6.16.2552

| เชื่อมโยงธุรกิจ ๒๖ (Robocop หุ่นไม้ใส่ไอเดีย)








o
o
“โรโบคอป” หุ่นยนต์ไม้ ไอเดียแรง

จากความรักและผูกพันของเล่นในวัยเยาว์ โดยเฉพาะประเภทหุ่นยนต์ จุดประกายให้หนุ่มหัวใจศิลป์ อย่าง “พิษณุ ริมชลา” สร้างสรรค์ผลงาน ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด ในชื่อ “โรโบคอป” โดดเด่นด้วย รูปทรงเลียนแบบหุ่นยนต์ ลงสีสันสุดจัดจ้าน ขณะที่หน้าตาแสนยียวนไม่ซ้ำใคร ส่งให้สินค้าชิ้นดังไกลไปถึงต่างแดน

พิษณุ ริมชลา เจ้าของผลงาน วัย 26 ปี เล่าว่า สะสมของเล่นมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะประเภทหุ่นยนต์จะชอบมากเป็นพิเศษ ประกอบกับเรียนมาสายศิลปะตลอด กลายเป็นแรงบันดาลใจอยากลองนำสิ่งที่ตัวเองรักมาผสมกับวิชาที่เรียน “ตั้งแต่เด็ก ผมก็จะทำของเล่นของตัวเองอยู่แล้ว เริ่มจากงานอดิเรก พอเข้าเรียนศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่าง และต่อที่คลอง 6 (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) ก็เริ่มจะนำสิ่งที่เรียนมาใช้ผสมกับงานของเรา เช่น การวางรูปทรง ทฤษฏีการใช้สี และเพนท์ลายต่างๆ แล้วก็ทดลองทำออกมาวางขายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้กับผลงานนักศึกษา เพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเรียน”

หลังเรียนจบ แม้จะเข้าทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน พิษณุก็ยังใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน และวันหยุดสุดสัปดาห์ สร้างสรรค์ผลงานตุ๊กตาหุ่นยนต์แฮนด์เมด ตระเวนขายตามสถานที่ต่างๆ เช่น ท่าพระจันทร์ ถนนข้าวสาร สยามสแควร์ ฯลฯ ทำเช่นนี้อยู่กว่า 2 ปี จนถึงจุดที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ลุกขึ้นสร้างธุรกิจของตัวเอง เมื่อราว 3 ปีที่แล้ว

“ผมคิดว่า ถึงจุดที่อยากเลือกทางเดินให้ตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้านาย ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มีอะไรจะยืนยันว่า มันจะประสบความสำเร็จ แต่ผมก็คิดว่า ถ้าพลาด อายุเราก็ยังไม่มาก มีเวลาตั้งตัวใหม่ได้ ทำให้กล้าตัดสินใจลาออกมาทำงานตรงนี้” พิษณุใช้เงินทุนแค่หลักพันบาท ทำตุ๊กตาหุ่นยนต์แฮนด์เมดออกมาแค่ไม่กี่สิบตัว ใส่กล่องไม้ไปฝากขายที่ร้านรุ่นพี่คนหนึ่งในสวนจตุจักร

ทั้งนี้ ด้วยความโดดเด่นของชิ้นงาน ระยะเวลาแค่ไม่ถึงเดือน ลูกค้าต่างชาติได้มาพบเห็น และติดต่อสั่งออเดอร์หลักพันชิ้น ช่วยให้เป็นจุดเริ่มต้นสามารถจะยึดงานนี้เป็นอาชีพหลักมาได้ ตุ๊กตาหุ่นยนต์แฮนด์เมดภายใต้แบรนด์ “โรโบคอป” ในยุคเริ่มแรกใช้วัสดุหลากหลาย ทั้งผ้า และไหมพรม กระทั่ง ที่สุดมาลงตัวใช้ “ไม้” เป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากสามารถทำรูปทรงได้หลากหลายมากกว่า อีกทั้ง สะดวกในการลงสี และแข็งแรงทนทานสูงกว่าด้วย ทั้งนี้ ไม้ที่ใช้ คือ ไม้รัง เกรด A หาซื้อจากท่าเรือ คลองเตย ซึ่งไม้รังทุกชิ้นพิษณุจะเป็นผู้ไปคัดเลือกด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ไม้ที่มีรูปทรง และเนื้อไม้ตามที่ต้องการ โดยราคาซื้อขายไม้จะแตกต่างกันไปตามคุณภาพ และขนาด เฉลี่ยแผ่นละ 100 บาท

การออกแบบตุ๊กตาหุ่นยนต์แฮนด์เมด “โรโบคอป”เจ้าของไอเดีย ระบุว่า จะเน้นรูปทรงสี่เหลี่ยม พยายามสื่อออกมาให้คล้ายเป็นของเล่นหุ่นยนต์ในอดีต ลงสีให้สดใส จัดจ้าน ส่วนหน้าตายียวน เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ขณะที่ลวดลายต่างๆ วาดตามจินตนาการ แต่ละตัวไม่ซ้ำแบบกัน รวมแล้วมีสินค้ากว่า 10 ประเภท มากกว่าร้อยแบบ เช่น สร้อยห้อยคอ แหวน สมุดโน้ต กรอบรูป นาฬิกา โคมไฟ เป็นต้น ราคาขายเริ่มต้น 80 บาท เช่น สร้อยห้อยคอ ซึ่งเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง ส่วนราคาสูงสุด 550 บาท คือ นาฬิกา

ด้านการผลิตนั้น เป็นลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำกันเองแค่ 4-5 คน ช่วยกันหมดทั้งพ่อ แม่ พี่น้อง โดยเฉลี่ย ต่อสัปดาห์จะมียอดสั่งผลิตตามออเดอร์ประมาณ 300-400 ชิ้น ผ่านช่องทางการตลาด มีหน้าร้าน ในตลาดนัดสวนจตุจักร ที่โครงการ 23 ซอย 32/3 กับอีกสาขา ที่เซ็นทรัลแอร์พอร์ต จ. เชียงใหม่ ทั้งนี้ ด้านการตลาดกว่า 70% จะผลิตตามออเดอร์ส่งให้ลูกค้าต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นต้น ส่วนอีก30% ขายปลีกผ่านหน้าร้าน ซึ่งลูกค้าเกือบทั้งหมดจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบสินค้าแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร

สำหรับอุปสรรคธุรกิจนั้น พิษณุชี้ไปที่การลอกเลียนแบบ แม้จะจดเครื่องหมายการค้า “โรโบคอป” ไว้แล้ว ไม่ได้ช่วยให้หลีกหนีปัญหาดังกล่าวไปได้ “ผมเคยนำปัญหานี้ไปปรึกษากับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เขาก็ตอบกลับว่า นี่แหละเมืองไทย ทำอะไรประสบความสำเร็จก็จะถูกก๊อปปี้ แค่พลิกแพลงเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นสินค้าใหม่แล้ว ดังนั้น ทางแก้ที่ดีที่สุด ผมก็จะพยายามรักษาคุณภาพให้ลูกค้ายอมรับต่อไป พร้อมกับออกแบบใหม่หนีคู่แข่งไปเรื่อยๆ ”



อีกปัญหาที่สร้างความหนักใจอย่างยิ่ง คือ สถานการณ์การเมือง กับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าต่างชาติไม่มั่นใจ ลดจำนวนเข้ามาเมืองไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าว อยู่นอกเหนือการควบคุม ทำได้แค่พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้ดีที่สุด และตั้งความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน สนใจติดต่อธุรกิจที่โทร.08-1791- 5561 , 08-1382- 6544
o
ขอบคุณข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์
huhinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น