6.14.2552

| สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสังคมเมือง ๑๑๑ (นักบริหารหัวใจสีเขียว)



‘นักบริหารหัวใจสีเขียว’ เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์
o
ห้อง “Art and Craft” ณ ฟันเนเรียม กลางใจเมืองสุขุมวิท 26 ของเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกวิทย์ที่ทาสีสันสดใสตกแต่งและประดับประดาไปด้วยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด อาทิ กรอบรูปที่ทำจากกระดาษลัง กระดาษใช้แล้ว และดินสอสีเหลือใช้ หรือแม้แต่แก้วน้ำพลาสติกก็นำกลับมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะตามจินตนาการของเด็กๆ ได้
o
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักรักสิ่งแวดล้อม เพราะเด็กๆ คือผ้าขาว อยากปลูกฝังอะไรต้องทำให้เด็กดู
o
เรืองวิทย์ : ผู้ก่อตั้งและบริหาร “ฟันเนเรียม” ที่คอยต้อนรับเด็กอายุแรกเกิดจนถึง 13 ปี บอกว่า ด้วยคุณพ่อลูก 2 ต้องการหากิจกรรมให้ลูกๆ ทำ ที่สำคัญกิจกรรมนั้นต้องทำในสถานที่ที่ปลอดภัย สะอาด และกิจกรรมนั้นต้องเป็นเกมที่เสริมทักษะให้กับลูก ผสมผสานกับจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม จึงคิดทำห้อง “Art and Craft” ด้วยเขาต้องการปลูกฝังให้เด็กๆ รักสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ
o
“ผมอยากหากิจกรรมที่ทุกครอบครัวทำร่วมกันได้ ซึ่งทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มีหัวใจรักงานศิลปะทุกคน เด็กทุกคนอยากวาดรูป พ่อแม่เห็นลูกทำศิลปะก็ชอบ ศิลปะช่วยจรรโลงจิตใจ สร้างจินตนาการมากมาย ศิลปะมีหลากหลายแขนง ผมจึงมานึกถึงเมื่อทุกคนอยากรณรงค์เรื่องลดภาวะโลกร้อน รีไซเคิล รียูส รีดิวซ์ ทำไมเราไม่ทำตรงนี้ ห้องนี้จึงทำรีไซเคิลอาร์ตเป็นหลัก”
o
วัสดุทุกชิ้นมีค่า : วัสดุเหลือใช้ต่างๆ ทั้งหมดที่นำมาใช้สร้างงานศิลปะ ล้วนเป็นขวดน้ำ แก้วน้ำพลาสติก ฯลฯ ด้วยนโยบายของนายใหญ่คือ ทุกอย่างห้ามทิ้ง ใครจะทิ้งอะไรต้องมาปรึกษาเรืองวิทย์ก่อน “ถ้าไปดูที่ออฟฟิศพนักงานจะเห็นกล่องต่างๆ ขยะเปียกทิ้งไป แต่ขยะแห้งต้องเก็บไว้ ส่วนที่มีขยะมากที่สุดคือห้องครัว เราจึงมีนโยบายเก็บขวดน้ำทุกขวด กระป๋องน้ำอัดลม ถาดรองไข่ กล่องป๊อปคอร์น ฝาเบียร์ ขยะทุกชิ้นล้วนมีค่า ก่อนทิ้งต้องตัดแยก ล้างให้สะอาด และนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อ”

ปลูกฝังเด็กๆ รักสิ่งแวดล้อม : เวลาที่หลายฝ่ายณรงค์ให้เด็กๆ รู้ถึงเรื่องรีไซเคิล ผู้ใหญ่จึงควรทำให้เด็กๆ เห็น และต้องทำทุกวันในชีวิตประจำวัน ดังคำขวัญที่ว่า Everyday is play day สิ่งที่เรืองวิทย์อยากเห็นในเด็กๆ ด้านการรักธรรมชาติ คือ ให้เด็กๆ รักธรรมชาติและมีวินัยมากๆ เช่น ทิ้งขยะให้เป็นที่ รักความสะอาด และคิดก่อนทิ้ง
o
“ผมอยากให้เด็กเห็นว่าเรารักษ์โลก ใช้ขยะให้เกิดประโยชน์หรือคิดก่อนทิ้งสามารถทำได้ตลอดเวลา ผมพยายามรณรงค์ให้เด็กๆ และพนักงานคิดก่อนทิ้ง ผมคิดว่าเด็กๆ เหมือนผ้าขาว อยู่ที่ว่าเราจะใส่อะไร โดยเฉพาะศิลปะถ้าเด็กๆ เห็น เด็กๆ สามารถนำไปคิดต่อได้อีกเยอะ เช่น พนักงานทำของเล่นที่ทำจากวัสดุเหลือใช้หนึ่งชิ้น และหนึ่งชิ้นอาจคิดต่อยอดไปสร้างสรรค์งานอีกหลากหลายก็ได้ เขากลับไปบ้านก็เอาวัสดุที่บ้านมาทำงานศิลปะได้ หรือทำร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้”
0
เปลี่ยนขวดเปล่าเป็นแชนเดอเลียร์ : นอกจากงานศิลปะในห้อง “Art and Craft” แล้ว กลางสนามเด็กเล่นยังมีแชนเดอเลียร์ที่ทำจากขวดน้ำเปล่า ได้รับการออกแบบทาสีและตัดเป็นรูปดอกไม้ ฝีมือการสร้างสรรค์ของพนักงานฟันเนเรียม ที่ได้รับโจทย์จากนายใหญ่ให้ผลิตของจากวัสดุเหลือใช้ ขวดน้ำเปล่าจำนวน 1,500 ขวด จึงเปลี่ยนจากขวดน้ำไร้ค่ามาเป็นแชนเดอเลียร์ติดประดับกลางฟันเนเรียม เป็นที่ดึงดูดแก่ทุกสายตา นอกจากนี้ ยังมีกรอบรูปฝีมือเด็กๆ กล่องทีวีนำมาตัดทำเป็นกรอบรูป ประดับด้วยไม้ไอศกรีมและกระดุมหลากสี และดินสอสีแท่งสั้นกลายมาเป็นกรอบรูปน่ารักๆ เป็นความภาคภูมิใจของเด็กๆ วางประดับตกแต่งอยู่ในห้องศิลปะนี้ด้วย
o
สุดท้ายนี้ สิ่งที่เรืองวิทย์เป็นกังวลเกี่ยวกับธรรมชาติก็ คือ อากาศที่แปรปรวน ฤดูหนาวสั้น ฤดูฝนมาก่อนกำหนด ส่วนน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ เป็นสิ่งที่นักบริหารหัวใจสีเขียวไม่กังวลเท่าไหร่ เพราะเมืองไทยมีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ดูอย่างเนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลก็ยังอยู่ได้มานานหลายสิบปี
o
“สิ่งที่ผมเป็นกังวลคือการเพาะปลูก ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกร ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ถ้าดินฟ้าอากาศแปรปรวน คงกระทบกับรายได้ของเขา เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเกษตรกรจะผลิตผลผลิตไม่ได้ตามฤดูกาล”
o
ขอบคุณข้อมูลจาก โพสท์ทูเดย์ :เรื่อง : วราภรณ์ ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช
huahinhub Thanks
o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น