6.08.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๙๖ (เยาวชน อนาคตของสังคมสร้างสรรค์)


ใครๆก็ว่าโลกสมัยนี้เปลี่ยนเร็ว (และแรงด้วย) โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป ผู้คนไม่เหมือนเดิม ทั้งเรื่องความเชื่อ ความประพฤติวิธีคิดต่างๆนานา ที่บางทีก็สุดขั้ว มั่ว และแทบจะคาดเดาไม่ได้
o
แต่เรารู้หรือไม่ว่าลึกๆแล้ว อะไรที่เป็นแรงขับให้คนยุคใหม่เป็นและทำในสิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ แท้จริงแล้วพวกเรากำลังตามหาอะไรกัน?
o
ทฤษฎีสังคมสร้างสรรค์นั้น เชื่อมั่นในพลังสมองและพลังใจของ “คน” อย่างยิ่งยยวด นักคิดเชื่อว่า ความสร้างสรรค์ของมนุษย์คือหัวใจของการพัฒนาทุกสิ่ง และเจ้า “ความสร้างสรรค์” อันนี้ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ความนับถือตนเอง”ของแต่ละปัจเจกบุคคลด้วย
o
มนุษย์เราเดินผ่านยุค information age มาแล้ว ตอนนี้กำลังเป็นไพรม์ไทม์ของ knowledge society แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็เริ่มจะเห็นแสงริบๆแห่ง “ยุคต่อไป” ที่ค่อยๆสุกสว่างขึ้นบริเวณเส้นขอบฟ้า …ทรัพยากรมนุษย์ …คนและศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ เปิดกว้าง เรียนรู้ … นี่คือตัวแสดงหน้าใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามารับบทนำบนเวทีของอนาคต
o
เยาวชน = หัวใจของสังคมสร้างสรรค์เป็นที่เชื่อแน่ว่า “เด็กและเยาวชน” จะกลายเป็น key word ที่สำคัญที่สุดในทศวรรษหน้า เป็นหนึ่งใน agenda หลักของแผนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วโลก ตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมา การประชุมและกิจกรรมของสหประชาชาติจำนวนมาก ระบุให้ความสำคัญกับเยาวชน และหลายครั้งที่เปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมแสดงบทบาทอย่างเป็นทางการ หรืออย่างในโอลิมปิกปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษก็ได้เลือกหัวข้อ “เยาวชน” เป็นหัวใจสำคัญของงานที่ต้องการสื่อสารกับเวทีโลก
o
แต่เพราะอะไรแนวคิดการพัฒนา “สังคมสร้างสรรค์” จึงให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนนัก เหตุผลไม่ใช่แค่ว่า “เด็กคือตัวแทนแห่งอนาคต” เท่านั้น หากแต่ชีวิตในวัยเด็กของมนุษย์เรา คือ ช่วงเวลาที่จินตนาการและความสร้างสรรค์สามารถเติบโตงอกงามได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดด้วย ในทุกวั้นนี้ เราจะเห็นว่า วิธีคิดหรือการใช้สัญชาตญาณแบบเด็กๆ ได้รับการหยิบยกมาใช้เป็นกลไกในกระบวนการคิดค้น และแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง เหตุเพราะ “ความเป็นเด็ก”นั้นมีพลังที่สามารถช่วยให้ผูู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ให้สูงขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยผ่านจิตวิญญาณที่ยังคงความขี้เล่น ขี้สงสัย และกล้าที่จะทดลองในแบบเด็กๆนั่นเอง
o
แนวโน้มการพัฒนาทักษะกับความสร้างสรรค์ในอดีตนั้น มนุษย์เรามักอบรมเลี้ยงดูลูกหลานให้เก่งกล้าสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ จะเป็นนักปั้นหม้อ หรือเป็นพ่อค้าก็ว่ากันไป เพราะที่ผ่านมาเราเชื่อว่าความชำนาญหรือทักษะนั้น คือสิ่งที่มนุษย์ใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ แต่ในอนาคตต่อจากนี้ไป เมื่อโลกและบริบทสังคมไม่เหมือนเดิมแล้ว ส่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเด็กๆ อาจไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะหรือความชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป แต่ละสังคมจะต้องหล่อเลี้ยง ประคับประคอง และเสริมสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่รู้จัก รัก และกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วย เพราะนี่คือ เส้นทางที่นักคิดเชื่อว่า จะนำไปสู่สังคมสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพในอนาคต ที่ประชากรมีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงประสบการณ์ ความสุข ความอยู่ดีกินดี และท้ายที่สุด …ความนับถือในตนเอง
o
จากการสังเกตโดยรวมพบว่ าแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐานหลายๆ ด้านของโลกทุกวันนี้ ไม่ว่าจะในเชิงสังคมเทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ (อาทิ โครงสร้างครอบครัว ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา ฯลฯ) ต่างมีประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชน เรื่องโอกาสทางการเรียนรู้ เเรื่องศักยภาพในการจินตนาการของมนุษย์ ฯลฯ เข้ามาเป็นปัจจัยให้ได้ยินกันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นกระแสซึ่งส่งผลต่อความเป็นไปหลายๆ อย่างในทุกมุมโลก ซึ่งในไม่ช้าไม่นานพวกเราทุกคนคงต้องปรับตัวเข้ากับกระแสใหม่เหล่านี้ให้ได้
o
- วัฒนธรรมใหม่ เชื่อในพลังของมนุษย์เป็นกลุ่มแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อในคุณค่าและอำนาจของมนุษย์ ปักหมุดให้การเรียนรู้และจินตนาการของเด็กเป็นประเด็นหลักของการพัฒนาในทุกสังคม โดยกล่าวว่า ศักยภาพของเด็กและเยาวชนนั้นส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของมนุษย์ชาติโดยรวม แนวคิดนี้มองว่า “เด็ก = ทรัพยากร” ที่จะผลักดันการเติบโตและการพัฒนาทั้งหมดทั้งปวงในอนาคตไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือความยั่งยืนทางวัฒนธรรมด้วย
o
- โฉมหน้าใหม่ของมดงานโครงสร้างของวัฒนธรรมการทำงาน และตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอนาคต โดยตลาดแรงงานนั้นจะเริ่มมีความเป็นเอกเทศ เป็นส่วนตัว และมีความยืดหยุ่นสูงมากขึ้น ภาพลักษณ์เดิมๆ ของชีวิตการทำงาน อาทิ งานแบบเข้าเก้าโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็น, ชีวิตการเดินทางไปออฟฟิศ, วันพักร้อน ฯลฯ จะค่อยๆจางหายไป ในอนาคตข้างหน้ากลยุทธ์ด้าน Human Resource จะทวีความสำคัญขึ้นอย่างเด่นชัด การเสาะแสวงหาและพัฒนาแรงงานชั้นดี (ที่มีหัวสร้างสรรค์และเรียนรู้เร็ว) จะกลายเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจแทบทุกประเภท
o
- ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานองค์ความรู้นักเศรษฐศาสตร์ต่างระบุว่า ธุรกิจที่เติบโตเร็วนั้น คือ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านทรัพยากรบุคคล และทรัพย์สินประเภทที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ข้อมูลความรู้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆนั้นจะมีมูลค่าขึ้นมาอย่างมหาศาล ก็ต่อเมื่อมันถูกนำมาพลิกแพลงใช้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพนั่นเอง ฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จในอนาคตจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ใครมีข้อมูลหรือองค์ความรู้ในมือมากกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มันได้อย่างฉลาดและสร้างสรรค์กว่ากันต่างหาก
o
- อำนาจของผู้บริโภคแห่งศตวรรษที่ 21เด็กและเยาวชนได้สร้างพลังใหม่ของผู้บริโภคขึ้นมา เห็นได้ชัดว่า ทุกวันนี้ ตลาดสินค้าและบริการเด็กนั้น บูมเหลือเกินแถมเด็กสมัยนี้ยังส่งพลังแฝง ที่เข้ากำหนดหรือเบี่ยงเบนตัวเลือกการบริโภคของพ่อแม่ได้อีกด้วย ถ้ามองกันให้ไกลแล้วแบรนด์ใดที่สามารถครองใจเด็กๆในวันนี้ได้ แบรนด์นั้นก็มีสิทธิ์อยู่รอดไปจนถึงวันที่เขาโตขึ้นด้วยนั่นเอง
o
- เด็กอยู่หัวแถวเสมอในวัฏจักรดิจิตอลเด็กสมัยนี้ พัฒนาทักษะด้านไอทีไปพร้อมๆ กับกระบวนการเรียนรู้ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การแสดงความคิด หรือการพัฒนาตัวตน ฯลฯ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โลกดิจิตอล คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน แถมยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อลักษณะความสัมพันธ์และบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปในครอบครัวด้วย (ระหว่างพ่อแม่ - ลูก)
0
- เด็กจะนำมาซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารทุกวันนี้ ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนสามารถเดินออกนอกรั้วโรงเรียนได้ ส่งผลให้แนวคิดต่อระบบการศึกษาแบบ “ในโรงเรียน” นั้น สั่นคลอนขึ้นทุกวัน นักอนาคตศาสตร์จากบางสำนักอ้างว่า ในอนาคตเด็กๆ อาจกดดันให้โครงสร้างการเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดเปลี่ยนไป คือ ตัวเด็กไม่ต้องออกจากบ้านไปโรงเรียนก็ได้ เขาสามารถนั่งเรียนอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ติดต่อกับทั้งห้องเรียนทั้งห้องผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ครบครัน
o
- ชีวิตคือเส้นทางการเรียนรู้ทุกวันนี้ เราพอจะได้เห็นหายนะของมนุษย์เจนเนอเรชั่นเก่ากันไปบ้างแล้ว อาทิ การปลดแรงงานคนรุ่นเก่าที่เคยอยู่ในโรงงาน ในออฟฟิศ ในฟาร์ม ฯลฯ ออกจากระบบอุตสาหกรรม และเปิดทางให้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมคือ กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานด้วยทักษะเดียวมาทั้งชีวิต ทำอย่างอื่นไม่เป็นจำนวนมากต้องตกอยู่ในสถานภาพ “ผู้ไม่มีงาน” เป็นเวลานาน กลายเป็นภาระสังคม นำไปสู่สภาวะจิตใจที่ตกต่ำเศร้าหมองและหมดความนับถือตนเองในท้ายที่สุด ปรากฏการณ์นี้ให้นัยสำคัญว่า การทำอะไรเป็นแค่อย่างเดียว อาจไม่ช่วยให้เราอยู่รอดไปทั้งชีวิต มนุษย์จำเป็นจะต้อง “เรียนรู้” และ “พัฒนา” อย่างต่อเนื่อง ต้องคงไว้ซึ่งจิตใจที่รักการค้นหารักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณแบบเด็กๆให้อยู่กับเราไปตลอด พูดง่ายๆว่า ต้องพร้อมที่จะเรียนกันไปตลอดชีวิตนั่นแหละ
O
หาก “วิญญาณของนักสร้างสรรค์” คือสิ่งที่เราตามหาแนวโน้มความเป็นไปของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตดังที่กล่าวมาข้างต้น บ่งชัดถึงแรงขับหลายๆด้าน ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเด็กและเยาวชน เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ประชากรแห่งโลกยุคใหม่เหล่านี้นี่เอง ที่จะเข้ามากำหนดชะตากรรมของผู้ใหญ่ตาดำๆ และของสังคมคุณภาพที่เราฝันอยากจะให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต
O
ทีนี้เราลองมองภาพความจริงของสิ่งที่เป็นอยู่รอบตัวเราวันนี้ และตั้งคำถามให้ตัวเองกันสักนิดว่า เรากำลังเลี้ยงดูบ่มเพาะลูกหลานของเรามาในเส้นทางที่ถูกแล้วหรือเปล่า พวกเด็กๆ กำลังเรียนรู้อะไร การศึกษาที่เราให้เขาตอนนี้ จะสร้างเขาให้เป็น “นักทำ” หรือ “นักคิด” เป็น “ผู้ตาม” หรือ “ผู้นำ” และแม้ในเวลาที่เขาคิด “เขากำลังคิดเพื่อตัวเอง”หรือ “คิดเพื่อให้เราพอใจ”
O
ขอปิดท้ายด้วยเรื่องเล่าในห้องเรียนห้องหนึ่ง,,,
เด็กชายโอเพิ่งไปโรงเรียนเป็นวันแรก คุณครูเอเดินเข้ามาหน้าชั้นและพูดว่า “เด็กๆคะ วันนี้เราจะเรียนวาดรูปและระบายสีกัน” ”ดีจัง” โอคิดในใจ เขาชอบวาดรูปสิงโต เสือ นก วัวควาย รถไฟ เรือ ผู้ชาย ผู้หญิง ..ต้องสนุกแน่ เขาหยิบดินสอขึ้นมาและเริ่มละเลงทันที แต่วินาทีนั้นเอง คุณครูเอก็พูดกับชั้นเรียนว่า “เดี๋ยวครูจะสาธิตให้ดูนะคะว่าเราจะวาดอะไรกัน” และครูก็วาดรูปดอกไม้ขึ้นบนกระดานดำ เป็นดอกไม้สีแดง มีก้านสีเขียว “ทีนี้ถึงตาเด็กๆ ค่ะ วาดตามครู”คุณครูพูดกับชั้นเรียนอีกครั้ง เด็กชายโอมองภาพดอกไม้ของครูเอ และมองดูดอกไม้ที่เขาวาดไว้ก่อน (ซึ่งสวยกว่า)แต่ก็ไม่พูดอะไร เขาหยิบกระดาษอีกแผ่นมา และวาดรูปดอกไม้ตามที่ครูเอสาธิต …ดอกสีแดง ก้านสีเขียว
o
ในสัปดาห์ต่อมา ชั้นเรียนเดิมมีครูคนใหม่มาสอนชื่อครูบี ครูบีพูดกับนักเรียนว่า “วันนี้เราจะมาวาดรูปและระบายสีกันนะคะ” “ดีจัง” เด็กชายโอคิดในใจ และนั่งรอให้ครูสาธิตว่าเขาต้องวาดอะไรในวันนี้ แต่ครูบีไม่ทำการสาธิตใดๆ เธอเดินไปรอบๆ ห้อง พูดคุยกับเด็กทุกคน และเมื่อเดินมาถึงโต๊ะของเด็กชายโอ ครูก็ถามว่า “โอจะวาดรูปอะไรคะ” “ไม่รู้ฮะ” เขาตอบ “ผมจะวาดอะไรดีครับ” ครูบีตอบว่า “วาดอะไรก็ได้ที่เธออยากวาด” ”ถ้าครูบอก แล้วทั้งห้องวาดรูปเดียวกัน มันก็ไม่สนุกสิคะ” เด็กชายโอนั่งนิ่งอยู่นึ่งอึดใจ เขาตัดสินใจวาดดอกไม้ …ดอกสีแดง ก้านสีเขียว
O
ขอบคุณข้อมูลจากTCDC ภาพประกอบ โดย พลอย-ชวนพิศ
huahinhub Thanks

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น