยู่แล้ว ดังนั้นการร้องก็ควรจะชัดถ้อยชัดคำ” ลูกกรุง ณ วันนี้ เสมือนว่าถูกไล่ต้อนให้มารวมกันในห้องดนตรีสี่เหลี่ยมที่แสนจะอึมครึม และห้องนั้นถูกปิดตายไร้ทางออก ในขณะที่นอกห้องนี้มีตัวโน้ตอีกมากมายที่กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน คนลูกกรุงไม่ขออะไรมาก นอกจากพื้นที่ไม่ต้องมากที่จะได้ปลดปล่อยให้ทำงานที่ใจรักเท่านั้น
o
เก่าไป ใหม่มา...อจีรัง ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร์......แม้เพลงลูกกรุงจะไม่สามารถหลีกหนีความจริงแห่งชีวิตนี้ hauhinhub ก็ได้แต่หวังว่า เพลงลูกกรุง จะยังคงอยู่ในหัวใจพวกเราชาวไทยตลอดไป ไม่ลืมไม่เลือน ไม่เคลื่อนไม่คลาย...สวัสดี
o
ขอบคุณข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์
huahinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น